ผลงานของ อ.ประดิษฐ์

ผลงานสำคัญที่ผ่านมาของอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร
   

คุณูปการของครูประดิษฐ์ต่อการพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยา

คุณูปการของครูประดิษฐ์ต่อการพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยา

938  Views  

การพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยาเป็นเรื่องสำคัญในระดับชาติและมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก เนื่องจากยาเป็นปัจจัยสำคัญในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขของประเทศ ในอดีต ประเทศไทยต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศอย่างมาก เนื่องจากการผลิตในประเทศเพิ่งเริ่มต้นขึ้นและยังมีกำลังการผลิตที่น้อย 

ผลการวิจัยเรื่อง “เภสัชอุตสาหกรรมในประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งครูประดิษฐ์เป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้รับทุนจาก UNAPDI (United Nation Asian and Pacific Development Institute) พบว่า ลักษณะและปริมาณการบริโภคยาของคนไทยไม่สอดคล้องกับความต้องการด้านยาที่แท้จริง คือ มีการบริโภคยาบางประเภทเกินจำเป็น ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ยาบางประเภทมีการบริโภคที่ไม่เพียงพอกับความจำเป็นในการรักษา 

 

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะแรกของประเทศ ก็ไม่ได้วางนโยบายแห่งชาติด้านยาไว้ ทำให้ปราศจากกลไกของรัฐในการควบคุมการจัดหาและการกระจายยาให้เหมาะสม การทำงานของภาครัฐทางด้านสาธารณสุขไม่มีนโยบายระดับสูงมาเป็นกรอบ จึงทำให้การปฏิบัติในแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกันและเกิดความไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การจัดซื้อยาในราคาที่สูง การจัดซื้อยาที่มีชื่อสามัญทางยาเหมือนกันแต่มีหลายชื่อการค้า ครูประดิษฐ์เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการริเริ่มเพื่อแก้ปัญหาในระบบยา ครูร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมการวางแผนพัฒนาการสาธารณสุขในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 พ.ศ 2525-2529 ซึ่งผลักดันให้มีการประกาศนโยบายแห่งชาติด้านยาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2524 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาระบบยาของประเทศ โดยนโยบายแห่งชาติทางด้านยาในยุคนั้นมีจุดหมายเพื่อ

            1. จัดให้มียาที่ปลอดภัย มีคุณภาพดีในราคาพอสมควร กระจายออกไปอย่างทั่วถึงแม้ในชนบทที่ห่างไกล โดยเฉพาะยาที่จำเป็นต้องใช้ในกิจการสาธารณสุขมูลฐาน ในกรณีนี้รวมถึงการปรับปรุงวิธีการทางด้านการจัดหาและกระจายยา ตลอดจนสนับสนุนการผลิตยาภายในประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

            2. พยายามลดจำนวนยาที่ต้องสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์เนื่องจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมโดยกำหนดการใช้ยาของสถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ ให้เป็นไปตามรายการซึ่งปรากฏในหนังสือสูตรตำรับยาแห่งชาติและบัญชียาที่จำเป็น ตลอดจนจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับยา และการใช้ยาสำหรับการบำบัดรักษาโรคไปยังบรรดาแพทย์และผู้ประกอบโรคศิลป์ที่เกี่ยวข้อง

            3. จัดให้มีการควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย และสรรพคุณของยา โดยการขยายข่ายงานทางด้านการตรวจวิเคราะห์ยารวมทั้งการสร้างข่ายงานของด้านการตรวจวิเคราะห์ชีววัตถุ และเภสัชภัณฑ์สร้างภูมิคุ้มกัน ตลอดจนการพัฒนาหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านมาตรฐานของยา การตรวจวิเคราะห์และการจัดทำสารมาตรฐานอ้างอิงด้วย

            4. จัดให้มีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตยาที่มีอยู่ภายในประเทศ ตลอดจนดำเนินการศึกษาและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในปริมาณมาก โดยใช้ทรัพยากรภายในประเทศที่มีอยู่ดังกล่าวเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองได้

            5. ดำเนินการค้นคว้าอย่างจริงจังในอันที่จะให้ทราบถึงศักยภาพทางด้านการบำบัดรักษาโรคของยาแผนโบราณ เพื่อการนำไปใช้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะสำหรับโครงการสาธารณสุขมูลฐาน

 

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 พ.ศ 2525-2529

 

ครูประดิษฐ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายแห่งชาติด้านยามาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งต่อมา คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งครูให้เป็นกรรมการแห่งชาติด้านยาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2526

 

ครูประดิษฐ์ หุตางกูร ในคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา

 

บทบาทของครูประดิษฐ์ที่เด่นชัดในการพัฒนาระบบยาของประเทศที่ยังดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้คือ การจัดทำบัญชียาจำเป็นแห่งชาติ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของบัญชียาหลักแห่งชาติที่ได้รับการพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ โดยบัญชียาหลักแห่งชาติฉบับแรกได้ถูกพัฒนาขึ้นและเริ่มนำมาใช้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2524 และมีฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2525 หลังจากนั้น ครูประดิษฐ์ยังได้เข้าร่วมปรับปรุงบัญชียาหลักในฐานะสมาชิกของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งนี้การจัดทำบัญชียาหลักนั้นยึดหลักการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศควบคู่กับหลักการขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้ “ยาหลัก” ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ หมายถึง ยาที่มีความสำคัญ เป็นยาพื้นฐานที่ขาดเสียมิได้และมีความจำเป็นต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ยังประโยชน์ให้มีแบบแผนการใช้ยาที่สมเหตุผล และทำให้สามารถลดความฟุ่มเฟือยจากการใช้ยาลงได้

 

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2525

 

ส่วนในมิติของการใช้ยา ครูประดิษฐ์ได้เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมอันตรายในการใช้ยาซึ่งตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2526 ครูประดิษฐ์ยังมีบทบาทสำคัญในอีกหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย อาทิเช่น โครงการพัฒนาการผลิตยา โครงการพัฒนาระบบการจัดหาและการกระจายยา และโครงการพัฒนาวิจัยสมุนไพรไทย เป็นต้น ซึ่งในขณะนั้นมี ศาสตราจารย์ นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว และ ศาสตราจารย์พิเศษ มารุต บุนนาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

ศาสตราจารย์ นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2523, พ.ศ. 2524 – 2526)

 

ศาสตราจารย์พิเศษ มารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (30 เมษายน พ.ศ. 2526 – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529)

 

จะเห็นว่าครูประดิษฐ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมกำหนดนโยบายของชาติทางด้านยามาตั้งแต่แรกและตลอดมา ท่านอุทิศตนทำงานอย่างจริงจังแม้ว่าระยะหลังที่เกษียณอายุราชการและเริ่มมีอาการป่วยจากโรคหัวใจ และในที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ณ ห้องประชุมชั้น 3 กระทรวงสาธารณสุข (วังเทวะเวสม์เป็นที่ตั้งของกระทรวงฯ ในยุคนั้น) ครูประดิษฐ์ เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันในระหว่างการประชุมดังกล่าวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา กล่าวได้ว่าครูได้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับนโยบายแห่งชาติด้านยาจวบจนวาระสุดท้าย ซึ่งถือได้ว่า การจากไปของครูประดิษฐ์เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการสาธารณสุขของประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ครูได้เริ่มต้นขึ้นไว้ในวันนั้น ได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับประเทศไทย จนระบบยาของประเทศไทยสามารถมีวิวัฒนาการและพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันคณาจารย์ในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและศิษย์เก่าจำนวนมากในระบบสาธารณสุขได้ช่วยกันทำงานสานต่อปณิธานของครูที่ต้องการเห็นประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ จนระบบยาและระบบสาธารณสุขของไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาอารยประเทศอย่างกว้างขวาง

 

วังเทวะเวสม์ที่ตั้งของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี พ.ศ. 2493 - 2530

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา