Knowledge Article


โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 3) โรคฉี่หนู


ภญ รศ. ม.ล. สุมาลย์ สาระยา
ภาควิชาจุลชีววิทยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
25,524 View,
Since 2011-11-16
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2a6xdnrb
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
โรคฉี่หนู  [โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis ), Weil ' s disease ]  จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่นำโดยสัตว์ ( zoonosis) มักจะระบาดหน้าฝนและช่วงที่มีน้ำท่วมขัง โดยจะพบเชื้อโรคในปัสสาวะของหนู สุนัข แมว สัตว์เลี้ยงในบ้าน แต่พบมากในหนูซึ่งสามารถแพร่เชื้อออกมาได้โดยที่ตัวมันไม่เป็นโรค

เชื้อก่อโรค
สาเหตุของโรคคือแบคทีเรียชื่อ Leptospira interrogans    มี 16 serogroup เชื้อที่เป็นสาเหตุในกรุงเทพ คือ bataviae และ javanica ส่วนในภูมิภาคคือ akiyami และ icterohemorrhagia เป็นแบคทีเรียรูปเกลียวสว่าน (spirochete) มีขนาดเล็กมากเคลื่อนที่โดยการหมุนอย่างรวดเร็ว เชื้อนี้อยู่ตามดิน โคลน แหล่งน้ำ น้ำตก แม่น้ำลำคลองได้นานเป็นเดือนหลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อ เคยมีรายงานว่าอยู่ได้นาน 6 เดือนในที่น้ำท่วมขังโดยมีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสม เช่น มีความชื้น แสงส่องไม่ถึง  มักจะพบการระบาดของแบคทีเรียนี้ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว มีน้ำหลาก

การติดต่อ
เชื้อ L. interrogans   มีสัตว์หลายชนิดเป็นรังโรค (reservoir) เช่น หนู หมู วัว ควาย สุนัข แมว เป็นต้น เชื้อจะถูกขับออกมากับปัสสาวะสัตว์ แล้วปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น บริเวณน้ำท่วมหรือแหล่งน้ำขัง โรคนี้มีอุบัติการสูงในผู้ที่สัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน ๆ เช่น ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร คนจับปลา ผู้ลุยน้ำท่วม เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายคนโดยการไชเข้าทางผิวหนังที่มีรอยถลอกและรอยขีดข่วน เยื่อเมือก หรือไชผ่านผิวหนังที่เปียกชุ่มจนยุ่ยจากการแช่น้ำนานๆ   โรคฉี่หนูติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ติดต่อ โดยการสัมผัสกับปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ โดยเชื้อจะไชผ่านเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา และปากจากการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ  การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะ หรือ ของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป

อาการ
ระยะฟักตัวประมาณ 2 - 20 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันขึ้นกับชนิดและปริมาณของเชื้อ อาการเฉพาะที่พบบ่อยได้แก่ ไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะมากโดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าหรือหลังเบ้าตา ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง มักปวดที่น่องและโคนขา เยื่อบุตาบวมแดงภายใน 3 วันที่เริ่มมีอาการ  อาการอื่นๆที่อาจพบได้ ได้แก่ เจ็บคอ ไอ เจ็บหน้าอก ผื่น สับสน ไอเป็นเลือด  ต่อมน้ำเหลืองโต คอแดง กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ตับม้ามโต อาจพบอาการดีซ่านได้    อาจมีไข้ติดต่อกันหลายวัน สลับกับระยะไข้ลด ในรายที่มีอาการรุนแรงเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีซ่าน มีเลือดออกตามอวัยวะภายในและตา เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับและไตวาย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้  อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดบวม หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้ออักเสบ สมองและไขสันหลังอักเสบ กล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

การควบคุมป้องกัน
การป้องกันทำโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เช่น สวมถุงมือ สวมรองเท้าบูทขณะทำงานสัมผัสดินและน้ำ หากจำเป็นต้องลุยน้ำที่ท่วมขัง ต้องรีบล้างมือ เท้าและร่างกายส่วนที่สัมผัสกับน้ำที่สกปรกด้วยสบู่และน้ำสะอาดจากนั้นเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้ง   ระวังอย่าให้ผิวหนังที่เป็นแผลหรือรอยถลอกโดนน้ำ  กำจัดหนูซึ่งเป็นสัตว์สำคัญในการนำโรค ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์กับประชาชน ปัจจุบันไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน เพราะแบคทีเรียนี้มีสายพันธ์หลากหลายมาก ทำให้ยากในการพัฒนาวัคซีนให้จำเพาะกับโรคได้

การรักษา
โรคฉี่หนู สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และควรจะได้รับยาภายใน 4-7 วันหลังเกิดอาการของโรค ยาที่ใช้ได้ผลในโรคนี้คือ doxycycline 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง หรือ amoxicillin 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง  เป็นเวลา 7 วัน

เอกสารอ้างอิง
1. วิชัย โชควิวัฒน์ คู่มือวิชาการโรคเลปโตสไปโรซิส 2542 กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพ
2. Faine S. Leptospirosis. Chapter 42, 849-869. in Collier L, Balows A and Sussman M (ed.) Topley and Wilson's Microbiology and Microbial Infections, 9th ed vol. 3. Bacterial Infections, Hauster WJ and Sussman M (ed), 1998. Arnold, London, UK.
3. Levelt PN. Leptospirosis . Clin Microbiol Review , 2001;14:296 - 326


Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.