Knowledge Article


โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 2) น้ำกัดเท้าและข้อควรปฏิบัติ


รองศาสตราจารย์แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล          
21,754 View,
Since 2011-11-14
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/ya72ztp5
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
น้ำกัดเท้า เป็นโรค/อาการที่พบมากหลังเกิดน้ำท่วม และเกิดได้กับบุคคลที่ในชีวิตประจำวันต้องสัมผัส แช่น้ำ ลุยน้ำ เป็นระยะเวลานาน ที่ทำให้ ผิวชั้นนอกจะนุ่มขึ้น นานเข้า อาจเปื่อย มีแผล เมื่อน้ำท่วม ต้องลุยน้ำสกปรก เป็นเหตุให้เชื้อหลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย รา ไวรัส และปรสิตบางชนิดเข้าโจมตีผิวหนังตื้นๆได้ ในกรณีที่มีแผลเปิดหรือแผลลึก อาจเกิดการอักเสบรุนแรง นอกจากเชื้อที่มากับน้ำแล้ว อาจได้จากการสัมผัสใช้สิ่งของร่วมกัน หนึ่งในเชื้อที่เข้าไปรุกรานเท้าตามสถานการณ์ข้างต้นนั้น มีเชื้อราชนิดเส้นใยร่วมด้วย คือราที่ทำให้เกิดกลาก

ที่จริงแล้ว กลากที่เท้าเป็นโรคของเมืองร้อน ที่พบมากกว่าเมืองหนาว เพราะโรคนี้จะชอบความร้อนชื้น ยิ่งชื้น ยิ่งอบ ก็ยิ่งชอบ ดังนั้น ชาวเมืองร้อนที่ต้องใส่เครื่องแบบ เช่น รองเท้าหุ้มส้น หุ้มข้อ รองเท้าบูทพร้อมถุงเท้า เช่น ผู้อยู่ในเครื่องแบบ และผู้ต้องใช้เครื่องแต่งกายลักษณะดังกล่าว ซึ่งรวมถึงชุดกีฬาด้วย จึงเข้าข่ายประเภทเป็นกลากที่เท้าได้ง่ายกว่าผู้ที่ใส่รองเท้าที่โปร่งกว่า เช่น รองเท้าสาน รองเท้าแตะ กลากที่เท้าจึงมักพบในผู้ใหญ่ และพบมากเพศชายโดยเฉพาะผู้ที่มีเหงื่อมากทำให้อับชื้น มากกว่าเพศหญิง ส่วนสัตว์ต่างๆที่ต้องแช่น้ำ หรือตกอยู่ในสภาวะน้ำท่วมที่คล้ายคลึงกับคน สามารถเป็นโรคหรือติดโรคจากรากลุ่มนี้ได้เช่นกัน

เชื้อต้นเหตุ เป็นเชื้อราที่มีลักษณะเป็นเส้นใย สร้างสปอร์และโครงสร้างต่างๆหลายแบบ จัดอยู่ในกลุ่ม dermatophytes มี 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ Trichophyton, Epidermophyton และ Microsporum เนื่องจากเป็นเชื้อที่ชอบเคราติน (keratin) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ที่ผิวหนัง ผม ขน และเล็บ ดังนั้น โรคพี่โรคน้องของน้ำกัดเท้า จึงได้แก่ กลากที่ศีรษะ เส้นผม ที่ผิวหนังทั่วร่างกาย ที่มือ และเล็บ เป็นต้น ที่น่าจะทนทานต่อการเป็นโรค แต่เมื่อลุยน้ำแช่น้ำ ต้องเปียกชื้นอยู่เป็นประจำ หรือมีความอบชื้นอย่างข้างต้น ผิวที่ดูหนา เช่น พื้นฝ่าเท้า จะอ่อนนุ่มขึ้นจากการแช่น้ำ รวมถึง ง่ามนิ้วเท้า ผิวหนังหน้าเท้า เช่นนี้ ทำให้เชื้อรุกรานเข้าสู่ผิวหนังชั้นตื้นๆได้ง่าย เชื้อนี้ไม่รุกรานเข้าสู่ผิวหนังชั้นลึกกว่า เนื่องจากในเลือด/เนื้อเยื่อของเรา มีสารบางชนิดที่ต้านราพวกนี้ได้



ที่โรคนี้มากับน้ำท่วม เพราะผู้ตกอยู่ในเหตุการณ์ และผู้ที่ต่อสู้กับน้ำท่วม –ดูบ้านเราตอนนี้ก็ได้ มักจะหนีไม่พ้นบุคคลในเครื่องแบบ จึงเข้าทางของราพวกนี้ได้ ที่เมื่อเกิดอาการขึ้นมา จากตุ่มหรือผื่นเล็กๆ และคัน ก็มีการเกา ลุกลามขยายออก การดูแลรักษาที่ทำได้ไม่เต็มที่ จึงลามมากขึ้นอีก มีรอยแผลแตก อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้ามาเสริม เกิดการอักเสบ มีหนองขึ้นมาได้

ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีโรคน้ำกัดเท้า คือต้องต่อสู้ด้วย

ความแห้ง: ผู้ที่ใส่รองเท้าหุ้มมิดชิดพร้อมถุงเท้าตลอดวัน ควรมีรองเท้ามากกว่า 1 คู่สำหรับใส่สลับเพื่อจะได้ใช้รองเท้าที่แห้งทุกวัน เมื่อเท้ามีเชื้อ รองเท้า-ถุงเท้า จะเป็นตัวเก็บเชื้อไว้ด้วย ดังนั้น รองเท้าคู่ที่ใช้สลับกัน ควรนำไปผึ่งแดดช่วงเช้า ให้แสง UV ช่วยลดปริมาณเชื้อ และเก็บรองเท้าในที่ที่มีอากาศถ่ายเท เมื่อต้องลงน้ำ ลุยน้ำ ต้องหาทางปกคลุมรองเท้า, เครื่องแต่งกาย ไม่ให้ถูกน้ำ และเปียกชื้นตลอดเวลา สุขลักษณะ-ความสะอาด:

  • ใส่ถุงเท้าที่ซักสะอาด และแห้ง ในรายที่มีอาการของโรคอยู่ ถ้านำถุงเท้าไปต้ม จะช่วยลดปริมาณเชื้อได้มาก หลีกเลี่ยงการใช้ถุงเท้าที่ทำจากสารบางประภทที่ทำให้แพ้ เพราะจะเสริมอาการคันมากขึ้น
  • ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดหลังย่ำน้ำ ลุยน้ำ หรือเปียกน้ำ ถุงเท้าที่เปียกสกปรก กรณีที่ไม่สามารถซักตามปรกติได้ทันที ให้ซักด้วยน้ำเปล่าที่สะอาดเอาสิ่งสกปรกที่มากับน้ำออกก่อน บิดให้แห้ง ผึ่งไว้ในที่มีลมโกรก อย่าให้หมักหมม ก่อนมีโอกาสนำไปซักตามปรกติ
  • การทำความสะอาดโดยเฉพาะที่มีแผลบวมแดง มีรอยแตก ให้แช่เท้าในภาชนะที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อ แต่ไม่ต้องใช้น้ำยาที่แรงจนแสบร้อน ในการอาบน้ำ ให้ถูบริเวณแผลที่มีสะเก็ดออกด้วยผ้าหยาบที่นุ่ม แล้วเช็ดให้แห้งดีโดยเฉพาะตามซอกนิ้ว เมื่อแห้งแล้วจึงทายา เพื่อให้ยาสามารถแทรกซึมเข้าไปทำลายเชื้อและเอาคราบต่างๆ รวมทั้งยาที่ทาไว้ครั้งก่อนออกไป ไม่ควรทายาซ้ำๆ แต่เข้าไม่ถึงเชื้อ
  • ไม่ใช้ข้าวของส่วนตัวปนกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า แม้แต่รองเท้าแตะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคนี้อยู่ เพราะสามารถติดต่อกันได้
  • การติดเชื้อจากวัตถุ สิ่งของ เครื่องใช้สาธารณะหรือใช้กับผู้รับบริการ เช่น จากการใช้สระว่ายน้ำ หรือสถานอาบน้ำสาธารณะ ภาชนะใช้แช่เท้า เครื่องมือตัดเล็บ ผ้าเช็ดเท้า พรมเช็ดเท้า ถ้าไม่ได้รับการดูแล รักษาความสะอาด และไม่มีการกำจัดจุลินทรีย์ที่เพียงพอ สิ่งของเหล่านี้ที่มีการใช้ร่วมกัน จึงเป็นแหล่งเก็บเชื้อที่มาจากผู้ที่มีเชื้อรา
  • การเกาตามบริเวณร่างกาย โดยใช้มือ-เล็บที่ไปเกาแผลที่มีเชื้อรามาก่อน อาจทำให้บริเวณใหม่ที่ไปเกาได้เชื้อเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งตำแหน่ง เป็นการติดเชื้อที่แพร่จากร่างกายตนเองผ่านการเกานั่นเอง
  • การไม่มีน้ำสะอาดหรือมีไม่พอสำหรับการอุปโภค เช่น ทำให้ไม่สามารถล้างสิ่งสกปรกที่มากับน้ำ การไม่มีน้ำสำหรับอาบ ส่งให้สุขลักษณะส่วนบุคลไม่ดี ช่วยส่งเสริมให้เกิดโรคผิวหนังจากรา รวมถึงโรคอื่นอีกหลายชนิด


สิ่งที่ต้องระวัง คือ การรักษาน้ำกัดเท้า ถ้าทิ้งไว้ให้เรื้อรังเป็นเวลานาน เชื้ออาจรุกรานเข้าเล็บ ที่เป็นเคราตินที่แข็ง เมื่อเล็บเป็นโรคจากรากลุ่มที่กล่าวข้างต้น การรักษาใช้เวลานาน ต้องใช้ยาชนิดรับประทาน ร่วมกับยาทาภายนอก เพื่อกันไม่ให้เชื้อลามกว้างขึ้น นอกจากทำให้เกิดค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงแล้ว การใช้ยารักษาราในกลุ่มนี้หลายตัว ทำให้เกิดผลเสียอื่นๆต่อร่างกาย

ยาที่ใช้ มีหลายประเภท ทั้งที่เป็นยารับประทาน ยาสำหรับสเปรย์ ยาทาประเภทครีม/ขี้ผึ้ง ที่มีตัวยาฆ่ารา เช่น Whitfield’s ointment ที่มีทั้งยาฆ่าราและเพื่อลอกผิวนอกๆ ออก, ยาในกลุ่ม imidazole เป็นต้น ให้ทาบางๆ หลังจากทำความสะอาดแผล และเช็ดแห้งแล้ว และยังมีผงยาฆ่าราสำหรับโรยรองเท้า ถ้ามีการอักเสบจากการติดเชื้ออื่นร่วมด้วย อาจต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียพร้อมกัน การที่จะใช้ยาชนิดใดให้ปรึกษาเภสัชกร ทั้งนี้ ต้องพิจารณาด้วยว่า มีแผลเปื่อยธรรมดาที่ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป หรือมีการติดเชื้อรา/แบคทีเรียร่วมด้วย เอสารอ้างอิงถึง
  1. de Waroux Polain O.le. Floods as Human Health Risks. Encyclopedia Environ Hlth. 2011: 744-755.
  2. Carlo CJ, MacWilliams Bowe P. Tinea Pedis (Athlete’s Foot) Available at: http://www.bhchp.org. (Oct, 2011).
  3. Kamihama T, Kimura T, Hosokawa J-I, Ueji M, Takase T, Tagami K. Tinea pedis outbreak in swimming pools in Japan. Public Health. 1997; 111(4):149-253.
  4. Kumar1 V, Tilak R, Prakash P, Nigam C, Gupta R.Tinea Pedis– an Update.Asian J Med Sci. 2011; 2: 134-138.
  5. Porche DJ. Tinea Pedis: A Common Male Foot Problem J for Nurse Practitioners. 2006; 2(3):152-153.
  6. Niewerth M, Korting HC. Tinea pedis and Onychomycosis. Fu? & Sprunggelenk. 2008; 6(3):166-174.
  7. Zatcoff RC, Smith MS, Borkow G. Treatment of tinea pedis with socks containing copper-oxide impregnated fibers. The Foot. 2008; 18:136-141.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.