Knowledge Article


ทองคำบริสุทธิ์ช่วยฟื้นฟูผิวหน้าให้เต่งตึงได้ จริงหรือ?


รศ.ดร.ภญ. พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
175,363 View,
Since 2011-09-04
Last active: 12m ago
https://tinyurl.com/y6l3ue24
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ทองคำ นับเป็นอัญมณีล้ำค่าตลอดกาล มนุษย์มักจะให้ความสำคัญกับอัญมณีที่มีค่าและหายากมาสัมพันธ์กับสุขภาพกายและความงามเสมอ มีประวัติการนำทองคำบริสุทธิ์มาดัดแปลงใช้กับส่วนต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งใบหน้า โดยเชื่อว่าจะช่วยชะลออายุผิวพรรณตั้งแต่ครั้งยุคของพระนางคลีโอพัตรา และมีใช้ในระดับผู้นำสูงสุดอีกหลายทวีป เช่น จีน อัฟริกา รวมทั้งยุโรป แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ว่าทองคำจะช่วยชะลอความเหี่ยวย่นของผิวหนังได้อย่างไร แต่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของทองคำได้ออกสู่ตลาดในหลายรูปแบบ ทั้งครีมทาผิว ครีมพอกหน้า รวมทั้งแผ่นทองคำเปลวบริสุทธิ์ 24 เค สำหรับพอกหน้า เราจะมาดูว่ามีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อะไรบ้างที่พอจะเชื่อถือได้ว่าทองคำมีส่วนดีต่อสุขภาพทางกายและความสวยงาม และก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้หรือไม่

การนำทองคำมาใช้ประกอบอาหารและเครื่องดื่ม

จากหลักฐานทางการวิทยาศาสตร์ พบว่าโลหะทองคำบริสุทธิ์ จะไม่มีปฏิกิริยากับสารเคมีใดๆหรือต่อเซลของร่างกายเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรืออาการข้างเคียง สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้รับรองและอนุญาตให้ทองคำจัดอยู่ในกลุ่มสารเติมแต่งผสมในอาหารได้ (Food Additives) ในประเทศเยอรมนีและยุโรปหลายประเทศ มีการนำแผ่นทองคำเปลวหรือในรูปผงบดละเอียดมาประยุกต์ใช้ตกแต่งอาหาร รวมทั้งการผสมในเครื่องดื่มยี่ห้อเก่าแก่ เช่น Goldschl?ger, Gold Strike, and Goldwasser. ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเครื่องดื่มสุขภาพที่แพงจัด ในประเทศทางแถบเอเชีย เช่น บาหลี มีการนำทองคำมาผสมในการทำขนมหวาน อย่างไรก็ตามเนื่องจากโลหะทองคำมีคุณสมบัติเฉื่อย จึงไม่มีปฏิกิริยากับสิ่งแวดล้อมในร่างกาย ดังนั้นจึงไม่มีรสชาด และไม่มีคุณค่าทางอาหาร และจะถูกขับออกจากร่างกายได้โดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงใดๆ

การนำมาใช้ทางการแพทย์

เป็นความเชื่อของคนยุคโบราณว่าทองคำมีศักยภาพของการสมานโรค (Healing power) ช่วยให้สุขภาพที่แย่ดีขึ้น ทางการแพทย์ได้มีการทดลองนำแร่ทองคำมาเตรียมให้อยู่ในรูปของเกลือ (Gold salts) พบว่าอนุพันธ์ดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอาการอับเสบและบวมช้ำของโรคเก๊า (Rheumatoid arthritis) ซึ่งได้มีการทดลองนำมารักษาโรคดังกล่าวไม่น้อยกว่า 80 ปีที่ผ่านไป กลไกยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าแร่ทองคำสามารถต้านอนุมูลอิสสระที่เกิดขึ้นจากข้อกระดูกที่อักเสบ ทำให้บรรเทาความเจ็บปวดและบวมช้ำได้ผล อย่างไรก็ตามการฉีดแร่ทองคำในรูปแบบของเกลือหรือโกลด์ซอล์ท จะก่อให้เกิดอันตรายข้างเคียงในการยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวได้ และยังมีผลสะสมในตับและไตอีกด้วย ผู้ที่ได้รับการรักษาจึงควรจะคอยตรวจเช็คเลือดอย่างสม่ำเสมอ

การประยุกต์ใช้ทางเครื่องสำอางเพื่อลดเลือนริ้วรอย

จากการค้นพบทางการแพทย์ว่า ทองคำสามารถต้านอนุมูลอิสสระได้และส่งผลให้เกิดกลไกในการต้านอาการอักเสบของข้อกระดูกในโรคเก๊าได้ผลดี ทำให้นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเชื่อว่า ด้วยกลไกเดียวกันนี้โลหะทองคำน่าจะมีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสสระของผิวหนังและต้านอาการอักเสบของผิวหนังที่เกิดจากรังสียูวีได้ จึงมีการนำทองคำมาประยุกต์ใช้ผสมในเครื่องสำอางที่มีราคาแพงในรูปแบบต่างๆ เพื่อประโยชน์ของการยืดอายุผิวพรรณและลดเลือนริ้วรอยแห่งวัย ปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัดทางวิทยาศาสตร์ว่าประสิทธิภาพการชะลออายุผิวพรรณเมื่อใช้ทองคำเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆว่าจะคุ้มราคาหรือไม่

ความเป็นพิษและอาการข้างเคียง

แม้ว่าแร่ทองคำบริสุทธิ์ไม่เป็นพิษหรือไม่ระคายเคืองต่อเซลร่างกาย แต่ถ้าแร่ทองคำได้ถูกเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการทางเคมีให้อยู่ในรูปของเกลือหรือโกล์ดซอล์ท จะมีอันตรายต่อไต ต่อตับ และยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดหากได้รับเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนั้นยังพบว่าแร่ทองคำมีผลทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองผิวหนังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงดังกล่าวมักพบในผู้หญิง จนได้รับการโหวตให้เป็นสารก่อภูมิแพ้ในปี 2001 โดยสมาคมโรคผิวหนังของสหรัฐอเมริกา

เอกสารอ้างอิง

  1. Gold: From Wikipedia, the free encyclopedia
  2. Rheumatoid arthritis and metal compounds—perspectives on the role of oxygen radical detoxification Analyst, January 1998, Vol. 123 (3–6).
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.