Knowledge Article


ผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก


อาจารย์ ดร. ภญ.ผกาทิพย์ รื่นระเริงศักดิ์
ภาควิชาเภสชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.frontiersin.org/image/researchtopic/15730
19,153 View,
Since 2021-06-16
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ปัจจุบันมีการผลิตและใช้พลาสติกมากขึ้นในแทบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในการก่อสร้างอาคาร ในระบบประปา ระบบขนส่งมวลชน หรือส่วนตัว ในวัสดุตกแต่บ้าน ในอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในอุปกรณ์กีฬา ยารักษาโรค และที่ใช้มากที่สุดคือในภาชนะใส่อาหารและน้ำดื่ม จากการใช้พลาสติกที่มากมายของคนทั้งโลกนี้ ทำให้มีขยะพลาสติกเป็นจำนวนมากซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกอยู่ในขณะนี้ ประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกปีละประมาณ 2.1 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณ 12% ของขยะทั้งหมดของประเทศ และมีเพียงประมาณ 25% ของขยะพลาสติกนี้เท่านั้นที่สามารถถูกนำไปรีไซเคิล (Recycle) แล้วนำกลับมาใช้ได้อีกนอกจากนั้นจะถูกทำการฝังกลบ โดยขยะส่วนใหญ่มักเป็นภาชนะบรรจุอาหารและน้ำซึ่งมีส่วนผสมของ Polyethylene (PE), Polypropylene (PP), Polystyrene (PS), Polymethyl methacrylate (PMMA), Polymethyl pentene (PMP) และ Polyethylene terephthalate (PET) เป็นต้น มลภาวะจากขยะพลาสติกกำลังเป็นปัญหาที่น่าวิตกของประเทศไทย



ภาพจาก : https://i0.wp.com/www.botany.one/wp-content/uploads/2019/03/gcb14020-fig-0002-m.jpg?ssl=1

ตัวอย่างสำคัญของมลภาวะทางทะเลเกิดขึ้นจากขยะพลาสติกคือ เกาะขยะที่เกิดจาการรวมตัวของขยะทางทะเลที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific ocean) รู้จักกันในชื่อ “Five Gyre” กินพื้นที่มากกว่า1.6 ล้านตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยขยะประมาณ 79,000 เมตรตริกตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนของพลาสติก ประเภท Thermoplastic, Thermoset, Elastomers ซึ่งเมื่อถูกกัดกร่อนโดยธรรมชาติและแสงแดดจะเกิด Photodegradation จนกลายเป็น Microplastic และ Nanoplastic ซึ่งกระบวนการย่อยสลายนี้สามารถเกิดได้ทั้งบนดินและในน้ำจืดและน้ำเค็ม Microplastic และ Nanoplastic ที่เกิดขึ้นในทะเลสามารถผ่านเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์และสามารถสะสมอยู่ในสัตว์ทะเลชนิดต่างๆรวมทั้งนกที่หากินทางทะเล และสาหร่ายทะเล เป็นต้น จากผลการวิจัยเมื่อเร็วๆนี้พบว่ามีการตรวจพบ Nanoplastic ในปลาทะเลและผลการวิจัยเพื่อศึกษาการกระจายตัวของอนุภาคนาโนพลาสติกในปลาทะเลพบว่านาโนพลาสติกสามารถผ่าน Blood brain barrier และสามารถทำให้เกิดความผิดปกติทางพฤติกรรมการว่ายน้ำของปลาได้ จากผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสาร Microplastic และ Nanoplastic ที่เกิดจากการย่อยสลายของขยะพลาสติกกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้ และน่าจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศที่มีขยะพลาสติกจำนวนมากอย่างประเทศไทย

ไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติกคืออะไร

ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก เป็นชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กมากที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้หมายถึงพลาสติกประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่หมายถึงเศษพลาสติกใดๆ ที่มีขนาดตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง EFSA 2016 (European Food Safety Authority ) ได้ให้คำนิยามของไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก ไว้ว่าไมโครพลาสติกคืออนุภาคที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 100 nm ถึง 5 mm และนาโนพลาสติก คืออนุภาคที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง น้อยกว่า 100 nm

ไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติกสามารถเกิดจาก 2 แหล่งกำเนิด คือ
  1. Primary source คือ ไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก ที่เกิดจากการผลิตไมโคร-และนาโนพลาสติกโดยตรงจากโรงงานตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น พวกไมโครบีดส์ในโฟมล้างหน้า, เครื่องสำอาง, สครับขัดผิว หรือยาสีฟัน เป็นต้น
  2. Secondary source คือ ไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกขนาดใหญ่แตกหักหรือผุกร่อนจากคลื่นแสงอาทิตย์หรือแรงบีบอัด จนกลายเป็นชิ้นเล็กๆ
กระบวนการย่อยสลายพลาสติกในธรรมชาติและความเป็นพิษ

พลาสติกแต่ละชนิดมีปัจจัยในการย่อยสลายแตกต่างกัน เช่น oxo-biodegradable plastic คือ พลาสติกที่แตกตัวโดยอาศัยปฏิกิริยาออกซิเดชันในอากาศ photo-biodegradable plastic คือ พลาสติกที่แตกตัวเมื่อเจอแสง ultraviolate (UV) แต่การย่อยสลายนี้จะไม่เกิดขึ้นภายในบ่อฝังกลบขยะ หรือในพื้นที่มืด เนื่องจากไม่ได้รับแสง UV ที่ทำให้เกิดปฏิกริยาการแตกตัว และ hydro-biodegradable plastic คือ พลาสติกที่อาศัยความชื้นเป็นตัวแปรในการย่อยสลาย จากปัจจัยดังกล่าวที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้พลาสติกที่มีขนาดใหญ่สามารถถูกย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก ตามลำดับ

ระหว่างการผลิตพลาสติกมักมีการเติมสารเติมแต่ง (Additives) เช่น 2-Aminobenzamide, Tris (2,4 di-tert-butylphenyl) phosphite (DTBP), Stearyl 3- (3,5 di-tert-butyl- 4-hydroxyphenyl) propionate (DTBH) เพื่อเพิ่มคุณลักษณะของพลาสติก เช่น สี ความโปร่ง และเพิ่มความทนต่อการถูกทำลายจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น เป็นต้น โดยสารเติมแต่งที่นิยมใช้มากที่สุดในพลาสติกคือสารให้ความยืดหยุ่น (Plasticizer) เมื่อเติมลงในผลิตภัณฑ์พลาสติก จะไปแทรกระหว่างโมเลกุลของพลาสติกและลดแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุล จึงสามารถเพิ่มความอ่อนนุ่มแก่พลาสติก พลาสติไซเซอร์ที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือสารกลุ่มพทาเลท (Phthalates) ได้แก่ Di(2-ethylhexyl)phthalate (DEHP), Dibutylphthalate (DBP), Butylbenzyl phthalate (BBP), Diisononyl phthalate (DINP) และ Diisodecyl phthalate (DIDP) ดังนั้นเมื่อพลาสติกเกิดการเสื่อมสลาย จากการถูกทำลายโดยปัจจัยในการย่อยสลายแตกต่างกัน เช่น รังสี UV จากแสงแดด, ความร้อน หรือ พลังงานคลื่นต่างๆ ซึ่งสามารถทำให้เกิดการปลดปล่อยสารให้ความยืดหยุ่น และ สารปรุงแต่งอื่นๆ ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกออกมากับไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกด้วย โดยความเป็นพิษของไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกส่วนใหญ่จะขึ้นกับปริมาณกสารสารให้ความยืดหยุ่นที่ปล่อยออกมา ซึ่งสารกลุ่มที่ใช้มากคือสารกลุ่ม Phthalates ซึ่งหากมีการปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อมรวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ในระยะยาว โดยค่าความเป็นพิษของสารกลุ่ม Phthalates และสารปรุงแต่อื่นๆที่มีความเป็นพิษสูงจากการทำการวิจัยในสัตว์ทดลองสามารถสรุปได้ดังตารางที่ 1



ข้อกำหนดปริมาณไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก

ประเทศไทยยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของอาหารและบรรจุภัณฑ์รวมถึงการกำหนดปริมาณการปนเปื้อนของ plasticizer ยกเว้น ในฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหารที่ทำจากพลาสติก PVC ซึ่งได้มีการกำหนดใน มอก. 1136-2536 โดยระบุว่าห้ามใส่สาร DEHP ลงไปในผลิตภัณฑ์ ขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มในประเทศยุโรป ได้มีการกำหนดบังคับใช้กฎหมายด้านวัสดุและสิ่งของที่สัมผัสอาหาร (Food contact materials) เพื่อป้องกันสารอันตรายที่สามารหลุดลอกออกจากวัสดุสัมผัสอาหารเหล่านี้และสามารถเกิดการปนเปื้อนสู่อาหารได้ โดยสหภาพยุโรปได้กำหนดค่า tolerable daily intake (TDI) ของสารกลุ่มพทาเลททั้ง 3 ชนิด ไว้ดังนี้ Di-isonylphthalate (DINP) มีค่า TDI = 0.15 mg/kg/bw, Di-isodecylphthalate (DIDP) มีค่า TDI = 0.15 mg/kg/bw และDi- (2-ethylhexyl) phthalate (DEHP) มีค่า TDI = 0.05 mg/kg/bw

นอกจากนี้ประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ได้แก่ ออสเตรีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศษ ฟินแลนด์ เยอรมนี กรีซ อิตาลี และสวีเดน ได้กำหนดกฎระเบียบสำหรับของเด็กเล่นที่นำเข้าหรือจำหน่ายในประเทศเหล่านี้ว่า ต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานความปลอดภัยของของเล่นเด็ก ภายใต้กฎหมาย Safety of toys (EN 71) ซึ่งครอบคลุมสินค้าของเล่นเด็กทุกประเภทสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 14 ปี โดยกำหนดว่า ในกระบวนการผลิตสินค้าของเล่นเด็กเหล่านี้ ห้ามใช้สารประกอบกลุ่มพทาเลท 6 ประเภท ได้แก่ DNIP, DIDP, Di-n-octylphthalate (DNOP), DEHP, BBP และ DBP ใน PVC เพื่อผลิตเป็นสินค้าของเล่นเด็กทุกชนิดที่เด็กสามารถใส่เข้าปากได้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ใช้ในการดูแลเด็กอีกด้วย เพื่อความปลอดภัยของเด็ก

จากข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศในการดูแลมาตรมาตรฐานคุณภาพของอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหาร ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษในกลุ่มพทาเลทรวมถึง additives อื่นๆ รวมถึงควรช่วยกันร่วมมือเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกซึ่งเป็นต้นกำเนิดของไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติกที่สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ในระยะยาว

เอกสารอ้างอิง
  1. PlasticsEurope. Plastics – the facts 2019. [report]. In, EuPC. Brussels: Plastics Europe; 2019.
  2. Costa JP. Micro and nanoplastics in the environment: research and policymaking. Curr Opin Environ Sci Health 2018; 1: 12-16.
  3. Yousif E, Haddad R. Photodegradation and photostabilization of polymers, especially polystyrene: review. Springerplus 2013; 398: 3-32.
  4. Blair RM, Waldron S, Phoenix V, Lindsay CG. Micro- and nanoplastic pollution of freshwater and wastewater treatment systems. Springer Sci Rev 2017; 5: 19-30.
  5. Hahladakis JN, Velis CA, Weber R, Iacovidou E, Purnell P. An overview of chemical additives present in plastics: Migration, release, fate and environmental impact during their use, disposal and recycling. J Hazard Mater 2018; 344: 179-99.
  6. Yong CQ, Valiyaveetill S, Tang BL. Toxicity of microplastics and nanoplastics in mammalian systems. Int J Environ Res Public Health. 2020; 17: 1-24.
  7. European commission. The safety of medical devices containing DEHP-plasticized PVP or other plasticizers on neonate and other groups possibly a risk. Health & Consumer Protection 2007: 2-84.
  8. Renner G, Schmidt TC, Schram J. Analytical methodologies for monitoring micro (nano) plastics: Which are fit for purpose. Curr Opin Environ Sci Health 2018; 1: 55-61.
  9. The European Commission. Commission Regulation (EU) No 10/2011 of 14 January 2011 on plastic materials and articles intended to come into contact with food. Luxembourg: European Communities Official Publications; 2011.
  10. European Food Safety Authority. Presence of microplastics and nanoplastics in food, with particular focus on seafood. EFSA CONTAM Panel 2016; 14(6): 4501.
  11. กัณฐมณี ก้อนทอง, ชญานิษฐ์ คำภูมี. การพัฒนาสารนาโนโพรบ (Nano-device) สำหรับตรวจจับปริมาณไมโคร-และนาโนพลาสติก [โครงการพิเศษปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิต]. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2562.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.