Knowledge Article


ภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา (เบาหวานขึ้นตา)


อาจารย์ ดร.ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่รวบรวมข้อมูล: 26 เมษายน พ.ศ. 2564
ภาพประกอบจาก : https://www.modernretina.com/view/review-epidemiology-diabetic-retinopathy
9,794 View,
Since 2021-05-06
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


โรคเบาหวาน เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก มีการคาดการณ์ว่า จะมีคนเป็นโรคเบาหวาน 642 ล้านคนในปี ค.ศ. 2040 ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา (diabetic retinopathy) หรือที่เรียกว่า “เบาหวานขึ้นตา” ที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยประมาณว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีเบาหวานขึ้นตา และ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานขึ้นตาจะมีปัญหาด้านการมองเห็นด้วย ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาในประเทศไทย ปี ค.ศ. 2006 ที่พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีเบาหวานขึ้นตาร่วมด้วย ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวสัมพันธ์กับระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวาน ระดับ HbA1C ที่สูง โรคความดันโลหิตสูง และภาวะไตเสื่อมจากเบาหวาน



ภาพจาก : https://www.aoa.org/AOA/Images/Patients/Eye%20Conditions/Male_Computer_Vision_Syndrome_Dry_Eye_Tired_AdobeStock_261825553.jpg

ภาวะเบาหวานขึ้นตา เป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งของโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่มาจากการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี และระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวานที่ค่อนข้างนาน ทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาเกิดความผิดปกติ เสื่อมลง หรือมีเส้นเลือดขนาดเล็กใหม่เกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงมาด้วยอาการตามัว ซึ่งระดับของอาการตามัว ขึ้นกับระยะความรุนแรงของภาวะเบาหวานขึ้นตา และบริเวณที่มีความผิดปกติในจอประสาทตา หากเส้นเลือดไปเลี้ยงเกิดความผิดปกติ หรือมีจุดเลือดออกบริเวณจุดรับภาพ (macula) จุดรับภาพมีภาวะบวม รวมทั้งจอประสาทตาลอกจากผนังด้านในลูกตา ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวมากได้

ระยะความรุนแรงของภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา แบ่งหลัก ๆ เป็น 2 ระยะ คือ
  1. ภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตาที่ยังไม่มีการสร้างเส้นเลือดขนาดเล็กใหม่
  2. เบาหวานเข้าจอประสาทตาที่มีการสร้างเส้นเลือดขนาดเล็กใหม่
การแบ่งระยะจะเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกวิธีการรักษา และการนัดติดตามอาการโดยจักษุแพทย์ ซึ่งมีแนวทางการรักษาดังนี้
  1. การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยแนะนำว่า ควรควบคุมให้ระดับน้ำตาลสะสม (ระดับ HbA1C น้อยกว่าร้อยละ 7)
  2. การยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตา ซึ่งอาจใช้เพื่อลดการสร้างเส้นเลือดใหม่
  3. การผ่าตัด ในระยะที่ผู้ป่วยมีเลือดออกในตามาก จนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น จอประสาทตาลอก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอาการทางสายตาดังนี้
  1. ควรหมั่นดูแลสุขภาพ ควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมัน ระดับความดันโลหิต
  2. หากยังไม่เป็นภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา แนะนำให้ตรวจจอประสาทตาโดยจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี และหากตั้งครรภ์ควรรีบตรวจการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ซึ่งแพทย์จะนัดตรวจถี่ขึ้นตามความเหมาะสม
  3. สังเกตตนเอง หากมีอาการตามัวลง หรือมีอาการผิดปกติอื่นให้รีบมาพบแพทย์
สุดท้ายนี้หากมีปัญหาทางสายตา และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยา และอย่าลืมว่า "มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ"

เอกสารอ้างอิง
  1. American Academy of Ophthalmology. 2019. 2019-2020 BCSC: Basic and Clinical Science Course. American Academy of Ophthalmology.
  2. Chetthakul, Thanya et al. 2006. "Thailand Diabetes Registry Project: Prevalence of Diabetic Retinopathy and Associated Factors in Type 2 Diabetes Mellitus." Journal of the Medical Association of Thailand 89(SUPPL. 1): S27-36.
  3. Chumley, Heidi S, and Mary Kelly Green. 2019. "Diabetic Retinopathy." In The Color Atlas and Synopsis of Family Medicine, 3e, eds. Richard P Usatine, Mindy A Smith, Jr. Mayeaux E.J., and Heidi S Chumley. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  4. Das, Arup. 2016. "Diabetic Retinopathy: Battling the Global Epidemic." Investigative Ophthalmology and Visual Science 57(15): 6669–82.
  5. Horton, Jonathan C. 2018. "Disorders of the Eye." In Harrison's Principles of Internal Medicine, 20e, eds. J Larry Jameson et al. New York, NY: McGraw-Hill Education.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.