Knowledge Article


PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ปัจจัยในการก่อให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัย (AMD)


อาจารย์ ดร. ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://post.healthline.com/wp-content/uploads/2012/08/Macular-Degeneration-732x549-thumbnail-732x549.jpg
7,698 View,
Since 2021-02-02
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/y5th2wvg
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


โรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัย (age-related macular degeneration; AMD) เป็นโรคในอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาด้านการมองเห็นในผู้สูงอายุ มีการคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ ตัวโรคจะทำให้การมองเห็นมัว ผู้ป่วยเห็นภาพที่บิดเบี้ยวโดยเฉพาะส่วนกลางของภาพเนื่องจากจอประสาทตาถูกทำลายซึ่งจะส่งผลต่อทั้งคุณภาพชีวิตและเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วย มีการเปรียบเทียบว่าคุณภาพชีวิตที่ลดลงของผู้ป่วยโรค AMD เทียบเท่ากับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนกระดูกสันหลังหัก รวมไปถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV : human immunodeficiency virus) ในระยะที่แสดงอาการ



ภาพจาก : https://www.newskarnataka.com/storage/photos/shares/eyeairpoluutonMM28012021.png

โรค AMD พบอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ การเสื่อมเป็นบริเวณกว้างของจอประสาทตาที่เรียกว่า geographic atrophy AMD หรือ dry AMD และการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่จอประสาทตาที่เรียกว่า neovascular AMD หรือ wet AMD โดยในรูปแบบ dry AMD นั้น สามารถพบได้ประมาณร้อยละ 90 จากผู้ป่วยโรค AMD ทั้งหมด ในปัจจุบันมีเพียงรูปแบบ wet AMD เท่านั้นที่สามารถรักษาได้ โดยการฉีดสารยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ (anti-vascular endothelial growth factor injection; anti-VEGF injection) หรือการฉายแสง (photodynamic therapy)

ถึงแม้ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดโรค AMD คือ การสูงวัย แต่ก็มีปัจจัยกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ การสูบบุหรี่ ภาวะ metabolic syndromes การได้รับแสงจ้าเป็นระยะเวลานาน และความผิดปกติทางพันธุกรรม นอกจากนี้ยังมีรายงานที่พบว่าฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (particulate matter 2.5; PM 2.5) และมลพิษทางอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค AMD จากการศึกษาของ Sharon และคณะในปี ค.ศ. 2020 ด้วยเทคนิคการเปรียบเทียบภาพถ่ายดวงตาในชั้นเรตินา (retina) จากกลุ่มตัวอย่าง 51,710 คน ในช่วงอายุ 40 ถึง 69 ปี เทียบกับข้อมูลการได้รับมลพิษทางอากาศในสหราชอาณาจักร (United Kingdom) พบว่า การได้รับ PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ เช่น สารในกลุ่มไนโตรเจน ออกไซด์ (nitrogen oxides) ในปริมาณมากจะพบลักษณะที่แย่หรือไม่แข็งแรงของโครงสร้างชั้นเรตินา โดยมีกลไกคือ PM 2.5 ที่ได้รับจากการสูดดมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและสะสมไว้ สามารถแพร่เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต ผ่านแนวกั้นเลือดและสมอง (blood-brain barrier) เข้าสู่ระบบประสาทได้ ซึ่งรวมไปถึงชั้นเรตินาที่จัดเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาท เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ oxidative stress และกระบวนการอักเสบในชั้นของเรตินาได้เช่นเดียวกับการศึกษาก่อนหน้าที่รายงานว่า PM อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายของเซลล์ในระบบประสาท นอกจาก PM 2.5 และมลพิษทางอากาศจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรค AMD แล้ว ยังอาจรวมไปถึงโรคตาอื่น ๆ เช่น โรคต้อหินด้วย

สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากฝากให้ผู้อ่านตระหนักผลในระยะยาวที่เกิดจาก PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ควรมีการตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่ที่จะเดินทางไปหรือบริเวณที่พักอาศัย พยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง รวมทั้งป้องกันดูแลสุขภาพตนเอง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ การใส่หน้ากากป้องกัน เป็นต้น หากรู้สึกมีปัญหาด้านการมองเห็น รวมไปถึงการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยา และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”

บทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม เอกสารอ้างอิง
  1. Brown, Melissa M et al. 2005. “Age-Related Macular Degeneration: Economic Burden and Value-Based Medicine Analysis.” Canadian Journal of Ophthalmology 40(3): 277–87. http://dx.doi.org/10.1016/S0008-4182(05)80070-5.
  2. Cardarelli, William J, and Roderick A Smith. 2013. “Managed Care Implications of Age-Related Ocular Conditions.” The American journal of managed care 19(5 Suppl): S85--91.
  3. Chang, Kuang-Hsi et al. 2019. “Traffic-Related Air Pollutants Increase the Risk for Age-Related Macular Degeneration.” Journal of investigative medicine?: the official publication of the American Federation for Clinical Research 67(7): 1076–81.
  4. Chua, Sharon Y L et al. 2020. “Ambient Air Pollution Associations with Retinal Morphology in the UK Biobank.” Investigative Ophthalmology & Visual Science 61(5): 32. https://doi.org/10.1167/iovs.61.5.32.
  5. Dietzel, M, D Pauleikhoff, F G Holz, and A C Bird. 2013. “Early AMD - Age-Related Macular Degeneration.” In eds. Frank G Holz, Daniel Pauleikhoff, Richard F Spaide, and Alan C Bird. Berlin, Heidelberg: Springer Berlin Heidelberg, 101–9. https://doi.org/10.1007/978-3-642-22107-1_6.
  6. Gehrs, Karen M, Don H Anderson, Lincoln V Johnson, and Gregory S Hageman. 2006. “Age-Related Macular Degeneration - Emerging Pathogenetic and Therapeutic Concepts.” Annals of Medicine 38(7): 450–71.
  7. Handa, James T et al. 2017. “Lipids, Oxidized Lipids, Oxidation-Specific Epitopes, and Age-Related Macular Degeneration.” Biochimica et Biophysica Acta - Molecular and Cell Biology of Lipids 1862(4): 430–40. http://dx.doi.org/10.1016/j.bbalip.2016.07.013.
  8. Ho, L et al. 2013. “Epidemiology of AMD.” In Age-Related Macular Degeneration, eds. Frank G Holz, Daniel Pauleikhoff, Richard F Spaide, and Alan C Bird. Berlin, Heidelberg: Springer Berlin Heidelberg, 3–32. https://doi.org/10.1007/978-3-642-22107-1_1.
  9. Mukesh, Bickol N et al. 2004. “Five-Year Incidence of Age-Related Maculopathy: The Visual Impairment Project.” Ophthalmology 111(6): 1176–82.
  10. Ozawa, Yoko. 2014. “Oxidative Stress in the RPE and Its Contribution to AMD Pathogenesis: Implication of Light Exposure.” In Neuroprotection and Neuroregeneration for Retinal Diseases, eds. Toru Nakazawa, Yasushi Kitaoka, and Takayuki Harada. Tokyo: Springer Japan, 239–53. https://doi.org/10.1007/978-4-431-54965-9_17.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.