Eng |
ศาสตราจารย์ ดร. ภญ. ลีณา สุนทรสุข ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
แม้ข่าวคราวเกี่ยวกับฝุ่นจิ๋วหรือ พี เอ็ม 2.5 (particulate matter, PM 2.5) จะค่อยๆ เลือนหายไปจากสื่อต่างๆ ตามสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและอุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่ปัญหาฝุ่นยังไม่หมดไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงจะต้องเผชิญกับปัญหานี้อยู่และอาจจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต หากยังไม่มีการแก้ไขที่ต้นเหตุ ประการสำคัญมลพิษทางอากาศไม่ได้มีเพียง พี เอ็ม 2.5 เท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยสารพิษอื่นอีกหลายชนิดซึ่งเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังแสดงในตารางที่ 1
ภาพจาก : http://www.nationmultimedia.com/img/photos/2018/February/8/928b177b227f945f5da960e5fab07009.jpeg
สารพิษทางอากาศเป็นภัยใกล้ตัวที่มองไม่เห็นและปนเปื้อนอยู่ในอากาศที่เราหายใจตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะ พี เอ็ม 2.5 ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง (หมายถึงมีข้อมูลยืนยันว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ตามการแบ่งประเภทกลุ่มสารก่อมะเร็งของ International Agency for Research on Cancer)3
เนื่องจาก พี เอ็ม 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ และสามารถแพร่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต และอวัยวะอื่นของร่างกาย รวมทั้งฝุ่นเหล่านี้ยังเป็นตัวกลางในการนำสารอันตรายอื่นเข้าสู่ร่างกาย เช่น โลหะหนัก แคดเมียน ปรอท เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ อาทิ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งปอด เป็นต้น องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าเป้าหมายของมาตรฐานฝุ่นละอองโดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และค่าเฉลี่ยทั้งปี ดังแสดงในตารางที่ 2 แม้ว่ามาตรฐานฝุ่นละอองของไทยในปัจจุบันจะมีสูงกว่าค่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ขณะนี้ได้มีข้อเสนอที่จะปรับลดค่าดังกล่าวให้มีค่าใกล้เคียงกับสากลยิ่งขึ้น (ตารางที่ 2)
สถานการณ์มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ออกมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งรณรงค์ในส่วนของภาครัฐและภาคประชาชน (ตารางที่ 3) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและรับมือกับปัญหาใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน