Knowledge Article


วัณโรค ( กลับมาอีกแล้ว....โดยไม่ได้เรียกร้อง)


บทความโดย คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
43,302 View,
Since 2011-06-19
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/27y32dtj
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

ในแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคประมาน 2-3 ล้านคน ในจำนวนนี้จะเป็นเด็กประมาณ1 แสนคน    คาดว่าในปีพ.ศ.2563 จะมีผู้ติดเชื้อวัณโรคเพิ่มขึ้นเกือบ 1 พันล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 70 ล้านคน   วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่สามารถแพร่กระจายทางอากาศไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย   หลังจากที่ได้มีการค้นพบยาที่ใช้รักษาได้ผลดี และมีวัคซีนฉีดป้องกันทำให้ผู้ป่วยวัณโรคลดน้อยลง   ในปี พ.ศ.2539  ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นวัณโรคประมาณ 8 หมื่นคน และในปี พ.ศ.2534  ผู้ป่วยลดลงเหลือ 4 หมื่นคน ต่อมาในปี พ.ศ.2535-2536  ได้มีการระบาดของโรคติดเชื้อเอชไอวีไปทั่วประเทศ ทำให้การแทรกซ้อนของวัณโรคในผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  จากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นปีละ 5 หมื่นคนและครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อ 1 ราย ถ้าไม่ได้รับการรักษาสามารถทำให้คนรอบข้างติดเชื้อได้ 10 -15 คนต่อปี  และวัณโรคเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิต 

 

องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับประเทศไทยอยู่เป็นลำดับที่ 17 จากกลุ่ม 22 ประเทศที่มีปัญหาด้านวัณโรค  ซึ่ง 3 อันดับแรกได้แก่ อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย จำนวนผู้ป่วยวัณโรคในไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นเพราะการควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคไม่ถึงเป้าหมาย   ที่สำคัญคือปัญหาผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่องจนเกิดวัณโรคสายพันธุ์ดื้อยาอย่างรุนแรง หรือ Extensively drug resistant tuberculosis (XDR-TB) ปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง  และปัญหาแรงงานต่างชาติที่เป็นวัณโรคหรือเป็นพาหะของโรคเข้ามาหางานทำในเมืองไทยกันมากขึ้น

วัณโรคหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ฝีในท้อง  เรารู้จักกันในชื่อของทีบี(TB)ซึ่งเป็นชื่อย่อของTuberculosis  เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียชื่อ Mycobacterium tuberculosis เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจในรูปละอองเสมหะ เชื้อวัณโรคจะผ่านเข้าสู่ปอดและเริ่มแบ่งตัวแพร่ต่อไป   ส่วนใหญ่ทำให้เกิดวัณโรคปอด แต่อาจแพร่กระจายไปที่อื่นๆ ในร่างกายทำให้เกิดวัณโรคที่อวัยวะนั้นๆ เช่น ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองกระดูก  ข้อ ไต และเยื่อหุ้มสมอง บุคคลที่มีโอกาสติดเชื้อง่ายได้แก่ผู้สูงอายุ  ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน, ติดเหล้าและภูมิคุ้มกันบกพร่อง

   ในตอนแรกที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจะยังไม่แสดงอาการ  และไม่พบความผิดปกติในเอกซเรย์ปอดแต่ในเวลาต่อมา ซึ่งอาจนานเป็นปี เมื่อวัณโรคเริ่มเป็นมากขึ้นจะปรากฏอาการอื่นให้เห็น เช่นไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ บางรายไอแห้งๆ อาจมีเสมหะสีเหลือง เขียว หรือไอปนเลือด เจ็บแน่นหน้าอก มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือเย็น เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 

วัณโรคเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้  ในช่วง 2 เดือนแรกจะใช้ยาร่วมกัน 3-4 ชนิดหลังจากนั้นจึงลดยาเหลือ 2 ชนิดเป็นเวลาต่อไปทั้งหมด รวม 6-9 เดือนนิยมให้ยารับประทานรวมกันเวลาเดียวก่อนนอนภายหลังให้การรักษาอาการต่างๆของผู้ป่วยจะค่อยๆดีขึ้น ใน 2 สัปดาห์ และใกล้เคียงปกติภายในระยะ 2 เดือน ยกเว้นผู้ป่วยที่เชื้อดื้อยาหรือเป็นโรคมานานและได้รับการรักษาช้าจะต้องทำการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลา 1 –2 ปี ยาวัณโรคในปัจจุบันหลักๆจะมีอยู่ 4 ชนิดคือ  Isoniazid, Rifampicin ,Pyrazinamide  และ Ethambutolผู้ป่วยควรกินยาครบตามที่แพทย์สั่ง ถ้ากินๆหยุดๆอาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อวัณโรคดื้อยาได้ จะทำให้ระยะเวลาการรักษายาวนานและรักษายากยิ่งขึ้น  ยาที่กล่าวมาในข้างต้นนี้มีผลข้างเคียงทุกตัว จึงต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์และเภสัชกร   การรักษาจะได้ผลดีต่อเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน   หมั่นดูแลสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างก็จะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจาย และทำให้โรคนี้หมดไปจากประเทศไทยได้ 

บทความโดย :  ภญ. รศ. ม.ล. สุมาลย์ สาระยา

ภาควิชาจุลชีววิทยา  คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล

Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.