Knowledge Article


ปวดข้อมือ..เส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกบีบรัด


อ. ดร. กภ.ยิ่งรัก บุญดำ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://hmcisrael.com/wp-content/uploads/2019/08/bigstock-Closeup-Of-Female-Arms-Holding-281279137-300x200.jpg
71,308 View,
Since 2020-09-09
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/yyuve8xk
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ภาวะเส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกบีบรัด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่ก่อให้เกิดอาการปวด ชา รู้สึกเสียวซ่านบริเวณมือ/แขน และกล้ามเนื้อมืออ่อนแรง โดยสาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดจากการที่เส้นประสาทมีเดียน ซึ่งเป็นเส้นประสาทหลักที่เลี้ยงบริเวณฝ่ามือถูกบีบรัดขณะที่เส้นประสาทกำลังทอดผ่านโพรงบริเวณข้อมือ โดยโพรงที่เส้นประสาททอดผ่านนั้นมีชื่อเรียกว่า “carpal tunnel (คาร์ปัล ทันเนล)” ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อโรคว่า “carpal tunnel syndrome” นั่นเอง

คาร์ปัล ทันเนล เป็นโพรงขนาดเล็กที่มีตำแหน่งอยู่บริเวณรอยพับของข้อมือ โพรงนี้ถูกโอบล้อมด้วยกระดูกข้อมือและพังผืดข้อมือ ภายในโพรงมีโครงสร้างต่าง ๆ ทอดผ่านมากมาย กล่าวคือ มีเอ็นกล้ามเนื้อแขนและมือทั้งหมด 9 เส้นทอดผ่าน (เอ็นกล้ามเนื้อในการงอนิ้วโป้ง 1 เส้น เอ็นกล้ามเนื้อในการงอสี่นิ้วชั้นลึก 4 เส้น และเอ็นกล้ามเนื้อในการงอสี่ชั้นตื้น 4 เส้น โดยเอ็นกล้ามเนื้อเหล่านี้จะถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เราเรียกว่า “ปลอกหุ้มเส้นเอ็น”) ร่วมกับมีการทอดผ่านของเส้นประสาทมีเดียน ซึ่งเส้นประสาทมีเดียนจะทำหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณฝ่ามือ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งนิ้ว นอกจากนี้เส้นประสาทมีเดียนยังทำให้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และข้อมือเคลื่อนไหวได้ ดังนั้นการที่เส้นประสาทมีเดียนถูกบีบรัด จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการชา รู้สึกเสียวซ่าน และปวดบริเวณฝ่ามือ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ รู้สึกไม่มีแรงในขณะจับสิ่งของ



ปัจจัยเสี่ยง
  • ลักษณะการทำงาน การทำงานที่มีการกระดกข้อมือลงซ้ำ ๆ หรือใช้เครื่องมือที่ส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังข้อมือในการทำงาน โดยลักษณะที่กล่าวไปนั้นเป็นการเพิ่มแรงกดต่อเส้นประสาทมีเดียน ส่งผลให้เส้นประสาทมีเดียนถูกบีบรัดได้ ลักษณะท่าทางและการทำงานที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ เช่น บุคคลที่ใช้มือในการทำงานเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เมาส์คอมพิวเตอร์ การพิมพ์แชทในโทรศัพท์มือถือ การพิมพ์เอกสาร บุคคลที่ทำหน้าที่แคชเชียร์ หรือแม้แต่ทันตแพทย์ และแพทย์ผ่าตัด เป็นต้น
  • กระดูกข้อมือหักหรือเคลื่อน ส่งผลให้โพรงข้อมือมีขนาดเล็กลง โครงสร้างภายในจึงบีบรัดเส้นประสาท นอกจากนี้บุคคลที่มีโครงสร้างขนาดของโพรงข้อมือเล็กก็สามารถเกิดอาการได้แม้ไม่มีการหักหรือเคลื่อนของกระดูกข้อมือ
  • เพศหญิงมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บมากกว่าเพศชาย เนื่องจากลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ของเพศหญิงที่มีโพรงขนาดเล็กกว่าเพศชาย
  • ภาวะเส้นประสาทบาดเจ็บ เช่น โรคเบาหวาน สามารถทำให้เส้นประสาทบาดเจ็บและเกิดการเสื่อมได้
  • ภาวะอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ส่งผลให้บริเวณโครงสร้างรอบ ๆ และในบริเวณโพรงข้อมือมีอาการบวม นำไปสู่การบีบรัดเส้นประสาทได้
  • การใช้ยาบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บ เช่น anastrozole (ยารักษามะเร็งเต้านม)
การรักษา
  1. ในรายที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง แพทย์มักจะพิจารณาการรักษาโดยไม่ใช้วิธีผ่าตัด เช่น
    • การใช้ยากลุ่ม NSAIDs เพื่อลดปวดและอักเสบ
    • o การฉีดสเตียรอยด์บริเวณโพรงข้อมือ
    • การพักการใช้งานข้อมือหรือลดการเคลื่อนไหวของข้อมือด้วยการใส่อุปกรณ์ประคองข้อมือ (wrist splint) เนื่องจากการเคลื่อนไหวข้อมือเป็นการกระตุ้นให้เส้นประสาทมีเดียนถูกบีบรัดมากขึ้น
    • การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การแช่มือในพาราฟิน เป็นการใช้ความร้อนในการบรรเทาอาการปวด เพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณมือ และเพิ่มความยืดหยุ่นของพังผืด การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นความถี่สูงในการรักษาอาการปวด ลดอาการอักเสบ และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และการใช้คลื่นเลเซอร์กำลังต่ำ เพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการชา เป็นต้น นอกจากการรักษาโดยใช้เครื่องมือแล้วนั้น ยังมีการให้โปรแกรมออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและยืดกล้ามเนื้อซึ่งจะช่วยในการฟื้นฟูจากการบาดเจ็บและป้องกันไม่ให้การบาดเจ็บกลับมาเป็นซ้ำ โดยการออกกำลังกายแนะนำในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง
    ท่าทางในการบริหารข้อมือ
    • ท่าโบกรถและสั่งหยุด เป็นการกระดกข้อมือลงคล้ายกับการโบกรถ นับ 1 ถึง 5 จากนั้นให้กระดกข้อมือขึ้นคล้ายกับการสั่งให้หยุด นับ 1 ถึง 5 ทำซ้ำ 3 รอบ
    • ท่างอนิ้ว เริ่มต้นจากการแบฝ่ามือ จากนั้นให้งอนิ้วทั้งสี่ แล้วค่อย ๆ ไต่ลงมาตามฝ่ามือ จนถึงบริเวณกลางฝ่ามือ จากนั้นนับ 1 ถึง 5 ทำซ้ำ 3 รอบ รอบละ 10 ครั้ง
    • ท่าเทน้ำ เอามือกำกระป๋องหรืออาจจะกำมือเปล่า ๆ ก็ได้ จากนั้นให้เหยียดแขนตรง แล้วทำท่าเทน้ำ นับ 1 ถึง 5 และยกกระป๋องขึ้น นับ 1 ถึง 5 ทำซ้ำ 3 รอบ รอบละ 10 ครั้ง
    • ท่าบีบลูกบอล ให้บีบลูกบอลยาง นับ 1 ถึง 5 ทำซ้ำ 3 รอบ รอบละ 10 ครั้ง


  2. ในรายที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อลดแรงกดที่กระทำต่อเส้นประสาทมีเดียน
เอกสารอ้างอิง
  1. Zaralieva A, Georgiev GP, Karabinov V, Iliev A, Aleksiev A. Physical Therapy and Rehabilitation Approaches in Patients with Carpal Tunnel Syndrome. Cureus. 2020;12(3):e7171.
  2. Mayo clinic staff. Carpal tunnel syndrome [Internet]. [cited 2020 Sep 2]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/carpal-tunnel-syndrome/symptoms-causes/syc-20355603
  3. National institute of neurological disorders and stroke. Carpal tunnel syndrome facts sheet [Internet]. [cited 2020 Sep 2]. Available from: https://www.ninds.nih.gov/Disorders/Patient-Caregiver-Education/Fact-Sheets/Carpal-Tunnel-Syndrome-Fact-Sheet

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.