Knowledge Article


โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อ อีโคไล (E. coli)


บทความโดย คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
136,959 View,
Since 2011-06-12
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/26o29dc2
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

อุบัติการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วง จากเชื้อแบคทีเรียอีโคไลในทวีปยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน แล้วระบาดไปยังสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประทศ จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ทำให้มีประชาชนกว่าสองพันรายเจ็บป่วย อีกทั้งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 24 ราย นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าพบผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโคไลอีกสายพันธุ์หนึ่งเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นบ้างแล้ว สำหรับในประเทศไทยแล้วยังไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ที่พบในเยอรมณีเกิดขึ้น แต่เราลองมาทำความรู้จักกับเชื้อชนิดนี้กันบ้างจะได้ระมัดระวังสุขภาพกันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่วิตกกังวลจนเกินไป ตลอดจนสามารถรับมือกับเชื้อได้อย่างเหมาะสม

อีโคไลมีชื่อเต็มๆว่า เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli)  เป็นเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นที่พบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์เลือดอุ่นทั่วไป จึงตรวจพบได้จากอุจจาระในปริมาณมาก โดยปกติอีโคไลประจำถิ่นเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อโรค แต่อาจฉวยโอกาสก่อโรคในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ดังนั้น จึงอาจเป็นปัญหาการติดเชื้อในโรงพยาบาล ทว่า อีโคไลในลำไส้มีประโยชน์ต่อมนุษย์เพราะช่วยสร้างวิตามินเค เป็นต้น

อีโคไลชนิดก่อโรค

อีโคไลที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงในคนสามารถจำแนกได้เป็นกลุ่มต่างๆ ตามลักษณะการก่อโรค ซึ่งแต่ละกลุ่มประกอบด้วยเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติในการก่อโรคแตกต่างกัน สามารถสร้างสารพิษและปัจจัยในการก่อโรคแตกต่างกัน  ซึ่งเชื้อจะก่อโรคได้เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยการกินอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้ออีโคไลเหล่านี้เข้าไป ได้แก่

เอนเทอโรท็อกซิเจนิก อีโคไล  (Enterotoxigenic E. coli)  สายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการท้องร่วงในทารก  ในคนเดินทางไปต่างถิ่น สร้างสารพิษเอนเทอโรท็อกซินที่ทำให้มีอาการท้องร่วงเป็นน้ำซาวข้าวคล้ายอหิวาตกโรค

 เอนเทอโรเพโทเจนิก อีโคไล  (EnteropathogenicE. coli) สายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงในทารก สร้างสารพิษที่ทำลายเซลล์คล้ายสารพิษชิกาจากเชื้อบิดซิเจลลา (Shiga like toxin)

เอนเทอโรเอกกริเกทีฟ อีโคไล  (Enteroaggregative E. coli)  เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงแบบเรื้อรังในเด็กทารกบางรายมีอาการอุจจาระร่วงนานกว่า 14 วัน และทำให้ถึงตาย

เอนเทอโรอินเวซีบ อีโคไล  (Enteroinvasive E. coli)   สายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการคล้ายบิดจากเชื้อซิเจลลา แต่มักไม่เข้าสู่กระแสเลือด

เอนเทอโรฮีโมเรจิกอีโคไล  (Enterohemorrhagic E.coli)สายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงอาจมีเลือดปน  อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ได้  อาเจียน  สร้างสารพิษที่ทำลายเซลล์ ที่เรียกว่าสารพิษชิกา (Shiga toxin) และสารพิษคล้ายชิกา (Shiga-like toxin) ซึ่งเป็นสารพิษจากเชื้อบิดซิเจลลา (Shigella)  

Shiga-toxin producing Escherichia coli (STEC)

เชื้ออีโคไลที่กำลังระบาดในเยอรมณีในปัจจุบัน จัดอยู่ในกลุ่ม เอนเทอโรฮีโมเรจิกอีโคไล  ซึ่งสร้างสารพิษชิกา เรียกว่า  Shiga-toxin producing Escherichia coli (STEC)เชื้ออีโคไลกลุ่มนี้ ปัจจุบันพบแล้วมากกว่า 100 โอซีโรไทป์  ซึ่งสายพันธุ์ที่พบระบาดบ่อย คือ ซีโรไทป์ O157:H7  แต่เชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนี้ คือ  ซีโรไทป์ O104:H4   ซึ่งมีความรุนแรงมากอาการทีพบในผู้ป่วยได้แก่ อาการปวดท้อง  ถ่ายเหลว  ถ่ายเป็นเลือด  อาจมีไข้แต่ไข้ไม่สูง (ต่ำกว่า 38.3 องศาเซลเซียส)  อาเจียน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรักษาหายได้ใน 5-7 วัน  ผู้ป่วยบางรายเช่นเด็กเล็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนมีเม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย (Haemorrhagic uremic syndrome, HUS) ภายหลังอาการท้องร่วงหนึ่งสัปดาห์ มีอาการอ่อนเพลียมาก ผิวหนังซีดเพราะภาวะเลือดจาง อาจทำให้เสียชีวิตได้ อัตราการตายสูงประมาณร้อยละ  5    ผู้ป่วยบางรายมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท  เช่น ช็อกหมดสติได้  พบว่าเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิด จึงต้องเลือกใช้ยาที่ยังมีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้ออย่างถูกต้อง

กลไกการเกิดโรค

เชื้อสามารถสร้างสารพิษชิกา ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น2 กลุ่ม คือ Shiga toxin 1 (STX1) และ Shiga toxin 2 (STX2)   นอกจากนั้น เชื้อสร้างโปรตีนอินติมิน (Intimin)  ซึ่งเชื้อใช้ในการเกาะติดกับเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ และสร้างสารพิษชนิดเอนเทอโรฮีโมลัยซิน (enterohaemolysin) ซึ่งมีผลต่อภาวะเม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย

การป้องกันการติดเชื้อ

เชื้ออีโคไล ก่อโรคได้โดยการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน เชื้อเข้าไป เท่านั้น  และเชื้อนี้ฆ่าได้ด้วยความร้อน  ดังนั้นจึงป้องกันการติดเชื้อได้โดยการรับประทานอาหารปรุงสุก  ส่วนผัก ผลไม้ ต่างๆ ต้องล้าง ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง  หรือแช่ผัก ผลไม้ในน้ำด่างทับทิม น้ำส้มสายชู 

ยาล้างผักแช่ทิ้งไว้ ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ก็จะสามารถชะล้างเชื้อจุลินทรีย์ทุกชนิดที่ปนเปื้อนได้

เอนเทอโรฮีโมเรจิกอีโคไลทุกซีโรทัยป์ยังไม่พบระบาดในประเทศไทย แม้ว่าจะสามารถตรวจพบสายพันธุ์ O157:H7  ในผู้ป่วยอาการท้องร่วงได้บ้างก็ตาม  ดังนั้น การดูแลสุขอนามัยโดยเฉพาะการดื่มน้ำ อาหารที่สะอาด ปรุงสุก ตลอดจนอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหารให้ผู้อื่น  สามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นได้  และที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ  เพราะจนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่สามารถพบแหล่งที่มาของเชื้อ

 

........  บริโภคผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไทย  ..........จะปลอดภัยทุกคน

บทความโดย : รศ. ดร. จันทร์เพ็ญ  วิวัฒน์


ภาควิชาจุลชีววิทยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.