Knowledge Article


หน้ากากอนามัยกับโควิด-19


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.abc.net.au/news/image/12025892-3x2-700x467.jpg
9,436 View,
Since 2020-04-02
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2pq5dzdz
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) หรือโคโรน่าไวรัส-2019 หน้ากากอนามัย (Face mask) เป็นหนึ่งในเครื่องมือป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask หรือ Medical mask) ทั่วโลก รวมถึงมีข้อแนะนำที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดความสับสนว่าในสถานการณ์ของการระบาดของเชื้อนี้ประชาชนที่ไม่มีอาการป่วยใดๆ ควรหรือไม่ควรใส่หน้ากากอนามัย หากควร ควรใส่หน้ากากแบบใดและอย่างไร

วิธีการแพร่กระจาย (Mode of transmission) ของเชื้อโควิด-19

เชื้อโควิด-19 สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ (Respiratory transmission) ได้จากการสูดเอาฝอยละอองของเชื้อ (Droplet) ที่มีอนุภาค 5-10 ไมครอน ที่มีอยู่ในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก เสมหะ น้ำลาย ของผู้ที่มีเชื้อ โดยฝอยละอองนี้จะสามารถแพร่จากการอยู่ใกล้ๆ ผู้ที่มีเชื้อ(ระยะ 1 เมตร) นอกจากนั้นเชื้อยังสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งเหล่านั้นแล้วนำมาสัมผัสบริเวณ จมูก ปากและตา (Contact transmission)1

ชนิดของหน้ากากอนามัย (Face mask)
  1. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask หรือ Medical mask)2,3 การใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์อย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากฝอยละอองขนาดใหญ่ (Large-particle droplets) ไม่ให้เข้าสู่ปากและจมูกของผู้ใส่ นอกจากนั้นยังจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำมูก น้ำลายของผู้ใส่ (ซึ่งอาจมีเชื้อโรค) กระเด็นออกไปโดนหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น อย่างไรก็ตามแผ่นกรองของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก เช่น เชื้อโรคบางชนิด รวมถึงเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้นช่องว่างระหว่างหน้ากากและผิวหน้าซึ่งไม่ได้แนบกันสนิทจะทำให้อนุภาคเล็กๆ และเชื้อโรคยังคงผ่านหน้ากากเข้ามาได้

  2. หน้ากากอนามัยชนิด N952,3 ( ตัว N ย่อมาจาก "not resistant to oil" คือ ไม่ทนต่อน้ำมัน และ 95 หมายถึง ความสามารถในกรองฝุ่นละอองที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 0.3 ไมครอนได้ไม่น้อยกว่า 95%) หน้ากากชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการกรองสูงกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ โดยสามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าได้ นอกจากนี้ยังเป็นหน้ากากที่เมื่อใส่แล้วจะแนบสนิทกับใบหน้า ในการใส่หน้ากากชนิดนี้จะต้องใส่ให้ถูกวิธีโดยจะต้องมีการทำ Fit test ซึ่งเป็นการทดสอบการแนบสนิทของหน้ากากกับใบหน้าซึ่งถ้าแนบสนิทจะไม่มีการรั่วของลมหายใจ ทั้งนี้การใส่หน้ากาก N95 ที่ไม่ถูกวิธีจะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลง อย่างไรก็ตามในการใส่หน้ากากชนิดนี้จะทำให้หายใจลำบาก จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพบางอย่าง ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากชนิดนี้ในประชาชนทั่วไปโดยแนะนำให้ใช้ในบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากชนิด N95 พบว่าทั้งสองชนิดเหมือนกันในแง่ที่ กันน้ำได้ (fluid resistant) ควรใช้ครั้งเดียวและไม่นำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ร่วมกับผู้อื่น3 อย่างไรก็ตามในแง่ของประสิทธิภาพ พบว่าหน้ากากชนิด N95 สามารถป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์แต่เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในแง่ของการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไวรัส พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน4,5

ประชาชนที่ไม่มีอาการป่วย ควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์หรือไม่

ในปัจจุบันหลายประเทศในเอเซีย6,7 เช่น จีน ฮ่องกง รวมถึงประเทศไทยได้มีข้อแนะนำให้ประชาชนไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่มีอาการป่วยใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน หรือ เมื่อต้องไปในที่ชุมชนหนาแน่น อย่างไรก็ตามข้อแนะนำในประเทศตะวันตก3,8-10 เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์การอนามัยโลก11 กล่าวคือ ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีสุขภาพดี (ไม่ป่วย) ใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยยืนยันว่าการใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจรวมถึงการติดเชื้อโควิด-19 (ข้อสังเกต: คำว่ายังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพมีความหมายแตกต่างจากคำว่าพบหลักฐานยืนยันว่าไม่มีประสิทธิภาพ) นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งที่หน่วยงานต่างๆ ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในประชาชนที่มีสุขภาพดี/ไม่มีอาการ คือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์สำหรับบุคลากรสาธารณสุข2

แม้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในประชากรทั่วไปซึ่งไม่มีอาการ ยังมีจำกัด แต่ในกรณีของการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีลักษณะพิเศษกล่าวคือผู้ที่ติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้แล้ว ดังนั้นถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ การให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เมื่อออกจากบ้านจึงน่าจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในชุมชนได้ 12,13 โดยเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวมากกว่าจะเป็นการป้องกันตัวผู้ที่ใส่หน้ากากจากการติดเชื้อจากผู้อื่น นอกจากนั้นข้อดีของการที่ให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน คือทำให้ลดความรังเกียจผู้ที่ใส่หน้ากาก เพราะทุกๆ คนใส่หน้ากากเหมือนๆ กัน12,14 อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ควรมีการจัดหาและกระจายหน้ากากดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีความจำเป็นอย่างมากให้มีใช้อย่างเพียงพอก่อน รวมถึงควรมีการจัดหาให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องใช้ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ก่อนที่จะจัดหาให้กับประชากรทั่วไป

ประชาชนที่ไม่มีอาการป่วย ถ้าหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่ได้ จะใส่หน้ากากผ้าแทนได้หรือไม่?

ในปัจจุบันการศึกษาถึงประสิทธิภาพของหน้ากากผ้าในการป้องกันการติดเชื้อยังมีจำกัด โดยมีเพียง 1 การศึกษาที่ทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อระหว่างการใช้หน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ซึ่งทำการศึกษาในบุคลากรทางสาธารณสุขที่ทำงานในโรงพยาบาล15 ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ต่ำกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และไม่ควรนำมาใช้ในบุคลการสาธารณสุข นอกจากนี้การศึกษายังพบว่าหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพน้อยมากในการกรองอนุภาคที่ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน16 โดยประสิทธิภาพของหน้ากากผ้ายังมีความหลากหลายขึ้นกับชนิดของผ้าที่นำมาทำหน้ากาก17

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่มีการระบาดและมีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากากผ้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนซึ่งมีราคาไม่แพงและหาได้ไม่ยาก ทั้งนี้แม้ข้อมูลที่มีจำกัดจะระบุว่าหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ใส่จากการติดเชื้อจากผู้อื่นได้น้อยกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่การใส่หน้ากากผ้าก็ยังสามารถป้องกันการแพร่กระจายละอองเชื้อจากผู้ใส่ไปยังผู้อื่นได้ดีกว่าการไม่ใส่18 ดังนั้นในกรณีที่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขาดแคลน การให้ประชาชนที่ไม่มีอาการใดๆ (ซึ่งอาจติดเชื้อโควิด-19) ใส่หน้ากากผ้าเมื่อต้องออกจากบ้านโดยเฉพาะเมื่อต้องไปในที่ชุมชนหนาแน่น จึงน่าจะเป็นการช่วยลดการแพร่กระจายของโรคได้อีกวิธีหนึ่ง

สรุปข้อแนะนำในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
  1. บุคลกากรสาธารณสุข ควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  2. ผู้ที่มีอาการป่วย และผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือหน้ากากผ้า (หากไม่สามารถหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้) เพื่อป้องกันการแพร่/ติดเชื้อ
  3. หน้ากากชนิด N95 ควรใช้เฉพาะในบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น
  4. หากไม่มีการขาดแคลน การให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เมื่อต้องออกจากบ้านโดยเฉพาะเมื่อต้องไปในที่ชุมชนหนาแน่น น่าจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการขาดแคลน ควรมีการกระจายหน้ากากให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติงาน รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังให้มีใช้อย่างเพียงพอก่อน
  5. ในกรณีที่มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ประชาชนที่ไม่มีอาการควรใส่หน้ากากผ้าเมื่อต้องออกจากบ้านโดยเฉพาะเมื่อต้องไปในที่ชุมชนหนาแน่น เพื่อลดการแพร่เชื้อให้กับผู้อี่นโดยไม่รู้ตัว
  6. การใส่และถอดหน้ากากอนามัยควรทำอย่างถูกวิธีดังนี้
    • ก่อนใส่ต้องล้างมือด้วยน้ำสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือถ้าไม่มีให้ใช้น้ำยาที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60%
    • เวลาใส่ต้องใส่ให้ครอบคลุมปากและจมูกและไม่มีช่องว่างระหว่างหน้ากับหน้ากาก
    • ขณะสวมใส่ไม่เอามือไปแตะหน้ากากหากแตะต้องไปล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาที่มีแอลกอฮอล์
    • ถ้าหน้ากากชื้น หรือ ฉีกขาดให้เปลี่ยนใหม่
    • ขณะถอดไม่ให้เอามือมาจับด้านหน้าของหน้ากากและเมื่อถอดเสร็จแล้วนำไปทิ้งในภาชนะปิดทันทีแล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาที่มีแอลกอฮอล์
  7. การใส่หน้ากากอย่างเดียวยังไม่เพียงพอเพราะเชื้อโควิด-19 ยังสามารถแพร่กระจายจากการสัมผัส ดังนั้นจึงควรล้างมือบ่อยๆ ควบคู่ไปกับการใส่หน้ากาก
  8. การล้างมือต้องล้างอย่างถูกวิธี โดยล้างนานอย่างน้อย 20 วินาที หรือนานเท่ากับการร้องเพลง Happy Birthday 2 รอบ ดังตัวอย่างในคลิป https://www.nhs.uk/video/pages/how-to-wash-hands.aspx
เอกสารอ้างอิง
  1. WHO. Modes of transmission of virus causing COVID-19: implications for IPC precaution recommendations 2002 [Available from: https://www.who.int/news-room/commentaries/detail/modes-of-transmission-of-virus-causing-covid-19-implications-for-ipc-precaution-recommendations accessed 1 April 2020.
  2. Desai AN, Mehorata P. Medical mask. JAMA 2020
  3. USFDA. N95 Respirators and surgical masks (face masks) [Available from: https://www.fda.gov/medical-devices/personal-protective-equipment-infection-control/n95-respirators-and-surgical-masks-face-masks accessed 31 March 2020
  4. Long Y, Hu T, Liu L, et al. Effectiveness of N95 respirators versus surgical masks against influenza: A systematic review and meta-analysis. J Evid Based Med 2020;Mar 13. doi: doi: 10.1111/jebm.12381
  5. Offeddu V, Yung CF, Fong Low MS, et al. Effectiveness of masks and respirators against respiratory infections in healthcare workers: A systematic review and meta-analysis. Clinical Infectious Diseases 2017;65(1):1934-42.
  6. State Council C. Guidelines for the selection and use of different types of masks for preventing new coronavirus infection in different populations 2020 (in Chinese) 2020 [Available from: http://www.gov.cn/xinwen/2020-02/05/content_5474774.htm accessed 30 March 2020.
  7. The Department of Health HK. Guidelines on prevention of coronavirus disease 2019 (COVID-19) for the general public. 2020 [Available from: https://www.chp.gov.hk/files/pdf/nid_guideline_general_public_en.pdf accessed 30 March 2020.
  8. CDC. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19): steps to prevent illness 2020 [Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/about/preventiontreatment.html. accessed 30 March 2020.
  9. Federal Ministry of Health G. Daily updates on the coronavirus: is wearing a surgical mask, as protection against acute respiratory infections, useful for members of the general public? 2020 [Available from: https://www.bundesgesundheitsministerium.de/en/press/2020/coronavirus.html accessed 30 March 2020.
  10. Service NH. Are face masks useful for preventing coronavirus? 2020 [Available from: https://www.nhs.uk/conditions/coronavirus-covid-19/commonquestions/ accessed 30 March 2020.
  11. WHO. WHO Coronavirus disease (COVID-19) advice for the public: When and how to use masks 2020 [Available from: https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/advice-for-public/when-and-how-to-use-masks accessed 31 March 2020.
  12. Feng S, Shen C, Xia N, et al. Rational use of face maks in the COVID-19 Pandemic. Lancet Respir Med 2020;March 20, doi: https://doi.org/10.1016/S2213-2600(20)30134-X
  13. Leung CC, Lam TH, Chen KK. Mass masking in the COVID-10 epidemic: people need guidance. Lancet Respir Med 2020 doi: https://doi.org/10.1016/S0140-6736(20)30520-1
  14. Teasdale E, Santer M, Geraghty AW, et al. Public perceptions of non-pharmaceutical interventions for reducing transmission of respiratory infection: systematic review and synthesis of qualitative studies. BMC Public Health 2014;14(589)
  15. MacIntyre CR, Seale H, Dung TC, et al. A cluster randomised trial of cloth masks compared with medical masks in healthcare workers. BMJ Open 2015:e006577.
  16. Shakya KM, Noyes A, Kallin R, et al. Evaluating the efficacy of cloth facemasks in reducing particulate matter exposure. J Expo Sci Environ Epidemiol 2017;27(3):352-57.
  17. Rengasamy S, Eimer B, Shaffer RE. Simple respiratory protection—evaluation of the filtration performance of cloth masks and common fabric materials against 20-1000 nm size particles. Ann Occupat Hyg 2010;54:789-98.
  18. Davies A, Thompson K, Giri K, et al. Testing the Efficacy of Homemade Masks: WouldThey Protect in an Influenza Pandemic? Disaster Medicine and Public Health Preparedness 2013 doi: CJO 2013 doi:10.1017/dmp.2013.43
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.