Knowledge Article


จริงหรือไม่ วัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลสูงกว่าวัดที่บ้าน


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://cimg.pchome.co.th/prods/053/760/3041905376066_s_0.jpg?uid=e8c96f8d0d95a5a944837b0abe58cf00
58,634 View,
Since 2019-12-26
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/27yfr8oz
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินคนไข้ที่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลบ่นว่า “ทำไมวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลสูงกว่าวัดที่บ้านทุกที” ภาวะที่วัดความดันฯ ที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขอื่น ๆ แล้วได้ค่าที่สูงกว่าวัดนอกสถานที่เหล่านี้ ทางการแพทย์เรียกว่าภาวะ White coat hypertension

White coat hypertension คือ ภาวะความดันโลหิตสูงเพราะกลัวชุดสีขาวของแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ทำให้เมื่อวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลสูงกว่าวัดที่บ้าน พบในคนไข้ประมาณ 30-40% สาเหตุส่วนใหญ่อาจเกิดจาก คนไข้เกิดความเครียด วิตกกังวล ประหม่า หรือตื่นเต้นกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย สภาพของโรงพยาบาลที่มีคนไข้แออัดพลุกพล่าน เสียงดังจ้อกแจ้กจอแจ หรือต้องรอคิวพบแพทย์เป็นเวลานานทำให้เกิดความเครียดโดยที่คนไข้เองอาจไม่รู้ตัว และเมื่อวัดความดันฯ แล้วพบว่าสูง ก็จะเครียดมากขึ้น เมื่อวัดซ้ำแล้วความดันก็ยังไม่ลง ก็ยิ่งเครียดหนักขึ้นไปอีก ภาวะ White coat hypertension ในคนไข้แต่ละรายจะให้ผลแตกต่างกัน ในคนไข้บางราย อาจทำให้ความดันตัวบน (Systolic blood pressure) เพิ่มขึ้นถึง 30 มม.ปรอท



ภาพจาก : https://sicklecellanemianews.com/wp-content/uploads/2019/09/shutterstock_584338777-300x200@2x.jpg

ความดันโลหิตสูง คือ มีความดันตัวบนสูงกว่า 140 มม.ปรอท และ/หรือ ความดันตัวล่าง (Diastolic blood pressure) สูงกว่า 90 มม.ปรอท โดยทั่วไประดับความดันโลหิตที่วัดได้ที่บ้านจะต่ำกว่าวัดในโรงพยาบาลประมาณ 5 มม.ปรอท ดังนั้นเมื่อวัดความดันที่บ้านได้ค่าความดันตัวบนสูงกว่า 135 มม.ปรอท และ/หรือ ความดันตัวล่างสูงกว่า 85 มม.ปรอท จะถือว่ามีความดันโลหิตสูง

ตรงกันข้ามกับ White coat hypertension คือภาวะที่วัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลพบว่ามีค่าปกติ (น้อยกว่า 140/90 มม.ปรอท) แต่เมื่อวัดที่บ้านกลับมีค่าสูง (สูงกว่า 135/85 มม.ปรอท) ภาวะเช่นนี้เรียกว่า Masked hypertension ซึ่งพบประมาณ 15-30% มักพบในเพศชายโดยเฉพาะผู้ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กลุ่มคนที่ทำงานที่มีความเครียดสูง (เช่นตำรวจ แพทย์ คนขับรถแท็กซี่ ผู้บริหารระดับสูง) และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง

อย่างไรก็ตาม ภาวะ White coat hypertension และ Masked hypertension อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการมีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาเป็นโรคความดันโลหิตสูงที่แท้จริง และมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีความดันโลหิตปกติตลอดเวลา สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือมีแนวโน้มว่าจะเป็น แพทย์มักแนะนำให้คนไข้วัดความดันโลหิตเองที่บ้านควบคู่ไปกับการวัดที่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังและให้ได้ค่าความดันโลหิตที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังในการวัดความดันโลหิตเองที่บ้าน คือเครื่องวัดความดันโลหิตที่ใช้นั้น ต้องเชื่อถือได้และการวัดต้องทำอย่างถูกวิธี เครื่องวัดความดันแบบวัดที่ต้นแขนจะมีความแม่นยำกว่าแบบวัดที่ข้อมือหรือปลายนิ้ว ข้อแนะนำในการวัดความดันให้ได้ค่าที่ถูกต้อง คือ นั่งพักอย่างน้อย 5 นาทีก่อนทำการวัด วัดในท่านั่ง วางแขนบนโต๊ะ เท้าวางราบกับพื้น หลังพิงพนัก ไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่พูดคุยหรือเล่นโทรศัพท์มือถือขณะวัด ไม่ดื่มชาหรือกาแฟและไม่สูบบุหรี่ก่อนทำการวัดย่างน้อย 30 นาที หากมีอาการปวดปัสสาวะควรปัสสาวะก่อน

โดยทั่วไป แพทย์แนะนำให้วัดความดันโลหิตวันละ 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้าและช่วงเย็นหรือค่ำ ช่วงเช้าควรวัดภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน หลังจากเข้าห้องน้ำเรียบร้อยแล้ว ก่อนรับประทานอาหารเช้า และยังไม่ได้รับประทานยาลดความดันโลหิต (กรณีที่ได้รับยาลดความดันฯ) ช่วงค่ำควรวัดก่อนเข้านอน โดยแต่ละช่วงวัดอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 นาที จดบันทึกค่าและหาค่าเฉลี่ยในแต่ละวัน สำหรับผู้ที่พบแพทย์และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดี อาจวัดในช่วง 4-7 วันก่อนพบแพทย์ครั้งถัดไปโดยไม่จำเป็นต้องวัดทุกวัน ในบางกรณี หากคนไข้เกิดความเครียดและวิตกกังวลเพราะยิ่งวัดยิ่งสูง หรือวัดซ้ำแล้วค่าไม่ลดลง แพทย์อาจแนะนำให้หยุดวัดความดันฯ เองที่บ้าน เพราะทำให้เกิดผลเสียต่อคนไข้มากกว่าผลดี

โดยสรุปผู้ที่วัดความดันโลหิตเองที่บ้านแล้วพบว่ามีค่าสูงหรือต่ำกว่าที่วัดได้ที่โรงพยาบาล ก็ไม่ควรวิตกกังวลหรือนิ่งนอนใจ ไม่ควรหายาลดความดันโลหิตมารับประทานเอง ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง ทางที่ดีที่สุดคือไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง
  1. Franklin SS, Thijs L, Hansen TW, O’Brien E, Staessen JA. White-Coat Hypertension. Hypertension. 2013;62:982–987
  2. Huang Y, Huang W, Weiyi Mai W, Cai X, An D, Liu Z, Huang H, Zeng J, Hu Y, Xu D. White-coat hypertension is a risk factor for cardiovascular diseases and total mortality. J Hypertens. 2017;35(4):677–688
  3. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/expert-answers/white-coat- hypertension/faq-20057792
  4. ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ศุภชัย ไชยธีระพันธ์, แนวทางการรักษาโรความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป, พ.ศ. 2562 (2019 Thai Guidelines on The Treatment of Hypertension) สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.