Knowledge Article


ยาลดไขมัน...ผลไม่พึงประสงค์ต่อกล้ามเนื้อ


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://sandrarose.com/images29/mr-olympia-549x487.jpg
196,767 View,
Since 2019-11-29
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2at7efj6
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

“ยาลดไขมัน” ในที่นี้หมายถึงยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (statins) ตัวอย่างยา เช่น ซิมวาสแตติน (simvastatin), พราวาสแตติน (pravastatin), ฟลูวาสแตติน (fluvastatin), อะทอร์วาสแตติน (atorvastatin), โรซูวาสแตติน (rosuvastatin), พิทาวาสแตติน (pitavastatin) ยาเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจและสมองขาดเลือดในผู้ที่มีเคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อน หรือผู้ที่มีภาวะแอลดีแอล-โคเลสเตอรอล(LDL-cholesterol) ในเลือดสูงมาก แต่ยานี้มีผลไม่พึงประสงค์ต่อกล้ามเนื้อจนอาจทำให้ผู้ใช้ยาบางรายเกิดความกังวลหรือเลิกใช้ยา จึงขอให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว

ภาพจาก : https://img.webmd.com/dtmcms/live/webmd/consumer_assets/site_images/article_thumbnails/video/

incremental_rhabdomyolysis_video/650x350_incremental_rhabdomyolysis_video.jpg


ยาในกลุ่มสแตตินมีประโยชน์อย่างไร?
ไขมันในเลือดอาจอยู่ในรูปกรดไขมันอิสระและโคเลสเตอรอลอิสระ หรืออยู่ในรูปที่จับกับสารอื่นเป็นไตรกลีเซอร์ไรด์ (triglycerides) และไลโพโปรตีน (lipoproteins) ซึ่งไลโพโปรตีนมีทั้งไตรกลีเซอร์ไรด์ โคเลสเตอรอล โปรตีนและสารอื่นรวมอยู่ด้วยกัน การมีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) ซึ่งหมายถึงการมีภาวะไขมัน (รวมถึงโคเลสเตอรอล) ในเลือดสูง จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) และหลอดเลือดตีบตัน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ยาในกลุ่มสแตตินมีฤทธิ์ลดโคเลสเตอรอลในเลือดจึงลดความเสี่ยงต่ออันตรายดังกล่าว นอกจากนี้ยาในกลุ่มสแตตินยังอาจมีฤทธิ์อย่างอื่นที่ช่วยส่งเสริมการลดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและหลอดเลือดตีบตัน เช่น ช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือด ตลอดจนช่วยทำให้เซลล์บุหลอดเลือดทำหน้าที่ดีขึ้น


ยาในกลุ่มสแตตินลดโคเลสเตอรอลได้อย่างไร?
การสร้างโคเลสเตอรอลที่ตับต้องอาศัยเอนไซม์ที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่งคือ เอชเอ็มจี-โคเอ รีดักเทส (HMG-CoA reductase หรือ hydroxy-methylglutaryl-coenzyme A reductase) ยาในกลุ่มสแตตินมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าว จึงยับยั้งการสร้างโคเลสเตอรอล ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดลดลง


ผลไม่พึงประสงค์ของยาในกลุ่มสแตติน
โดยรวมถือว่ายาในกลุ่มสแตตินค่อนข้างปลอดภัย ผลไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงพบได้น้อย ผลไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ รบกวนการทำงานของตับและไต


ยาในกลุ่มสแตตินทำให้เกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อได้อย่างไร?
ยาในกลุ่มสแตตินอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นปวดกล้ามเนื้อ (ที่กล่าวในหัวข้อ “ผลไม่พึงประสงค์ของยาในกลุ่มสแตติน”) กดเจ็บ ตึง ไม่มีแรง หรืออื่น ๆ อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการใช้ยา เช่น การปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ อุบัติเหตุ การบาดเจ็บหรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ปัจจุบันยังไม่ทราบชัดเจนว่ายาในกลุ่มสแตตินทำให้เกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อได้อย่างไร คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมที่มีความแตกต่างของยีนบางชนิด หรือเกิดจากฤทธิ์ยาที่ขัดขวางการสร้างพลังงานในเซลล์กล้ามเนื้อ โดยยาอาจทำอันตรายโดยตรงต่อไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ซึ่งเป็นแหล่งสร้างพลังงานในเซลล์ หรือเป็นผลมาจากการยับยั้งเอนไซม์เอชเอ็มจี-โคเอ รีดักเทสที่ใช้สร้างโคเลสเตอรอล (ที่กล่าวในหัวข้อ “ยาในกลุ่มสแตตินลดโคเลสเตอรอลได้อย่างไร?”) ทำให้ขาดสารบางอย่างรวมถึงโคเอนไซม์คิว 10 (coenzyme Q10 หรือ CoQ10) ซึ่งเป็นสารที่พบในไมโตคอนเดรียและทำหน้าที่ในกระบวนการสร้างพลังงาน นอกจากนี้ผลเสียต่อกล้ามเนื้ออาจเกิดจากปฏิกิริยาทางระบบภูมิคุ้มกัน


ผลเสียต่อกล้ามเนื้อเนื่องจากยาในกลุ่มสแตตินจะเริ่มเกิดเมื่อไร?
การเกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อที่เนื่องจากยาในกลุ่มสแตตินไม่อาจระบุได้ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร โดยทั่วไปพบได้ในช่วงประมาณ 1 เดือนหลังจากเริ่มใช้ยาหรือหลังจากปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น แต่อาจเกิดล่าช้ากว่านั้น จากข้อมูลที่ผ่านมาอาจเกิดได้แม้ใช้ยาไปแล้วเกือบ 10 ปี ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ใช้ยามานานแล้วโดยไม่มีปัญหาต่อกล้ามเนื้อนั้นไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว


ผลเสียต่อกล้ามเนื้อเนื่องจากยาในกลุ่มสแตตินเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่?
ผลเสียต่อกล้ามเนื้อที่เกิดจากยาในกลุ่มสแตติน อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อ กดเจ็บ ตึง เกร็ง เกิดตะคริว ไม่มีแรง อาการเหล่านี้อาจเกิดเพียงเล็กน้อยจนแทบไม่รู้สึกถึงความผิดปกติและหายไปเองได้หลังใช้ยาไประยะหนึ่ง หรือตรงกันข้ามคืออาการอาจเพิ่มความรุนแรงขึ้น ถึงขั้นเจ็บปวดกล้ามเนื้อจนทนไม่ได้ ร่วมกับมีปัสสาวะสีเข้ม เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (rhabdomyolysis) ซึ่งเป็นอันตรายมากและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะเมื่อเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายจะมีการปลดปล่อยอิเล็กโทรไลต์และโปรตีนต่าง ๆ รวมถึงเอนไซม์สู่กระแสเลือด เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงและเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นอันตราย ผู้ที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายจะมีระดับเอนไซม์ครีเอทีนไคเนส (creatine kinase) ในเลือดสูงเกินขีดจำกัดของค่าปกติอย่างมาก (กว่า 40 เท่า) และพบโปรตีนจากกล้ามเนื้อในปัสสาวะ (myoglobinuria) ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและอาจเสียชีวิตได้


ปัจจัยส่งเสริมการเกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อเนื่องจากยาสแตติน
มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งเสริมการเกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อจากยาสแตติน เช่น

  • การใช้ยาในขนาดสูงและการใช้เป็นเวลานาน จะมีโอกาสเกิดได้มากกว่าการใช้ยาขนาดต่ำในช่วงเวลาที่สั้นกว่า
  • ผู้ที่ใช้ยา มีอายุมากกว่า 80 ปี หรือมีโครงร่างเล็ก ผอมบาง หรือขี้โรค
  • ผู้ที่เป็นโรคไต
  • ผู้ที่ขาดวิตามินดี
  • ผู้ที่บริโภคผลไม้ตระกูลส้มเปลือกหนา (grapefruits) เป็นประจำ เพราะในน้ำผลไม้ดังกล่าวมีสารที่ยับยั้งการเปลี่ยนสภาพยาในกลุ่มสแตติน ทำให้ยาถูกกำจัดได้ช้าลง จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อ
  • การใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีผลเสียต่อกล้ามเนื้อด้วยเช่นกัน เช่น เอเซ็ตทิไมบ์ (ezetimibe), วอริโคนาโซล (voriconazole), เลฟลูโนไมด์ (leflunomide), ไซโดวูดีน (zidovudine), ยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ ( glucocorticoids) ซึ่งยาเหล่านี้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แตกต่างกันไป
  • การใช้ร่วมกับยาอื่นที่ยับยั้งการเปลี่ยนสภาพยาในกลุ่มสแตตินได้ เช่นใช้ร่วมกับยายับยั้งเอนไซม์ในกลุ่มไซโทโครมพี 450-3A4 (CYP3A4 inhibitors) ตัวอย่างยาเช่น คลาริโทรไมซิน (clarithromycin), อีรีโทรไมซิน (erythromycin), ฟลูโคนาโซล (fluconazole), คีโทโคนาโซล (ketoconazole), อะทาแซนาเวียร์ (atazanavir), โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir) ยาเหล่านี้ทำให้ยาในกลุ่มสแตตินถูกกำจัดได้ช้าลง จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อ

 

คำแนะนำในการใช้ยา
ยาทุกชนิดล้วนมีผลไม่พึงประสงค์ทั้งสิ้น การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลไม่พึงประสงค์ของยาจะช่วยให้ผู้ใช้ยามีความระมัดระวังมากขึ้น และไม่ทำให้เกิดความหวาดวิตกจนเกินไป ซึ่งยาในกลุ่มสแตตินให้ประโยชน์ในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่มีเหตุจากหัวใจและสมองขาดเลือด ส่วนการเกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อที่รุนแรงจากยาพบได้น้อย จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังถือว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยาในกลุ่มสแตติน ผู้ที่ใช้ยาควรเอาใจถึงความผิดปกติต่อกล้ามเนื้อที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดขึ้นโดยหาสาเหตุไม่ได้ หรือมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อรุนแรงอย่างเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์ผู้ให้การรักษาโดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลานัดในครั้งต่อไป


เอกสารอ้างอิง

  1. Newman CB, Preiss D, Tobert JA, Jacobson TA, Page RL 2nd, Goldstein LB, et al. Statin safety and associated adverse events: a scientific statement from the American Heart Association. Arterioscler Thromb Vasc Biol 2019; 39:e38-e81.
  2. Akimoto H, Negishi A, Oshima S, Okita M, Numajiri S, Inoue N, et al. Onset timing of statin-induced musculoskeletal adverse events and concomitant drug-associated shift in onset timing of MAEs. Pharmacol Res Perspect 2018. doi: 10.1002/prp2.439. Accessed: November 2019.
  3. Oddis CV. Myopathy for the general internist: statins and much more. Cleve Clin J Med 2019; 86:656-64.
  4. Ward NC, Watts GF, Eckel RH. Statin toxicity: mechanistic insights and clinical implications. Circ Res 2019; 124:328-50.
  5. Selva-O'Callaghan A, Alvarado-Cardenas M, Pinal-Fernández I, Trallero-Araguás E, Milisenda JC, Martínez MÁ, et al. Statin-induced myalgia and myositis: an update on pathogenesis and clinical recommendations. Expert Rev Clin Immunol 2018; 14:215-24.
  6. Tramacere I, Boncoraglio GB, Banzi R, Del Giovane C, Kwag KH, Squizzato A, et al. Comparison of statins for secondary prevention in patients with ischemic stroke or transient ischemic attack: a systematic review and network meta-analysis. BMC Med 2019. doi: 10.1186/s12916-019-1298-5. Accessed: November 2019.
  7. Sharma U. Statin-induced delayed rhabdomyolysis. BMJ Case Rep 2019. doi: 10.1136/bcr-2019-231125. Accessed: November 2019.
  8. Tournadre A. Statins, myalgia, and rhabdomyolysis. Joint Bone Spine 2019. doi: 10.1016/j.jbspin.2019.01.018. Accessed: November 2019.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.