Knowledge Article


ยาลดไขมันในเลือด : ตอนยาลดไตรกลีเซอไรด์


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://i.guim.co.uk/img/media/aba7346047b85465c79b4d34b1bbcf25ff159658/0_0_5155_3093/master/5155.jpg?width=1200&height=900&quality=85&auto=format&fit=crop&s=9f19eafdafdc2ab3cbc3b9a0587ca2e6
39,863 View,
Since 2022-05-31
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/24msuama
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันในเลือดชนิดหนึ่ง ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงอาจเกิดโดยลำพังหรือเกิดร่วมกับการมีโคเลสเตอรอลสูง ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็งได้เช่นเดียวกับการมีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง การมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากยังอาจทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้ การเลือกใช้ยาลดไตรกลีเซอไรด์ชนิดใดขึ้นกับว่าภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเกิดโดยลำพังหรือเกิดร่วมกับการมีโคเลสเตอรอลสูง และระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมากหรือน้อยเพียงใด ยาที่ใช้มากเป็นยาในกลุ่มสแตติน (statins) และกลุ่มไฟเบรต (fibrates) ซึ่งยากลุ่มสแตตินเป็นยาลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลที่มีฤทธิ์ลดไตรกลีเซอไรด์ได้ด้วย ในขณะที่ยากลุ่มไฟเบรตเป็นยาลดไตรกลีเซอไรด์ที่มีฤทธิ์ลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลได้ด้วย ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับไขมันในเลือด ภาวะที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงและผลเสียต่อร่างกาย ยาต่าง ๆ ที่ใช้ลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด การออกฤทธิ์ของยาเหล่านั้นและผลไม่พึงประสงค์ พร้อมทั้งข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

ไขมันในเลือด

ไขมันในเลือดมีทั้งกรดไขมัน (fatty acid), ฟอสโฟลิพิด (phospholipid), ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) และโคเลสเตอรอล (cholesterol) ไขมันเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในร่างกายจึงต้องมีในปริมาณที่เพียงพอ ไขมันในเลือดอาจอยู่ในรูปอิสระหรืออยู่เป็นอนุภาคไลโพโปรตีน (lipoprotein) ร่วมกับสารอื่น การอยู่ในรูปไลโพโปรตีนช่วยให้ไขมันซึ่งไม่ละลายน้ำสามารถเคลื่อนที่ไปในกระแสเลือดได้ โปรตีนที่อยู่ในอนุภาคไลโพโปรตีนเรียกว่าอะโปไลโพโปรตีน (apolipoprotein) ซึ่งอะโปไลโพโปรตีนและฟอสโฟลิพิด (โครงสร้างของฟอสโฟลิพิดมีทั้งส่วนที่ชอบน้ำและไม่ชอบน้ำ) อยู่รอบนอกของอนุภาคไลโพโปรตีน โดยมีโคเลสเตอรอลอิสระซึ่งละลายน้ำได้เล็กน้อยร่วมอยู่รอบนอกนี้ด้วย ส่วนแกนของอนุภาคไลโพโปรตีนมีโคเลสเตอรอลในรูปเอสเทอร์และไตรกลีเซอไรด์ อะโปไลโพโปรตีนแบ่งเป็นหลายชนิด ตัวอย่างเช่น อะโปไลโพโปรตีนเอ-I หรืออะโปเอ-1 (apolipoprotein A-I หรือ apoA1) เป็นโปรตีนในโครงสร้างของอนุภาคไลโพโปรตีนชนิดเอชดีแอล (มีกล่าวต่อไป), อะโปไลโพโปรตีนบี-100 หรืออะโปบี-100 (apolipoprotein B-100 หรือ apoB100) เป็นโปรตีนในโครงสร้างของอนุภาคไลโพโปรตีนชนิดแอลดีแอลและวีแอลดีแอล (มีกล่าวต่อไป) ไลโพโปรตีนแต่ละชนิดมีส่วนประกอบที่เป็นไขมันและโปรตีนในปริมาณแตกต่างกัน (ดูตารางที่ 1) ทำให้แบ่งไลโพโปรตีนตามความหนาแน่นจากน้อยที่สุด (ในส่วนประกอบมีปริมาณไขมันมากที่สุดและมีโปรตีนน้อยที่สุด) ไปสู่ความหนาแน่นมากที่สุด (ในส่วนประกอบมีปริมาณไขมันน้อยที่สุดและมีโปรตีนมากที่สุด) ออกเป็นดังนี้ (1) ไคโลไมครอน หรือไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำมากสุด หรือยูแอลดีแอล (chylomicron หรือ ultra low-density lipoprotein หรือ ULDL) ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ที่มาจากอาหาร จากลำไส้เล็กไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ (2) ไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำมาก หรือวีแอลดีแอล (very low density lipoprotein หรือ VLDL) สร้างจากตับและมีไตรกลีเซอไรด์ปริมาณมากเช่นกัน (3) ไลโพโปรตีนความหนาแน่นปานกลาง หรือไอดีแอล (intermediate density lipoprotein หรือ IDL) ซึ่งเกิดจากวีแอลดีแอลที่สูญเสียไตรกลีเซอไรด์ พบในเลือดช่วงเวลาสั้น (4) ไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำหรือแอลดีแอล (low density lipoprotein หรือ LDL) ซึ่งเกิดจากวีแอลดีแอลที่สูญเสียไตรกลีเซอไรด์เช่นกัน และ (5) ไลโพโปรตีนความหนาแน่นสูง หรือเอชดีแอล (high density lipoprotein หรือ HDL) ซึ่งสร้างที่ตับ (เป็นส่วนใหญ่) และลำไส้เล็ก



ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเกิดจากสาเหตุใด?

ไตรกลีเซอไรด์พบมากในเนื้อเยื่อไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมาจากอาหาร (รวมอยู่ในไคโลไมครอน) และสร้างขึ้นที่ตับ (รวมอยู่ในไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำมากหรือวีแอลดีแอล) ทั้งไคโลไมครอน (มีไตรกลีเซอไรด์ 83-90%) และวีแอลดีแอล (มีไตรกลีเซอไรด์ 50-70%) จัดเป็นไลโพโปรตีนชนิดที่มีไตรกลีเซอไรด์มาก (triglyceride-rich lipoproteins) ค่าปกติของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดในผู้ใหญ่ควรต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (การเปลี่ยนเป็นหน่วย มิลลิโมล/ลิตร ให้หารด้วย 88.57) ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงอาจเกิดจากการได้รับมาจากอาหารมากเกินไป หรือตับสร้างไตรกลีเซอไรด์ในรูปวีแอลดีแอลมากเกินไป หรือเกิดจากความผิดปกติในกระบวนการสลายไขมันของเนื้อเยื่อ หรือเกิดจากความผิดปกติในกระบวนการกำจัดไตรกลีเซอไรด์และไลโพโปรตีนชนิดที่มีไตรกลีเซอไรด์มาก ตลอดจนเกิดจากโรคบางอย่าง (เช่น โรคทางพันธุกรรมที่ขาดเอนไซม์ไลโพโปรตีนไลเปส, โรคเบาหวาน, โรคอ้วน, โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, โรคภูมิต้านตนเองบางชนิด) หรือเกิดจากการใช้ยาบางอย่าง (เช่น ยาพวกคอร์ติโคสเตียรอยด์, ยาขับปัสสาวะ, ยาฮอร์โมนกลุ่มเอสโตรเจน, ยาต้านโรคจิต, ยายับยั้งตัวรับเบตา, ยาต้านรีโทรไวรัส) หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในการกำจัดไลโพโปรตีนชนิดที่มีไตรกลีเซอไรด์มาก (ทั้งไคโลไมครอนและวีแอลดีแอล) คือไลโพโปรตีนไลเปส (lipoprotein lipase) เอนไซม์นี้ยังมีส่วนทำให้ไลโพโปรตีนทั้งหลายจับกับตัวรับได้ดีจึงช่วยในการนำไลโพโปรตีนเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ไลโพโปรตีนไลเปสจึงมีบทบาทในการทำให้ไตรกลีเซอไรด์และแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดลดลง แต่เอนไซม์นี้ถูกยับยั้งด้วยโปรตีนบางชนิด เช่น อะโปไลโพโปรตีน-ซี 3 (apolipoprotein C-III หรือ apolipoprotein C3 หรือ APOC3), แองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 (angiopoietin-like protein 3 หรือ ANGPTL3) โปรตีนเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างที่ตับ นอกจากมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไลโพโปรตีนไลเปสแล้ว โปรตีนเหล่านี้ยังทำให้ตับสร้างไลโพโปรตีนชนิดที่มีไตรกลีเซอไรด์มากออกสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้หากโปรตีนเหล่านี้ทำงานมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงได้ ดังนั้นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหรือการทำงานของโปรตีนดังกล่าวจึงมีศักยภาพในการรักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงที่มีสาเหตุมาจากการทำงานที่มากเกินไปของโปรตีนเหล่านี้

ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงส่งผลเสียอย่างไร?

ไขมันในเลือดชนิดหลักที่มีการวัดระดับเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียต่อร่างกาย คือ แอลดีแอล-โคเลสเตอรอล (LDL-cholesterol หรือโคเลสเตอรอลที่ติดไปกับไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ), เอชดีแอล-โคเลสเตอรอล (HDL-cholesterol หรือโคเลสเตอรอลที่ติดไปกับไลโพโปรตีนความหนาแน่นสูง) และไตรกลีเซอไรด์ เป็นที่ทราบกันว่าการมีแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดสูงทำให้ให้ผนังหลอดเลือดแดงอักเสบและเกิดการสะสมของไขมัน (มีทั้งโคเลสเตอรอล โคเลสเตอรอลเอสเทอร์และฟอสโฟลิพิด) ร่วมกับเซลล์เม็ดเลือดขาว แคลเซียมและเนื้อเยื่อเส้นใย เกิดเป็น “atherosclerotic plaque” (รูปที่ 1) ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงนูนและเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง จนอาจเป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงตีบและอุดตันได้ ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคสมองและโรคของอวัยวะส่วนปลายที่มีสาเหตุจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งการขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตฉับพลันได้ ความเสี่ยงดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการมีแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดสูงเท่านั้น ในผู้ที่ควบคุมระดับแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลได้แล้วหากยังมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงความเสี่ยงดังกล่าวยังคงหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะหากเกิดร่วมกับการมีเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลในระดับต่ำ เช่น มีระดับไตรกลีเซอไรด์เกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และมีเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (การเปลี่ยนเป็นหน่วย มิลลิโมล/ลิตร ให้หารด้วย 38.67 ไม่ว่าโคเลสเตอรอลในอนุภาคไลโพโปรตีนชนิดใด) ซึ่งค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดปกติควรต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร, หากมีระดับ 150-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ก้ำกึ่งที่จะสูง (borderline-high triglyceride level), หากมีระดับ 200-499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง และหากมีระดับตั้งแต่ 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูงมาก (เป็นการแบ่งตาม Adult Treatment Panel III guidelines) การมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็งแล้ว ยังอาจทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้ ซึ่งอาการที่เด่นชัดคือ ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ผลเลือดพบค่าเอนไซม์อะไมเลส (amylase) และไลเปส (lipase) ในสูงมาก



ยาลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

ในการรักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไม่ว่าจะมีโคเลสเตอรอลสูงร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม ควรเริ่มด้วยวิธีการไม่ใช้ยา โดยเฉพาะการปรับพฤติกรรมด้านการบริโภคอาหาร ควรลดอาหารที่มีปริมาณไขมันมาก อาหารทอด อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง อาหารหวาน เครื่องดื่มหรือน้ำผลไม้รสหวาน เปลี่ยนการบริโภคอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวเป็นอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เพิ่มอาหารที่มีกรดไขมันโอเมกา-3 (เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่หลายอัน) นอกจากนี้ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ควรลดน้ำหนักลงให้ได้ 5-10% และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามเกณฑ์ หากระดับไตรกลีเซอไรด์ยังลดไม่ได้ตามเป้าหมายจึงใช้ยาร่วมไปกับการรักษาแบบไม่ใช้ยา ยาที่ใช้มีดังกล่าวข้างล่างนี้ (รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบยา ความแรง วิธีใช้ และผลไม่พึงประสงค์ ดูในตารางที่ 2)

  1. ยากลุ่มสแตติน (statins) หรือเรียกตามการออกฤทธิ์ว่ายายั้บยั้งเอชเอ็มจี-โคเอ รีดักเทส (HMG-CoA reductase inhibitors หรือ 3-hydroxy-3-methyl-glutaryl-coenzyme A reductase inhibitors) ซึ่งเอชเอ็มจี-โคเอ รีดักเทส เป็นเอนไซม์ที่ใช้ในขั้นตอนการสังเคราะห์โคเลสเตอรอล ยากลุ่มนี้นอกจากมีฤทธิ์ลดโคเลสเตอรอลแล้วยังลดไตรกลีเซอไรด์ด้วย ตัวอย่างยา เช่น โลวาสแตติน (lovastatin), ซิมวาสแตติน (simvastatin), พราวาสแตติน (pravastatin), ฟลูวาสแตติน (fluvastatin), อะทอร์วาสแตติน (atorvastatin), โรซูวาสแตติน (rosuvastatin), พิทาวาสแตติน (pitavastatin) มีการศึกษาพบว่ายาซิมวาสแตติน, อะทอร์วาสแตตินและโรซูวาสแตตินในขนาดสูงลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ 40-50% ยาในกลุ่มนี้ใช้เมื่อมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงไม่ถึง 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ร่วมกับมีแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลสูง ไม่เหมาะที่จะใช้หากมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงตั้งแต่ 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป และไม่ใช้ในกรณีที่ภาวะที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงโดยลำพัง ประสิทธิภาพในการลดไตรกลีเซอไรด์ (รวมถึงลดวีแอลดีแอล-โคเลสเตอรอล) จะสัมพันธ์กับฤทธิ์ลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอล กล่าวคือยาที่ลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดได้ดีที่สุดจะลดไตรกลีเซอไรด์และวีแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดได้มากที่สุดด้วย นอกจากนี้ยังขึ้นกับระดับไตรกลีเซอไรด์เมื่อเริ่มต้น หากมีระดับสูงยาจะให้ผลดี โดยทั่วไปยาที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้น เช่น ซิมวาสแตติน, พราวาสแตติน, ฟลูวาสแตติน, โลวาสแตติน (ยกเว้นทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดทยอยปลดปล่อยยาซึ่งออกฤทธิ์ได้นาน) จะแนะนำให้รับประทานในตอนค่ำหรือก่อนนอนจะให้ผลดีในการลดโคเลสเตอรอล (ยานี้ใช้ลดไตรกลีเซอไรด์ในผู้ที่มีโคเลสเตอรอลสูงร่วมด้วย จึงคำนึงถึงประเด็นนี้ด้วย) เนื่องจากการสังเคราะห์โคเลสเตอรอลเกิดมากตอนกลางคืนในขณะท้องว่าง
  2. ยากลุ่มอนุพันธ์กรดไฟบริก (fibric acid derivatives) หรือกลุ่มไฟเบรต (fibrates) ตัวอย่างเช่น ฟีโนไฟเบรต (fenofibrate), เบซาไฟเบรต (bezafibrate), เพมาไฟเบรต (pemafibrate), ซิโพรไฟเบรต (ciprofibrate), เจมไฟโบรซิล (gemfibrozil) ยาที่มีใช้ในแต่ละประเทศมีแตกต่างกัน ยากลุ่มนี้นอกจากมีฤทธิ์ดีในการลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดแล้ว ยังลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลได้ อีกทั้งยังเพิ่มเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลได้เล็กน้อย ยามีประสิทธิภาพสูงในการลดไตรกลีเซอไรด์ซึ่งอาจลดได้ถึง 50% ใช้กับภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงที่เกิดโดยลำพัง (ไม่มีภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูง) หรือใช้ร่วมกับใช้ยาในกลุ่มสแตตินในผู้ที่มีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงร่วมกับการมีโคเลสเตอรอลสูง ซึ่งยาในกลุ่มสแตตินเพียงอย่างเดียวให้ผลไม่เพียงพอในลดไตรกลีเซอไรด์ให้ถึงระดับที่ต้องการ ฟีโนไฟเบรตถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ไม่ดี การทำตัวยาให้มีอนุภาคขนาดเล็กมาก (micronized particle หรือ nanoparticle) หรือการทำในรูปเกลือโคลีน ได้แก่ โคลีนฟีโนไฟเบรต (choline fenofibrate) จะเพิ่มการดูดซึมยาจากทางเดินอาหาร ฟีโนไฟเบรตชนิดที่ตัวยาถูกดูดซึมได้ดีจะใช้ยาในขนาดต่ำ 40-67 มิลลิกรัม ในขณะที่ขนาดยามาตรฐานคือ 120-200 มิลลิกรัม
  3. ไนอะซิน (niacin) และอนุพันธ์ไนอะซิน (หรือกรดนิโคตินิก หรือวิตามินบี 3) และอนุพันธ์ของไนอะซิน เช่น อะคิพิม็อกซ์ (acipimox) มีฤทธิ์ลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและเพิ่มเอชดีแอล-โคเลสเตอรอล อีกทั้งยังลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลได้ด้วย ซึ่งไนอะซินขนาด 1,500 มิลลิกรัมหรือสูงกว่านี้ลดไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างน้อย 40% และเพิ่มเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลได้ไม่น้อยกว่า 40% ยาในกลุ่มนี้มีผลไม่พึงประสงค์ค่อนข้างมาก รวมถึงผลไม่พึงประสงค์ต่อตับและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะการใช้ยาไนอะซินในขนาดสูง ยาในกลุ่มนี้จึงใช้เป็นยาทางเลือกเมื่อไม่อาจใช้ยาอื่น
  4. ยากลุ่มกรดไขมันโอเมกา-3 (omega-3 fatty acids) กรดไขมันโอเมกา-3 ชนิดที่นำมาใช้ คือ eicosapentaenoic acid ที่มีความบริสุทธิ์สูงมากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยา ตัวอย่างยา เช่น ไอโคซาเพนต์เอทิล (icosapent ethyl มีชื่ออื่น เช่น ethyl eicosapentaenoic acid, E-EPA, ethyl icosapentate) ยานี้เป็นเอทิลเอสเทอร์ของ eicosapentaenoic acid มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จากลำไส้และลดการสังเคราะห์ที่ตับ มีผลไม่พึงประสงค์น้อยกว่ายาอื่นที่ใช้ลดไตรกลีเซอไรด์ ใช้เป็นยาเสริมร่วมกับการรักษาแบบไม่ใช้ยา (เช่น การปรับพฤติกรรมด้านการบริโภคอาหาร) เพื่อใช้ลดภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่สูงมาก (ตั้งแต่ 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป) และใช้เสริมกับยากลุ่มสแตตินในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคจากหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งใช้ยากลุ่มสแตตินในขนาดสูงแล้วแต่ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดยังมีระดับตั้งแต่ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป
  5. ยาใหม่ ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าเอนไซม์ไลโพโปรตีนไลเปสมีบทบาทในการกำจัดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด แต่เอนไซม์นี้ถูกยับยั้งด้วยโปรตีนบางชนิด เช่น อะโปไลโพโปรตีน-ซี 3, แองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 ด้วยเหตุนี้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนเหล่านี้จึงมีศักยภาพในการรักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงที่มีสาเหตุมาจากการทำงานที่มากเกินไปของโปรตีนเหล่านี้ ตัวอย่างยาที่มีฤทธิ์ดังกล่าว เช่น โวลาเนซอร์เซน (volanesorsen ยานี้ออกฤทธิ์เป็น antisense oligonucleotide inhibitor) มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างอะโปไลโพโปรตีน-ซี 3 มีใช้แล้วในบางประเทศเพื่อรักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง, อีวินาคูแมบ (evinacumab) ยานี้เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี (ชนิด human IgG4 monoclonal antibody) ที่ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับแองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 จึงยับยั้งการทำงานของโปรตีนนี้ ยานี้มีใช้แล้วในบางประเทศเพื่อรักษาภาวะโคเลสเตอรอลสูงจากพันธุกรรม (ชนิด homozygous familial hypercholesterolemia) เมื่อใช้ยาอันดับแรกแล้วให้ผลการรักษาไม่เพียงพอ แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้รักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
ยาออกฤทธิ์ลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้อย่างไร?

ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงอาจเกิดจากการได้รับทางอาหารมากเกินไป หรือตับสร้างวีแอลดีแอลมากเกินไป หรือเกิดจากความผิดปกติในกระบวนการสลายไขมันของเนื้อเยื่อ หรือเกิดจากความผิดปกติในกระบวนการกำจัดไตรกลีเซอไรด์และไลโพโปรตีนชนิดที่มีไตรกลีเซอไรด์มาก ยาลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กล่าวมา ดังนี้
  1. ยับยั้งการดูดซึมไตรกลีเซอไรด์จากลำไส้ เช่น ไอโคซาเพนต์เอทิล (ยานี้ลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลจากลำไส้ด้วย)
  2. ลดการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ที่ตับ ส่งผลทำให้ตับสร้างวีแอลดีแอลลดลง โดยการออกฤทธิ์ดังนี้

    -- ยับยั้งเอนไซม์ diacylglycerol acyltransferase 2 (DGAT2) ซึ่งเอนไซม์นี้ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ เช่น ไนอะซิน, ไอโคซาเพนต์เอทิล

    -- เพิ่มการใช้กรดไขมัน โดยเพิ่มการเกิดเบตา-ออกซิเดชัน (beta-oxidation) ทำให้มีกรดไขมันที่เข้าสู่ตับเพื่อนำไปสร้างไตรกลีเซอไรด์น้อยลง เช่น ยากลุ่มไฟเบรต, ไอโคซาเพนต์เอทิล

    -- ยับยั้งการปล่อยกรดไขมันจากเนื้อเยื่อไขมัน โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไตรกลีเซอไรด์ไลเปส (triglyceride lipase) ทำให้มีกรดไขมันที่เข้าสู่ตับเพื่อนำไปสร้างไตรกลีเซอไรด์น้อยลง เช่น ไนอะซิน, อะคิพิม็อกซ์, เจมไฟโบรซิล
  3. เพิ่มตัวรับแอลดีแอล (LDL receptor) ที่ตับ ซึ่งแม้ว่าตัวรับชนิดนี้จะช่วยในการกำจัดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลเป็นส่วนใหญ่ แต่ช่วยกำจัดวีแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลได้ด้วย เช่น ยากลุ่มสแตติน
  4. เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ไลโพโปรตีนไลเปส ซึ่งเอนไซม์นี้มีบทบาทสำคัญในการกำจัดไลโพโปรตีนชนิดที่มีไตรกลีเซอไรด์มาก (ไคโลไมครอนและวีแอลดีแอล) โดยยาออกฤทธิ์ดังนี้

    -- เพิ่มการสร้างเอนไซม์ไลโพโปรตีนไลเปส โดยออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับในนิวเคลียสของเซลล์ตับ (ตัวรับชนิด peroxisome proliferator activated receptor-alpha เป็นส่วนใหญ่) เช่น ยากลุ่มไฟเบรต (ไอโคซาเพนต์เอทิลอาจออกฤทธิ์เช่นเดียวกันนี้)

    -- ลดการสร้างอะโปไลโพโปรตีน-ซี 3 ซึ่งโปรตีนนี้มีฤทธิ์ยับยั้งไลโพโปรตีนไลเปส เช่น ยากลุ่มไฟเบรต, ไนอะซิน, โวลาเนซอร์เซน

    -- ยั้บยั้งแองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 ซึ่งโปรตีนนี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไลโพโปรตีนไลเปส เช่น อีวินาคูแมบ ยานี้ใช้สำหรับรักษาภาวะโคเลสเตอรอลสูงจากพันธุกรรม (ชนิด homozygous familial hypercholesterolemia) แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้กับภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงตามที่กล่าวแล้วข้างต้น
ผลไม่พึงประสงค์ของยาลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

ผลไม่พึงประสงค์ของยาลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่อาจพบ เช่น รบกวนทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ ปั่นป่วนท้อง ท้องเดิน), เกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อ (ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนล้า กล้ามเนื้อลายสลาย), ผลเสียต่อตับ, การแพ้ยา (รวมถึงส่วนประกอบอื่นในตำรับ) หากเกิดการแพ้ยาชนิดใดจะห้ามใช้ยานั้นอีก ผลไม่พึงประสงค์ของยาแต่ละกลุ่มดูเพิ่มเติมได้ในตารางที่ 2

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดดังนี้
  1. ก่อนเริ่มการรักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงด้วยยา ควรเริ่มด้วยวิธีการไม่ใช้ยา (ดังกล่าวข้างต้น) หากได้ผลไม่เพียงพอจึงใช้ยาร่วมด้วย (ควบคู่ไปกับการรักษาโดยไม่ใช้ยา)
  2. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคจากหลอดเลือดแดงแข็ง ควรลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย ให้ความร่วมมือในการรักษาโรคอื่นที่เป็นอยู่ และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรคุมระดับน้ำตาลให้ได้ เพื่อการได้รับประโยชน์สูงสุดจากยาลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
  3. ผลิตภัณฑ์ฟีโนไฟเบรตที่มีจำหน่าย หากตัวยามีขนาดอนุภาคแตกต่างกัน จะใช้ขนาดยาไม่เท่ากัน จึงไม่อาจใช้ทดแทนกันด้วยขนาดยาที่เท่ากัน
  4. เวลาที่เหมาะสมสำหรับการรับประทานยาแต่ละชนิดอาจแตกต่างกัน ยาบางอย่างถูกดูดซึมดีหากรับประทานพร้อมอาหาร เช่น โลวาสแตติน, ฟีโนไฟเบรต ในขณะที่ยาบางอย่างหรือยาบางรูปแบบควรรับประทานขณะท้องว่าง เช่น เจมไฟโบรซิล, โลวาสแตตินชนิดทยอยปลดปล่อยยา หรือยาบางชนิดสามารถรับประทานพร้อมหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ เช่น ฟีโนไฟเบรตที่ตัวยามีอนุภาคขนาดเล็ก, ยาในรูปเกลือโคลีน (โคลีนฟีโนไฟเบรต) นอกจากนี้ยาในกลุ่มสแตตินชนิดที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้น ควรรับประทานในตอนค่ำหรือก่อนนอนซึ่งจะให้ผลดีในการลดโคเลสเตอรอล (ยาในกลุ่มนี้ใช้ลดไตรกลีเซอไรด์ในผู้ที่มีโคเลสเตอรอลสูงร่วมด้วย)
  5. ยากลุ่มสแตติน, ยากลุ่มไฟเบรต และไนอะซิน ล้วนมีผลไม่พึงประสงค์ต่อกล้ามเนื้อและตับ โดยเฉพาะหากมีการใช้ยาเป็นเวลานานหรือใช้ยาร่วมกัน จึงควรเข้ารับการตรวจร่างกายตามนัดทุกครั้ง แม้ไม่ใช่การตรวจวัดระดับไขมันในเลือด
  6. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง นอกจากยาที่กล่าวไว้ข้างต้นยังมียาอื่นอีกหลายอย่างที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงได้ หากมีข้อสงสัยใดเกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่สามารถสอบถามข้อมูลจากเภสัชกรได้
เอกสารอ้างอิง
  1. 1. Hill MF, Bordoni B. Hyperlipidemia, updated August 11, 2021. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK559182/. Accessed: May 10, 2022.
  2. Feingold KR. Introduction to lipids and lipoproteins, updated January 19, 2021. In: Feingold KR, Anawalt B, Boyce A, Chrousos G, de Herder WW, Dhatariya K, et al., editors. Endotext. South Dartmouth (MA): MDText.com, Inc.; 2000-. Accessed: May 10, 2022.
  3. Cox RA, Garc?a-Palmieri MR. Cholesterol, triglycerides, and associated lipoproteins. In: Walker HK, Hall WD, Hurst JW, editors. Clinical Methods: The History, Physical, and Laboratory Examinations, 3rd edition. Boston: Butterworths; 1990. Chapter 31. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK351/. Accessed: May 10, 2022.
  4. Thompson TE. Lipid. In: Encyclopedia Britannica, February 21, 2020. https://www.britannica.com/science/lipid. Accessed: May 10, 2022.
  5. Virani SS, Morris PB, Agarwala A, Ballantyne CM, Birtcher KK, Kris-Etherton PM, et al. 2021 ACC Expert Consensus Decision Pathway on the management of ASCVD risk reduction in patients with persistent hypertriglyceridemia: a report of the American College of Cardiology Solution Set Oversight Committee. J Am Coll Cardiol 2021; 78:960-93.
  6. Rosenson RS, Eckel RH. Hypertriglyceridemia in adults: management. https://www.uptodate.com/contents/hypertriglyceridemia-in-adults-management. Accessed: May 10, 2022.
  7. Ruscica M, Ferri N, Santos RD, Sirtori CR, Corsini A. Lipid lowering drugs: present status and future developments. Curr Atheroscler Rep 2021. doi: 10.1007/s11883-021-00918-3. Accessed: May 10, 2022.
  8. Akoumianakis I, Zvintzou E, Kypreos K, Filippatos TD. ANGPTL3 and apolipoprotein C-III as novel lipid-lowering targets. Curr Atheroscler Rep 2021. doi: 10.1007/s11883-021-00914-7. Accessed: May 10, 2022.
  9. Feingold KR. Triglyceride lowering drugs, updated April 1, 2021. In: Feingold KR, Anawalt B, Boyce A, Chrousos G, de Herder WW, Dhatariya K, et al., editors. Endotext. South Dartmouth (MA): MDText.com, Inc.; 2000–. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK425699/. Accessed: May 10, 2022.
  10. Djadjo S, Bajaj T. Niacin, updated March 28, 2022. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan–. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK541036/. Accessed: May 10, 2022.
  11. Borén J, Taskinen MR. Metabolism of triglyceride-rich lipoproteins. Handb Exp Pharmacol 2022; 270:133-56.
  12. Sweeney MET, Khardori R. Hypertriglyceridemia, updated Jul 23, 2021. https://emedicine.medscape.com/article/126568-overview. Accessed: May 10, 2022.
  13. Simha V. Management of hypertriglyceridemia. BMJ 2020. doi: 10.1136/bmj.m3109. Accessed: May 10, 2022.
  14. Laufs U, Parhofer KG, Ginsberg HN, Hegele RA. Clinical review on triglycerides. Eur Heart J 2020; 41:99-109c.
  15. Xu J, Ashjian E. Treatment of hypertriglyceridemia: a review of therapies in the pipeline. J Pharm Pract 2021. doi: 10.1177/08971900211053489. Accessed: May 10, 2022.
  16. Wolska A, Yang ZH, Remaley AT. Hypertriglyceridemia: new approaches in management and treatment. Curr Opin Lipidol 2020; 31:331-9.
  17. Ahmad Z, Pordy R, Rader DJ, Gaudet D, Ali S, Gonzaga-Jauregui C, et al. Inhibition of angiopoietin-like protein 3 with evinacumab in subjects with high and severe hypertriglyceridemia. J Am Coll Cardiol 2021; 78:193-5.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.