Knowledge Article


ยายับยั้งการหลั่งกรด .… ผลเสียจากการใช้พร่ำเพรื่อ


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.stevegranthealth.com/wp-content/uploads/digestive-system-3-stomach.jpg
164,150 View,
Since 2019-07-26
Last active: 9m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


"ยายับยั้งการหลั่งกรด" ในบทความนี้หมายถึงยาที่ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตอนปั๊ม (proton pump inhibitors หรือ PPIs) เป็นยาที่ใช้กันมากในปัจจุบันเพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น โอเมพราโซล (omeprazole), เอสโซเมพราโซล (esomeprazole), แลนโซพราโซล (lansoprazole), เด็กซ์แลนโซพราโซล (dexlansoprazole), แพนโทพราโซล (pantoprazole), ราเบพราโซล (rabeprazole)

ประโยชน์ของ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)"

ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์แรงในการยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในการรักษาโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกรดในกระเพาะอาหาร เช่น รักษาโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease หรือ GERD) รักษาและควบคุมภาวะหลอดอาหารอักเสบมีแผล (erosive esophagitis) รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcers) รักษาโรคแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcers) รักษาและป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหารจากการใช้ยาบรรเทาอาการอักเสบในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID-induced ulcers) รักษาภาวะที่มีการหลั่งกรดมากเกิน (รวมถึงกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน หรือ Zollinger-Ellison syndrome) รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (Helicobacter pylori) โดยใช้ร่วมกับยาต้านจุลชีพ ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ยาเพื่อรักษาโรคหรือความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นมีแตกต่างกัน ควรใช้ตามระยะเวลาที่แนะนำไว้สำหรับแต่ละโรค เพราะการใช้เป็นเวลานานจะยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลเสียที่เกิดจากยา ซึ่งจะกล่าวต่อไป

กรดในกระเพาะอาหารมีความสำคัญอย่างไร?

ความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารมีความสำคัญหลายอย่าง กล่าวคือ ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร ช่วยปลุกฤทธิ์เอนไซม์ย่อยโปรตีน ช่วยในการดูดซึมสารอาหาร เช่น วิตามินบี 12 เหล็ก แคลเซียม เป็นต้น หากความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารลดน้อยลงไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดรวมถึงการใช้ยา โดยเฉพาะการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" ซึ่งมีฤทธิ์แรงมากในการยับยั้งการหลั่งกรด จะส่งผลกระทบต่อสิ่งที่กล่าวมาได้

ผลเสียจากการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" อย่างพร่ำเพรื่อ

การใช้อย่างพร่ำเพรื่อในที่นี้รวมไปถึงการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งครอบคลุมถึงการสั่งใช้ยาอย่างเกินขอบเขตของข้อบ่งใช้ การใช้เกินขนาด การใช้เป็นเวลานานเกินกว่าระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่แนะนำไว้สำหรับแต่ละโรค การซื้อยามาใช้เองโดยไม่ได้รับการแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น แม้ว่าโดยทั่วไปจะถือว่า "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" มีอาการไม่พึงประสงค์น้อยหากใช้ตามข้อบ่งใช้ในขนาดและระยะเวลาตามข้อแนะนำ อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อหรือไม่เหมาะสมและใช้ยาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียได้หลายอย่าง (ตามรูปด้านล่าง) เช่น ลดการดูดซึมสารอาหาร ลดการดูดซึมเหล็ก ลดการดูดซึมวิตามินบี 12 เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ เกิดภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำซึ่งจะรบกวนการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และระบบประสาท เพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกหัก (เกิดโรคกระดูกพรุน) เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม เกิดผลเสียต่อไต ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิดที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงยาจึงอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้หลายชนิด ด้วยเหตุนี้จึงควรหยุดการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ



แนวโน้มในการลดการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)"

ข้อมูลจากการศึกษาที่ปรากฏในเอกสารทางวิชาการพบว่า มีการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" อย่างพร่ำเพรื่อหรืออย่างไม่เหมาะสมกันเป็นจำนวนมากราว 40-70% (ขึ้นกับแต่ละการศึกษา) สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเสี่ยงต่อการได้รับผลเสียจากการใช้ยา รวมถึงการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้หลายชนิดซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการรักษาและอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากยาอื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาเป็นเวลานานตามที่กล่าวข้างต้น ขณะนี้ในหลายประเทศได้มีการทบทวนการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" ในข้อบ่งใช้ต่าง ๆ ตลอดจนมีข้อแนะนำถึงแนวทางในการพิจารณาปรับลดการใช้ยาในกลุ่มนี้ ทั้งการลดขนาดยา การลดระยะเวลาที่ใช้ยา การใช้ยาเป็นช่วงหรือการใช้ตามต้องการเมื่อจำเป็น และการหยุดใช้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง
  1. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่ม proton pump inhibitors: เภสัชวิทยาและบทบาททางคลินิก. สารคลังข้อมูลยา 2561; 20(3):2-18.
  2. Strand DS, Kim D, Peura DA. 25 years of proton pump inhibitors: a comprehensive review. Gut Liver 2017; 11:27-37.
  3. Targownik L. Discontinuing long-term PPI therapy: why, with whom, and how? Am J Gastroenterol 2018; 113:519-28.
  4. Corsonello A , Lattanzio F , Bustacchini S , Garasto S , Cozza A , Schepisi R , et al. Adverse events of proton pump inhibitors: potential mechanisms. Curr Drug Metab 2018; 19:142-54.
  5. Poly TN, Islam MM, Yang HC, Wu CC, Li YJ. Proton pump inhibitors and risk of hip fracture: a meta-analysis of observational studies. Osteoporos Int 2019; 30:103-14.
  6. Corsonello A, Lattanzio F. Cardiovascular and non-cardiovascular concerns with proton pump inhibitors: Are they safe? Trends Cardiovasc Med 2019; 29:353-60.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.