Knowledge Article


โรครองช้ำ


อาจารย์ ดร.กภ.ยิ่งรัก บุญดำ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://25ps4s470u1w12pt82hnh2yi-wpengine.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2015/08/Plantar-Fasciitis-Pain-Spots-Illustration-920x1024.jpg
162,793 View,
Since 2019-06-26
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/2dpdtmwu
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


หากใครเคยมีอาการปวดเสียวแปล๊บๆ บริเวณส้นเท้าขณะที่เริ่มเดินหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า ......ใช่แล้วค่ะนั่นคืออาการของโรครองช้ำตามภาษาชาวบ้านหรือโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบนั่นเอง บทความนี้ผู้เขียนจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับอาการของโรครองช้ำและวิธีการรักษากันค่ะ

พังผืดใต้ฝ่าเท้าหรือ plantar fascia คืออะไรและอยู่ตรงไหน ???

พังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar fascia) มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม โดยยอดของสามเหลี่ยมจะยึดติดกับกระดูกส้นเท้า (calcaneus) ส่วนฐานของสามเหลี่ยมจะแยกออกเป็น 5 แฉก ไปยึดติดกับนิ้วเท้าทั้งห้านิ้ว โดยพังผืดใต้ฝ่าเท้าจะมีความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร ทำหน้าที่ในการรองรับแรงกระแทกบริเวณฝ่าเท้า (shock absorption) รองรับอุ้งเท้าในแนวตามยาว (longitudinal arch) รองรับน้ำหนักตัว ช่วยพยุงโครงสร้างเท้าให้เหมาะสมในช่วงระยะ toe-off ของการเดิน (เป็นจังหวะที่นิ้วเท้าดันให้ขาไปข้างหน้าก่อนที่จะยกขาขึ้นเพื่อก้าวต่อ คล้ายๆ กับการเขย่งเท้า) และยังทำหน้าที่ปกป้องโครงสร้างที่อยู่ลึกต่อจากพังผืด นอกจากนี้บริเวณพังผืดยังมีเส้นประสาททอดผ่าน (medial calcaneal nerve) ทำให้สามารถรับรู้ความรู้สึกและความเจ็บปวดได้



โรครองช้ำหรือ plantar fasciitis คืออะไร ???

โรครองช้ำคืออาการอักเสบที่เกิดขึ้นกับพังผืดใต้ฝ่าเท้านั่นเอง โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดบริเวณส้นเท้าด้านในหรือตามแนวแถบของพังผืดในตอนเช้า อาการปวดจะมีลักษณะแปล๊บๆ เหมือนมีอะไรมาแทงบริเวณส้นเท้า หรือปวดแบบโดนของร้อน ทำให้เวลาที่วางส้นเท้าลงกับพื้นอาจมีอาการสะดุ้ง อาการปวดจะค่อยๆ เบาลงเมื่อเดินไปได้ 2-3 ก้าว และสามารถกลับมาปวดมากเหมือนเดิมได้ใหม่ หากยืนเป็นระยะเวลานานหรือลุกขึ้นจากการนั่งพักนานๆ และถ้าผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนท่าเดินเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดบริเวณส้นเท้า อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วยได้ เช่น เข่า สะโพก และหลัง การกระดกข้อเท้าหรือกระดกหัวแม่เท้าขึ้นสามารถเพิ่มอาการปวดได้ ภาวะพังผืดอักเสบมักจะพบได้บ่อยในคนอายุ 40-60 ปี โดยเพศหญิงมีโอกาสเกิดภาวะนี้มากกว่าเพศชายเล็กน้อย

สาเหตุของการเกิดโรครองช้ำ

เนื่องจากหน้าที่หลักของพังผืดใต้ฝ่าเท้าคือการรองรับแรงกระแทกต่อฝ่าเท้า และรองรับอุ้งเท้า โดยขณะที่เรายืนหรือเดิน น้ำหนักตัวจะตกลงบนฝ่าเท้า ทำให้อุ้งเท้าแบนราบกับพื้นมากขึ้น แรงที่ตกลงมายังฝ่าเท้าจะกระจายไปยังบริเวณหน้าเท้าและส้นเท้า ส่งผลให้พังผืดมีความตึงตัวมากขึ้น แต่หากแรงตึงตัวที่เกิดขึ้นมีมากเกินกว่าที่พังผืดจะรับได้ จะทำให้พังผืดได้รับความเสียหาย ซึ่งอาการของโรคไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยการบาดเจ็บจะค่อยๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อย จนเกิดการอักเสบหรือในกรณีร้ายแรงอาจเกิดการฉีกขาดในที่สุด

ปัจจัยที่ส่งผลให้มีแรงกระทำต่อพังผืดมากขึ้น
  1. น้ำหนักตัวที่เยอะเกินไป
  2. การออกกำลังกายบางชนิด เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิค
  3. การยืนหรือเดินนานเกินไป
  4. ลักษณะการใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
  5. โครงสร้างเท้า เช่น เท้าแบน อุ้งเท้าสูง ทำให้รูปแบบการเดินผิดปกติ
  6. ภาวะกระดูกงอกบริเวณกระดูกส้นเท้า
  7. ภาวะเอ็นร้อยหวายตึงตัว
  8. ไขมันบริเวณส้นเท้าฝ่อลีบเนื่องจากความเสื่อมตามอายุ
การรักษา
  1. การยืดกล้ามเนื้อ
    • กล้ามเนื้อน่อง โดยต้องยืดอย่างช้าๆ ด้วยแรงที่คงที่ ทำ 3 ช่วงเวลา/วัน 5 ครั้ง/ช่วงเวลา และ 15-20 วินาที/ครั้ง

      • ท่ายืน ยืนห่างกำแพงประมาณ 1 ฟุต โดยเอาฝ่ามือยันกำแพงไว้ จากนั้นให้ถอยเท้าข้างที่ต้องการยืดกล้ามเนื้อไปด้านหลัง ย่อเข้าข้างหน้าลงช้าๆ โดยให้ขาหลังเหยียดตรง และฝ่าเท้าทั้งสองข้างวางราบกับพื้น ย่อช้าๆ จนรู้สึกตึงบริเวณน่อง
      • ท่ายืนบนบันได ให้ยืนบนบันไดโดยใช้ปลายเท้า และค่อยๆ ปล่อยให้ส้นเท้าของขาข้างที่ต้องการยืดกล้ามเนื้อตกลงสู่บันไดขั้นล่างมากที่สุด ทำจนรู้สึกตึงบริเวณน่อง
      • ท่านั่ง เหยียดขาข้างที่ต้องการจะยืดกล้ามเนื้อไปข้างหน้า จากนั้นใช้ผ้าขนหนูคล้องบริเวณใต้ฝ่าเท้า และใช้มือทั้งสองข้างค่อยๆ ดึงผ้าขนหนูเข้าหาตัว ทำจนรู้สึกตึงบริเวณน่อง
    • พังผืดใต้ฝ่าเท้า

      ก่อนจะเริ่มลุกขึ้นเดิน ให้ใช้มือข้างหนึ่งจับบริเวณนิ้วเท้าทั้งห้าและทำการดันนิ้วเท้าเข้าหาหลังเท้าให้มากที่สุด จนฝ่าเท้าอยู่ในลักษณะแอ่นและตึง จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือหรือกำปั้นของมืออีกข้างกดและนวดบริเวณฝ่าเท้าจนทั่ว โดยนวดประมาณ15-20 วินาที/ครั้ง 3-5 ครั้งก่อนลุกขึ้นเดิน นอกจากนี้ยังสามารถใช้เท้าคลึงลูกบอลหรือขวดน้ำได้อีกด้วย ทำประมาณ 3-5 นาที 2 ครั้ง/วัน

  2. การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเท้า
    • การหยิบผ้าขนหนูด้วยนิ้วเท้า วางผ้าขนหนูผืนเล็กลงบนพื้น จากนั้นใช้นิ้วเท้าขยุ้มผ้าขนหนู ทำซ้ำ 10 ครั้ง 1-2 ครั้ง/วัน

  3. การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อลดการอักเสบและลดปวด ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy)หรือช็อคเวฟ (Shock-wave therapy)
  4. การใช้อุปกรณ์พยุงอุ้งเท้า (foot orthosis) เพื่อปรับอุ้งเท้าให้ปกติหรือรองรับแรงกระแทกต่อฝ่าเท้า
  5. การกินยาหรือฉีดยาลดปวดบริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า
  6. การผ่าตัด ในกรณีที่รักษาแบบ conservative มานานกว่า 9 เดือน แล้วไม่ได้ผล


เอกสารอ้างอิง
  1. Cornwell MW, McPoil TG. Plantar Fasciitis: Etiology and treatment. Journal of Orthopaedic & Sports Physical Therapy. 1999; 29(12):756-760.
  2. Orchard J. Plantar Fasciitis. BMJ. 2012; 345(e6603):35-40.
  3. Sonu P, Aman. Plantar Fasciitis. Indian Journal of Physiotherapy and Occupational Therapy. 2015; 9(1):54-58.
  4. https://www.ortho.wustl.edu/content/Education/3691/Patient-Education/Educational-Materials/Plantar-Fasciitis-Exercises.aspx
  5. https://www.mskcc.org/cancer-care/patient-education/plantar-fasciitis

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.