Knowledge Article


ไขมันทรานส์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภญ. ณัฏฐินี อนันตโชค
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://wellnesscures.files.wordpress.com/2013/05/saturated-trans-fat.jpg
38,244 View,
Since 2018-07-17
Last active: 7h ago
https://tinyurl.com/y9am74xc
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


[บทความเกี่ยวเนื่อง : กรดไขมันชนิดทรานส์ (Trans-fatty acids) ในอาหารทอดและขนมอบ]

กรดไขมันทรานส์ (trans fats, trans-unsaturated fatty acids, trans fatty acids) เป็นกรดไขมันที่มีพันธะคู่หนึ่งพันธะหรือมากกว่าหนึ่งพันธะมีสเตอริโอเคมีแบบทรานส์ไอโซเมอร์หรือมีสายไฮโดรคาร์บอนอยู่ตรงกันข้ามกันของพันธะคู่ กรดไขมันทรานส์พบน้อยในธรรมชาติแต่จะเกิดขึ้นหลังจากที่นำน้ำมันพืชไปผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนหรือปฏิกิริยาไฮโดรจิเนชัน (hydrogenation) เพื่อทำให้กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเปลี่ยนเป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัวมากขึ้น เพื่อทำให้น้ำมันสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น ไม่เหม็นหืนและไม่เป็นไขได้ง่าย และทนความร้อนได้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เปลี่ยนน้ำมันจากของเหลวเป็นของเหลวกึ่งแข็งที่อุณหภูมิห้อง โดยในระหว่างกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partial hydrogenation) จะเกิดปฏิกริยาไอโซเมอไรเซซัน (isomerization) เปลี่ยนไขมันซีส (cis-unsaturated fats) ที่มีสายไฮโดรคาร์บอนอยู่ด้านเดียวกันของพันธะคู่เป็นไขมันทรานส์ได้ (Martin et al., 2007) ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เช่นมาการีนหรือเนยเทียม (margarine) เนยขาว (shortening) ครีมเทียม เป็นต้น รวมถึงผลิตที่มีองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีกรดไขมันชนิดทรานส์ปนอยู่ด้วย เช่นในขนมเบเกอรี่ต่างๆ นอกจากนี้กรดไขมันทรานส์ยังเกิดจากการใช้ความร้อนในการปรุงอาหาร เช่น การทอด การอบ เป็นต้น ดังนั้นจึงสามารถพบไขมันทรานส์ได้ในอาหารทอด ขนมขบเคี้ยว และขนมอบต่างๆ



ภาพจาก : http://www.womenfitness.net/wp/wp-content/uploads/2016/08/Fast-food-1000x667.jpg

มีหลักฐานยืนยันว่าการบริโภคไขมันทรานส์เป็นประจำมีผลทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประเทศไทยรองจากโรคมะเร็ง เนื่องจากการบริโภคไขมันทรานส์จะเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลรวม (total cholesterol) ไขมันไม่ดีหรือคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (low-density lipoprotein cholesterol; LDL-C) และไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) ในเลือด ลดระดับไขมันดีหรือคอเลสเตอรอลชนิดเฮชดีแอล (high-density lipoprotein cholesterol; HDL-C) นอกจากนี้ยังเพิ่มน้ำหนักและไขมันส่วนเกิน และทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย (Nestel P, 2014) อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าไขมันทรานส์ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เช่น vaccenic acid และ conjugated linoleic acid (CLA) พบในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์เคื้ยวเอื้อง (ruminants) มีผลเพิ่มทั้งระดับ HDL-C และ LDL-C และมีรายงานในมนุษย์โดยใช้การวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) หรือการวิเคราะห์ทางสถิติที่รวบรวมจากผลงานวิจัยต่างๆ พบว่าการบริโภค CLA ในขนาดเฉลี่ย 3.2 กรัม/วัน สามารถลดมวลไขมันในร่างกายได้ปานกลาง (Whigham et al, 2007)

ในปี ค.ศ. 2014 องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Food and Drug Administration; FDA) ได้ประกาศว่าน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated vegetable oil; PHVO) ที่มีกรดไขมันทรานส์อยู่ไม่ได้รับการยอมรับว่าปลอดภัยสำหรับใช้ในอาหาร เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายและปริมาณไขมันทรานส์ที่อยู่ในอาหาร และลดการบริโภคกรดไขมันทรานส์ เนื่องจากการบริโภคอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์ปริมาณมากเป็นสาเหตุให้คนอเมริกันเกิดภาวะหัวใจวายประมาณ 20,000 คน และเสียชีวิตประมาณ 7,000 คนต่อปี โดยก่อนหน้านี้ FDA ได้กำหนดให้ผู้ผลิตแสดงปริมาณไขมันทรานส์ในฉลากโภชนาการ (Nutrition Facts label) ของอาหารบางชนิด โดยกำหนดว่าการระบุในฉลากว่ามีไขมันทรานส์เท่ากับศูนย์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (serving size) แสดงว่าในผลิตภัณฑ์นั้นมีไขมันทรานส์น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ทำให้อุตสากรรมผลิตน้ำมันสำหรับปรุงอาหาร และอาหารสำเร็จรูปจะต้องมีการพัฒนากระบวนการผลิต และสูตรตำรับอาหารเพื่อลดองค์ประกอบของไขมันทรานส์ในอาหาร (Taylor, 2013)

ในประเทศไทยเพิ่งมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ว่า “ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต น้ำเข้า หรือจำหน่าย” โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ดังนั้นผู้ประกอบการทั้งหลายจะต้องมีการเตรียมตัวในการปรับปรุงกระบวกการผลิต หรือปรับสูตรขนมและอาหารต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ปราศจากไขมันทรานส์ ส่วนผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีไขมันทรานส์เช่นกัน โดยดูได้จากปริมาณไขมันทรานส์ที่ระบุในฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ รวมถึงลดการบริโภคอาหารทอด หรือเนื้อสัตว์ปิ้ง ย่าง ขนมที่มีองค์ประกอบของไขมันสูง ขนมขบเคี้ยวต่างๆ โดยหันมารับประทานอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งและแปรรูป หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการน้อยที่สุด หรือที่นิยมเรียกกันว่า อาหารคลีน (Clean Food) ซึ่งเป็นอาหารที่เน้นธรรมชาติของอาหารนั้นๆ โดยไม่ใช้เครื่องปรุงหรือใช้ให้น้อยที่สุด และยังได้สารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ควบคู่กับการออกกำลังกายที่เหมาะกับอายุและสุขภาพของแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอ เท่านี้ก็จะช่วยให้สุขภาพดี และห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้

เอกสารอ้างอิง
  1. Martin CA, Milinsk MC, Visentainer JV, Matsushita M, De-Souza NE. Trans fatty acid-forming processes in foods: A review". Anais da Academia Brasileira de Ciencias. 2007;79 (2): 343–50.
  2. Nestel P. Trans fatty acids: Are its cardiovascular risks fully appreciated? Clinical Therapeutics 2014;36(3):315-21.
  3. Whigham LD, Watras AC, Schoeller DA. Efficacy of conjugated linoleic acid for reducing fat mass: a meta-analysis in humans. Am J Clin Nutr 2007;85:1203–11.
  4. Taylor MR. Trans fat: taking the next important step. Available from: https://blogs.fda.gov/fdavoice/index.php/2013/11/trans-fat-taking-the-next-important-step/
  5. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.