Knowledge Article


เข้าถ้ำ เข้าป่า ระวังติดเชื้อที่แฝงอยู่


อาจารย์ ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://static.independent.co.uk/s3fs-public/thumbnails/image/2018/07/11/14/2018-07-11T125356Z-1913623722-RC1A6CB81490-RTRMADP-3-THAILAND-ACCIDENT-CAVE.JPG?w968h681
15,255 View,
Since 2018-07-15
Last active: 4h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


จากข่าวที่ครึกโครมและเอาใจช่วยจากคนทั่วโลกของทีมฟุตบอลเยาวชน "หมูป่าอาคะเดมี่" ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นานถึง 17 วัน จนในที่สุดได้รับการช่วยเหลือและพาส่งโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย แต่แพทย์ต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดและต้องให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 7 วัน พร้อมเจาะเลือดตรวจอย่างละเอียดเพราะเกรงจะติดเชื้อจากพาหะที่มีมากมายในถ้ำ เราจะมาดูกันว่ามีโรคอะไรที่จะเกิดขึ้นได้หากต้องสัมผัสกับเชื้อในป่าหรือในถ้ำเป็นเวลานาน



ภาพจาก : https://ichef.bbci.co.uk/images/ic/720x405/p06d6k57.jpg

การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเช่นการสำรวจป่า ถ้ำหรือหน้าผา ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามถ้านักท่องเที่ยวขาดความระมัดระวังหรือการดูแลตัวเองอาจทำให้มีโอกาสที่ป่วยหรือเป็นโรคที่มาจากการท่องเที่ยวได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อที่มีสัตว์หรือแมลงเป็นพาหะ (zoonotic or arthropod-borne diseases) เนื่องจากในป่าหรือถ้ำนั้นเป็นที่อาศัยของสัตว์รวมถึงแมลงต่างๆ เช่น ค้างคาว นก หนู รวมทั้งแมลงต่างๆ เช่น เห็บ ยุง ริ้น ไร เป็นต้น ที่อาจเป็นแหล่งรังโรคและเป็นพาหะของโรคติดต่อที่สำคัญได้ โรคติดต่อที่เกิดจากสัตว์หรือแมลงพาหะดังกล่าวมีมากมาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างโรคที่สามารถพบได้ดังนี้

1. โรคฮีสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis)

เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Histoplasma capsulatum ซึ่งมักพบเชื้อได้ในบริเวณพื้นดินที่มีความชื้นสูง อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าหรือถ้ำ โรคนี้สามารถติดต่อไปยังคนผ่านทางการสูดละอองของสปอร์จากเชื้อที่ปนเปื้อนในฝุ่นหรือมูลค้างคาวเข้าไป อาการของโรคจะพบตั้งแต่ไม่แสดงอาการจนถึงมีอาการปอดบวมรุนแรง รวมถึงอาจพบการติดเชื้อในอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม ไขกระดูก ระบบประสาทส่วนกลางได้ โรคนี้ยังไม่พบการติดต่อจากคนสู่คนหรือสัตว์สู่คน การป้องกันทำได้โดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากการสูดดมละอองสปอร์ของเชื้อเข้าไป เช่น ใช้หน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดปากและจมูก เป็นต้น

2. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) ที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดรวมทั้งค้างคาวที่อยู่ในป่าหรือถ้ำ ผู้ที่ติดเชื้อมักมีสาเหตุมาจากการถูกค้างคาวกัดรวมถึงคนส่วนใหญ่มักไม่รู้สึกตัวในขณะถูกกัด ทำให้ไม่สามารถที่จะทำความสะอาดบาดแผลหรือรักษาได้ทันท่วงที อาการของโรคจะเริ่มต้นจาก มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กลัวแสง เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่สมองและระบบประสาทจะแสดงอาการที่รุนแรงขึ้นจนทำให้เสียชีวิตได้ การป้องกันคือระวังอย่าให้ค้างคาวกัดหรือควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการเดินทางท่องเที่ยวหรือการสัมผัสเชื้อ (pre-exposure prophylaxis) รายละเอียดเพิ่มเติมของโรคนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ “โรคพิษสุนัขบ้า ร้ายแรง แต่ป้องกันได้!” (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/12)

3. โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า Leptospira พาหะของโรคที่สำคัญคือหนูรวมถึงค้างคาวที่อยู่ในถ้ำ คนได้รับเชื้อจากการถูกสัตว์กัด สัมผัสกับน้ำหรือปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อดังกล่าว อาการของโรคที่พบได้เช่น ไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อมาก ต่อมน้ำเหลืองโต ตับและม้ามโต รวมถึงมีภาวะตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่านได้ การป้องกันโรคนี้สามารถทำได้โดยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ใส่ถุงมือ สวมรองเท้าบูท นอกจากนี้ถ้าสัมผัสกับปัสสาวะสัตว์ รวมถึงดินหรือน้ำที่สงสัยการปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ ควรรีบล้างทำความสะอาดทันที รายละเอียดเพิ่มเติมของโรคฉี่หนูสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ “โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 3) โรคฉี่หนู (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/75)

4. โรคสมองอักเสบ (Encephalitis)

จากไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) โรคนี้มีค้างคาวกินผลไม้และค้างคาวกินแมลงเป็นแหล่งรังโรค คนได้รับเชื้อไวรัสนี้ผ่านทางการสัมผัสกับสุกรที่ติดเชื้อหรือจากการรับประทานผลไม้ที่ปนเปื้อนน้ำลายหรือปัสสาวะของค้างคาว นอกจากนี้อาจมาจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของค้างคาวเช่นน้ำลายหรือปัสสาวะได้เช่นกัน มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คนเมื่อสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ อาการของผู้ป่วยมีหลายหลายตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จนถึงอาการหนักคือสมองอักเสบซึ่งอาจมีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยการป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีรอยสัตว์กัดแทะ การสัมผัสกับมูลปัสสาวะของค้างคาว รวมถึงการล้างมือเมื่อสัมผัสกับสิ่งที่สงสัยการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของค้างคาว เป็นต้น

5. โรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ (Arthropod-borne diseases)

โรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะที่สำคัญและพบมากในประเทศไทยคือ โรคไข้มาลาเรียและไข้เลือดออกเดงกี ที่นำโดยยุงพาหะ ซึ่งพาหะของโรคมาลาเรียคือยุงก้นปล่อง (Anopheles) ในขณะที่พาหะของไข้เลือดออกเดงกีคือยุงลาย (Aedes) โดยอาการสำคัญของโรคมาลาเรียคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวรวมถึงมีอาการสำคัญคือ "ไข้จับสั่น” ได้แก่ มีอาการหนาวสั่น ไข้สูง และตามด้วยเหงื่อออก ในขณะที่อาการสำคัญของไข้เลือดออกคือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีจุดเลือดออก ในรายที่อาการรุนแรงอาจพบเลือดออกที่อวัยวะภายในและมีอาการช็อกได้ การป้องกันที่สำคัญคือการระวังไม่ให้ยุงกัดโดยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดขณะเข้าไปท่องเที่ยวในป่าหรือถ้ำรวมถึงการใช้ยากันยุง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียในขณะที่มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกแล้ว อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนดังกล่าวควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ทุกครั้ง

6. โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)

หรือโรคไข้รากสาดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่นำโดยแมลงที่เกิดจากเชื้อริกเก็ตเซีย (Rickettsia) โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการถูกตัวไรอ่อน (Chigger mite) ที่มีเชื้อริกเก็ตเซียกัด อาการของโรคที่สำคัญคือ จะมีแผลที่รอยกัดลักษณะบุ๋มและมีสีดำคล้ายรอยถูกบุหรี่จี้ (eschar) ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะมากโดยเฉพาะบริเวณขมับและหน้าผาก คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก หูอื้อ ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ตับและม้ามโต บางรายอาจพบผื่นแดงตามลำตัวรวมถึงแขนขา โดยผื่นเหล่านี้สามารถหายได้เอง นอกจากนี้ยังอาจพบอาการแทรกซ้อนเช่น ไตวาย ปอดอักเสบ ช็อค ภาวะหายใจล้มเหลว เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น การป้องกันที่สำคัญคือหลีกลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่อาศัยของไรอ่อนที่เป็นพาหะ หากจำเป็นต้องเข้าไปควรสวมเครื่องแต่งกายที่มิดชิดรวมถึงทายาป้องกันแมลงกัด นอกจากนี้หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากกลับจากการไปท่องเที่ยวในป่า ถ้ำ หรือพื้นที่เสี่ยงที่มีตัวไรพาหะประมาณ 2 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

การป้องกันโรคที่สำคัญนอกเหนือจากการป้องกันตัวเองมิให้สัมผัสหรือถูกกัดจากสัตว์และแมลงต่างๆ ที่อยู่ภายในถ้ำแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในถ้ำควรศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงวิธีการป้องกันโรคเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเตรียมตัวก่อนที่จะเดินทางต่อไป นอกจากนี้ผู้ที่เข้าไปท่องเที่ยวจึงควรหมั่นสังเกตอาการและสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอในระหว่างท่องเที่ยวและภายหลังกลับจากการท่องเที่ยวแล้ว ถ้ามีอาการผิดปกติหรือไม่สบาย ควรรีบพบแพทย์ทันที

เอกสารอ้างอิง
  1. Igreja RP. Infectious diseases associated with caves. Wilderness Environ Med 2011; 22: 115-21.
  2. ศุภกร ฟุ้งลัดดา และ พบชัย งามสกุลรุ่งโรจน์. Dimorphic fungi. ใน: จุลชีววิทยาทางการแพทย์ พบชัย งามสกุลรุ่งโรจน์ วรรณี กัณฐกมาลากุล ไอยฤทธิ์ ไทยพิสุทธิกุล และ ภัทรชัย กีรติสิน (บรรณาธิการ).พิมพ์ครั้งที่ 1. วี.เจ. พริ้นติ้ง: กรุงเทพฯ 2556.
  3. สุมาลย์ สาระยา. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 3) โรคฉี่หนู.[ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/75.
  4. คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน โรคพิษสุนัขบ้า ร้ายแรง แต่ป้องกันได้!. [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/12.
  5. Information center of emerging infectious diseases: WHO collaborating center for research and training on viral zoonoses. โรคสมองอักเสบจากไวรัสนิปาห์ (Nipah virus). [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.cueid.org/content/view/45/71/.
  6. โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชสาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล. มาลาเรีย ไข้จับสั่น หรือไข้ป่า (Malaria). [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.tm.mahidol.ac.th/hospital/hospital-malaria-th.php.
  7. สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คำอธิบายโรค (Face sheet) เรื่อง โรคสครับไทฟัส (Scrub Typhus). [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 12 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaivbd.org/n/contents/view/324691.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.