Knowledge Article


จอประสาทตาลอก (Retinal detachment)


รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.mayoclinic.org/-/media/kcms/gbs/patient-consumer/images/2013/11/15/17/38/ds00254_-ds01036_im01584_r7_retinaldetachmentthu_jpg.jpg
20,845 View,
Since 2018-07-11
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/28thqbqf
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การมองเห็นทำให้มนุษย์และสัตว์สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา โดยการกระตุ้นจอประสาทตาหรือจอตา (retina) ซึ่งอยู่ชั้นในสุดของลูกตาและมีเซลล์หลายชนิดเรียงตัวกันเป็นชั้นๆ มีตัวรับแสงที่สำคัญได้แก่ เซลล์รูปแท่ง และเซลล์รูปกรวย ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นกระแสประสาทแล้วส่งไปตามเส้นประสาทตาเข้าสู่สมองเพื่อแปลภาพ ถ้าจอตาลอกจะมีผลต่อการมองเห็น อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ดังนั้นการสังเกตุพบความผิดปกติเริ่มแรกและได้รับการรักษาโดยเร็วจึงสามารถช่วยลดโอกาสการสูญเสียได้

ภาพจาก : https://c8.alamy.com/comp/ARCPJA/retinal-detachment-refers-to-separation-of-the-inner-layers-of-the-ARCPJA.jpg

จอประสาทตาลอก

หมายถึงภาวะที่เกิดการลอกหรือแยกตัวของจอตาจากตำแหน่งเดิม มักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แบ่งตามสาเหตุและลักษณะทางพยาธิสรีรวิทยาได้ 3 ชนิดคือ
  1. จอตาลอกที่มีรูหรือรอยฉีกขาดที่จอตา เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด อาจเกิดจากอุบัติเหตุดวงตาได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือเกิดจากจอตาเสื่อม จึงเกิดรูฉีกขาดของจอตา
  2. จอตาลอกที่เกิดจากการดึงรั้งโดยพังผืดหรือวุ้นตา พบในผู้เป็นเบาหวานขึ้นตาหรือในผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงทำให้ตาทะลุหรือลูกตาแตก มีการอักเสบของวุ้นลูกตาหรือจอตาแล้วเกิดพังผืด
  3. จอตาลอกที่เกิดจากสารน้ำรั่วซึมหรือมีของเหลวสะสมอยู่ใต้ชั้นของจอตา พบในผู้ป่วยโรคคอรอยด์อักเสบ ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ และผู้ป่วยโรคไตวาย เป็นต้น
อาการของผู้ป่วยที่มีจอตาลอก

อาการเริ่มต้น คือ มองเห็นจุดดำลอยไปมา บางรายตามัวและมองเห็นคล้ายหยากไย่ เมื่ออยู่ในที่มืดมองเห็นแสงวาบๆ คล้ายฟ้าแลบ หรืออาจพบว่าลานสายตาผิดปกติ ทำให้การมองเห็นมีภาพบางส่วนหายไป เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรรีบไปพบจักษุแพทย์ด่วนเพื่อ รับการตรวจจอตาโดยละเอียด และรักษาได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้การมองเห็นได้เป็นปกติมากที่สุด
    ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดจอตาลอก ได้แก่
  • อายุ ในผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดจอตาลอกเนื่องจากวุ้นลูกตาเสื่อมตามวัย จึงมีการหดตัวและลอกหลุดออกจากจอตา
  • ความผิดปกติทางสายตา ในรายที่มีสายตาสั้นมากๆ วุ้นลูกตาจะเกิดความเสื่อมเร็วกว่าปกติ
  • พันธุกรรม บุคคลในครอบครัวมีประวัติจอตาลอก
  • โรคเบาหวาน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้หรืดเป็นโรคเบาหวานมานานจนเกิดภาวะแทรกซ้อนเบาหวานขึ้นตา
  • มีการอักเสบหรือติดเชื้อภายในลูกตา
  • เคยมีประวัติการเกิดจอตาลอกมาก่อนแล้ว
ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ควรได้รับการตรวจจอประสาทตาเป็นประจำสม่ำเสมอ และถ้าพบความผิดปกติให้รีบไปปรึกษาจักษุแพทย์ทันที ให้ได้รับการรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

เอกสารอ้างอิง
  1. สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา ในระบบรับความรู้สึก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2555 หน้า 43-68.
  2. โสมนัส ถุงสุวรรณ รูฉีกขาดที่จอตาและจอตาลอก (Retinal Tear and Detachment) ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [28 มิ.ย. 2561].
  3. Schubert HD. Basic and Clinical Science Course, Section 12: Retina and Vitreous. Section 12. American academy of ophthalmology. 2015-2016.
  4. Steel D. Retinal detachment. Clinical Evidence 2014,03:710:1-32

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.