Knowledge Article


ทีมหมูป่า เด็กติดถ้ำ กับภาวะ Refeeding Syndrome ที่ต้องระวัง


รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://f.ptcdn.info/414/058/000/pb8yon3keuTGxUpoWmd-o.png
11,956 View,
Since 2018-07-04
Last active: 3h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


จากข่าวโด่งดังทั่วโลกของการติดอยู่ในถ้ำของเด็กๆ นักฟุตบอลทีมหมูป่าและโค้ชรวม 13 ชีวิตในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นระยะเวลานานถึง 9 วันเศษ อาศัยเพียงน้ำที่หยดมาตามซอกหินของผนังถ้ำปะทังชีวิต ขาดอาหารเพื่อบำรุงร่างกาย คำที่เอ่ยปากกับนักกู้ภัยชาวอังกฤษประโยคหนึ่งคือ I am hungry, eat eat eat ซึ่งแสดงว่าไม่ได้รับประทานอาหารมาหลายวัน แต่ทีมแพทย์ที่รับผิดชอบไม่สามารถที่จะให้รับประทานอาหารปกติได้ทันที ต้องจัดอาหารพิเศษเพื่อให้พลังงาน (power gel) ดูแลให้ยาและวิตามินไปก่อน ทั้งนี้เพราะกลัวว่าจะเกิดภาวะที่เรียกว่า “Refeeding syndrome” ซึ่งเป็นภาวะอันตรายอันอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ภาพจาก : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/83938

Refeeding syndrome (RFS) หมายถึงกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือไม่ได้รับอาหารนานหลายวันหรืออาจนานเป็นสัปดาห์แล้วให้รับประทานอาหารตามปกติทันทีหรือปริมาณมากเกินไป ได้แก่ การให้อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต โดยการรับประทาน หรือในรูปแบบน้ำเกลือที่มีน้ำตาลกลูโคส รวมทั้งการให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำใหญ่ และการให้อาหารทางสายยาง จะทำให้เกิดโทษมากกว่าคุณประโยชน์ ทั้งนี้เพราะจากภาวะอดอาหารเป็นเวลานานนั้นการทำงานระดับเซลล์และอวัยวะลดลง อีกทั้งยังเกิดภาวะขาดอิเล็กโทรไลต์และเกลือแร่ร่วมด้วย ระดับอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการดึงน้ำตาลกลูโคสในเลือดเข้าเซลล์ลดลงในขณะที่กลูคากอนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำงานตรงข้ามกลับเพิ่มมากขึ้น เซลล์ขาดกลูโคสที่ใช้สร้างพลังงาน ร่างกายจึงปรับตัวโดยการสร้างกลูโคสจากไขมันและโปรตีน ผลที่ตามมาคือได้กรดไขมันอิสระและสารคีโตนเพิ่มมากขึ้นซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย ถ้าให้อาหารตามปกติทันทีนั้น ในระยะแรกจะกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน เพื่อพากลูโคสเข้าสู่เซลล์ และมีการเคลื่อนที่ของอิเล็กโทรไลต์ แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส วิตามิน บี 1 หรือ ไทอะมีน (Thiamine) และน้ำเข้าสู่เซลล์อย่างเฉียบพลัน เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการสร้างพลังงานของร่างกาย ทำให้ระดับ โพแสเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามิน บี1 ในเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบ เช่น ความไม่สมดุลของน้ำและเกลือแร่ การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ ภาวะไตวาย และการทำงานของหัวใจล้มเหลว จนอาจเสียชีวิตได้

ดังนั้นในกรณีนี้ ทีมสหวิชาชีพ จึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเกิด RFS ดังนี้
  • การตรวจระดับระดับอิเล็กโทรไลต์ในเลือด รวมทั้ง ฟอสฟอรัสและแมกนีเซียม ในระยะแรกและติดตาม เป็นระยะๆ
  • เสริมวิตามินและเกลือแร่ อย่างน้อยนาน 10 วัน ได้แก่ ไทอะมีน 200-300 มิลลิกัม/วัน และวิตามิน บี 1-2 เม็ด 3 ครั้ง/วัน รวมทั้งวิตามินรวม หรือเกลือแร่ที่สำคัญวันละครั้ง
  • คำนวณปริมาณของอาหารโดยเริ่มจากให้น้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในเวลา 4-7 วัน
  • สังเกตุและประเมินอาการ เช่น การรับรู้ และสัญณาณชีพ เป็นต้น
นอกจากนี้ RFS อาจเกิดได้ในผู้ป่วยโรคสมองนอนติดเตียงที่ร่างกายซูบผอม ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่น้ำหนักลดลงมาก ร่างกายผอมแห้ง ซึ่งสามารถพบได้ในโรงพยาบาล ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ควรตระหนักถึง RFS ไว้ด้วย

เอกสารอ้างอิง
  1. Mehanna HM, Moledina J, Travis J. Refeeding syndrome: what it is, and how to prevent and treat it. BMJ 2008;336:1495-8.
  2. Marinella MA. Refeeding syndrome: an important aspect of supportive oncology. J Support Oncol. 2009;7(1):11-6.
  3. Wirth R, Diekmann R, Janssen G et al. Refeeding syndrome : Pathophysiology, risk factors, prevention, and treatment. Internist (Berl). 2018 ;59(4):326-333. doi: 10.1007/s00108-018-0399-0.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.