Knowledge Article


เมล็ดชะโก...เครื่องเทศสำคัญในพริกแกงข้าวซอย


ผู้ช่วยอาจารย์ ชัยวัฒน์ เอนกลาภากิจ
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://blog.eduzones.com/images/blog/khosoi/20150522-1432274108.76-9.jpg
23,745 View,
Since 2018-06-27
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2bknds32
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


หากพูดถึงอาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทย หนึ่งในอาหารที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและจะถูกนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ “ข้าวซอย” ข้าวซอยหรือเดิมเรียกว่า “ก๋วยเตี๋ยวฮ่อ” เป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดมาจากชาวจีนมุสลิมที่ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า ซึ่งเดินทางค้าขายระหว่างประเทศอินเดียและจีน โดยใช้เส้นทางผ่านทางภาคเหนือของประเทศไทย ข้าวซอยคืออาหารที่ประกอบด้วย บะหมี่เส้นแบนลวกในน้ำเดือดจนสุกดี ใส่ในน้ำแกงกะทิโดยมีเนื้อสัตว์ที่นิยมใช้คือ ไก่หรือเนื้อวัว รับประทานคู่กับเครื่องเคียงคือ ผักกาดดอง, หัวหอมแดง, มะนาวและพริกผัดน้ำมัน



ภาพจาก : http://www.tru-elements.com/shop-tru/product/cardamon-seed-black/

สิ่งที่สำคัญในการทำข้าวซอย ก็คือ “พริกแกงข้าวซอย” ซึ่งทำมาจากสมุนไพรและเครื่องเทศหลากหลายชนิดที่นำไปคั่วจนมีกลิ่นหอมและนำมาโขลกรวมกันให้ละเอียด ส่วนประกอบของพริกแกงข้าวซอย ได้แก่ พริกชี้ฟ้าแห้ง, ขิงแก่, หัวหอมแดง, รากผักชี, ลูกผักชี, ขมิ้นสด, เกลือ, กระเทียมและสิ่งสำคัญสุดท้าย คือ “เมล็ดชะโก” ซึ่งได้จากผลของต้นชะโก เป็นเครื่องเทศที่มีความสำคัญในการทำข้าวซอย เนื่องจากเป็นเครื่องเทศที่จะให้กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สำคัญของข้าวซอย

ชะโก หรืออาจรู้จักกันในชื่ออื่นว่า ลูกกระวานดำหรือเฉ่าโก่ว (ลูกเฉาก๊วย) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Black Cardamom หรือ Greater Cardamom ชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นชะโก คือ Amomum subulatum Roxb. เป็นพืชในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยสังเขป คือเป็นไม้ยืนต้น (Perennial) สูงประมาณ 1-2 เมตร มีลิ้นใบซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อเยื่อ (Membranous) ยื่นออกมาอยู่ระหว่างกาบใบ (Leaf sheath) กับแผ่นใบ (Leaf lamina) ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ปลายลิ้นใบเป็นแบบกลม (Rounded) หรือ เว้าตื้น (Emarginate) แผ่นใบ (Leaf lamina) มีรูปร่างแบบขอบขนาน (Oblong) หรือ รูปใบหอก (Lanceolate) ขนาด 25–60 ? 3.5–11 เซนติเมตร (ยาว?กว้าง) ผิวใบมีลักษณะเกลี้ยง (Glabrous) ฐานใบ (Leaf base) มีลักษณะกลม (Rounded) หรือเป็นรูปลิ่ม (Cuneate) ปลายใบ (Leaf apex) เป็นแบบติ่งแหลมยาว (Long cuspidate) ช่อดอกมีลักษณะเป็นช่อเชิงลด (Spike) เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร มีใบประดับ (Bract) รูปไข่สีแดง กลีบดอกที่มีลักษณะเป็นรูปปากหรือลิ้น (Labellum) มีเส้นกลางกลีบดอกเป็นสีเหลือง ผลเป็นแบบผลแห้งแตก (Capsule) สีม่วงหรือน้ำตาลแดง เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.5 เซนติเมตร โดยช่วงเวลาการออกดอกจะอยู่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนและช่วงเวลาการออกผลจะอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ต้นชะโกจะพบมากในป่าแน่นทึบที่ความสูง 300–1,300 เมตร โดยสามารถพบในในประเทศจีน แถบเขตปกครองตนเองกว่างซี (Guangxi), เขตปกครองตนเองทิเบต (Xizang) และมณฑลยูนนาน (Yunnan) นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในบังคลาเทศ, ทางเหนือของอินเดีย, รัฐสิกขิม (Sikkim), ภูฏาน, พม่าและเนปาล



ภาพจาก : http://tropical.theferns.info/image.php?id=Amomum+subulatum#plantimages

/a/f/af4d4cdd194b9e64017d2f9c51da6222457b540f.jpg


ส่วนประกอบทางเคมีที่สำคัญในเมล็ดชะโก พบว่ามีสารที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นสารจำพวกน้ำมันหอมระเหย ซึ่งน้ำมันหอมระเหยที่พบเป็นหลัก ได้แก่ Cineole, สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids), คาร์โบไฮเดรต, ไขมันและสารกลุ่มไกลโคไซด์ (Glycosides) ยกตัวอย่างเช่น Subulin, Petunidin-3,5-diglucoside นอกจากนี้มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ของสารสกัดจากเมล็ดชะโก เช่น ฤทธิ์ระงับปวด, ฤทธิ์ต้านจุลชีพกลุ่มเชื้อรา, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ: นานมี บุคส์พับลิเคชั่นส์.
  2. Hanuman. Khao Soi Recipe, Northern Style Curried Noodle Soup with Chicken [Internet]. 2010 [cited 31 May 2018]. Available from: https://thaifoodmaster.com/origin/northern_thai/2031#.Ww5wEEiFOCg
  3. Wu D.L., Larsen K. Zingiberaceae. — In: Wu C.Y., Raven P.H. & Hong D.Y. (eds.), Flora of China. St. Louis: Science Press, Beijing & Missouri Botanical Garden Press;2000;24:322.
  4. Ken Fern. Useful Tropical Plants Database [Internet]. 2014 [searched 2 June 2018]. Available from: http://tropical.theferns.info/viewtropical.php?id=Amomum+subulatum
  5. Bisht, V.K., Negi, J.S., Bhandari, A.K., Sundriyal, R.C.. Amomum subulatum Roxb.: Traditional, Biochemical and Biological activities - An overview. African journal of agricultural research. 2011;6: 5386-90. DOI:10.5897/AJAR11.745.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.