Knowledge Article


อันตรายจากยาตกค้างในสิ่งแวดล้อม


อาจารย์ ดร.ภก.บรมพจน์ พฤฒิวนาสัณฑ์ และ
ศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ลีณา สุนทรสุข
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://img.clipartfest.com/cd3d3310efe389bc7a76a4cfc9f6c13c_
trash-can-gardengoatquote-garbage-bin-clipart_613-950.jpeg
25,304 View,
Since 2017-04-26
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/226lm4sh
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่าทุกคนกำลังอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย หนึ่งในปัญหาเหล่านั้นก็คือปัญหายาตกค้างซึ่งพบมากกว่า 600 ชนิด ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพื้นดิน แม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาป หรือแม้แต่ท้องทะเล ปัญหายาตกค้างในธรรมชาติสำหรับประเทศไทยเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ที่หลายท่านอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับปัญหายาตกค้างในอาหารเสียมากกว่า แต่สำหรับทั่วโลกแล้วยาตกค้างในธรรมชาติเป็นปัญหาที่ใหญ่ ดังจะเห็นจากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ถึงปัญหาดังกล่าวมากกว่า 10,000 เรื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา



ภาพจาก : https://ensia.com/wp-content/uploads/2015/08/

feature_pharmaceutical_pills_main-760x378.jpg


ยาตกค้างในธรรมชาติ คืออะไร? มาจากไหน?

ยาตกค้างในธรรมชาติ คือ ยาที่ปนเปื้อนหรือปรากฏในแหล่งธรรมชาติบนโลกของเราตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งก็คือยารักษาโรคที่มีการใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน สาเหตุหลักของยาตกค้างในธรรมชาติ คือ การใช้ยาในภาคครัวเรือน เมื่อประชาชนบริโภคยาเข้าสู่ร่างกาย ยาจะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะหรืออุจจาระและผ่านเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนออกสู่แม่น้ำลำคลองต่อไป นอกจากนี้ยาจะตกค้างในพื้นดินจากการทิ้งหรือฝังกลบยา ซึ่งจะสามารถละลายออกและซึมออกสู่แม่น้ำลำคลองเช่นกัน สาเหตุต่อมา คือ การใช้ยาในการทำปศุสัตว์ ซึ่งยาจะถูกบริโภคโดยสัตว์ ถูกกำจัด และปลดปล่อยออกสู่ธรรมชาติเช่นเดียวกับการใช้ยาในภาคครัวเรือน



ผลกระทบของยาตกค้าง

ยาตกค้างที่ปนเปื้อนในธรรมชาติมีปริมาณน้อยมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะไม่ส่งผลโดยตรงต่อร่างกายมนุษย์ แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ ยาตกค้างมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้น และสามารถส่งผลกระทบกลับมายังมนุษย์ได้เนื่องจากยาที่ถูกกำจัดยังคงมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดจากยาตกค้างต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศรอบตัวเราที่ถูกรายงาน ได้แก่ การตายลงของนกแร้งจากยาต้านการอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs, NSAIDs) การเปลี่ยนเพศและการกดการแสดงออกของลักษณะทางเพศในลูกปลาที่ได้รับยากลุ่มฮอร์โมนเพศ การเกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันจากยาที่มีผลในการกดระบบภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ หรือ ทาม๊อกซิเฟน

กระบวนการสะสมของยาในร่างกายของสิ่งมีชิวิต (bioaccumulation) โดยเฉพาะสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ได้รับหรือสัมผัสกับยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาทางการแพทย์ที่มีสาเหตุมาจากยาตกค้างในแหล่งน้ำ การรับประทานอาหารที่ปรุงจากสัตว์น้ำเหล่านี้ทำให้มนุษย์ได้รับยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ และสุดท้ายจะเกิดปัญหาการดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เชื้อจุลชีพสามารถเกิดการดื้อยาได้เนื่องจากการได้รับหรือสัมผัสกับยาปฏิชีวนะที่ตกค้างในปริมาณต่ำๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมนุษย์ป่วยและติดเชื้อที่ดื้อยาจะทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิผล

การแก้ไขหรือป้องกันปัญหายาตกค้าง

การแก้ไขปัญหายาตกค้างที่ได้ผลที่สุดคือ การงดใช้ยาเพื่อป้องกันยาปนเปื้อนลงสู่ธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถทำได้เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องใช้ยาในการรักษาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราทุกคนสามารถลดโอกาสการเกิดยาปนเปื้อนลงสู่ธรรมชาติได้หลายวิธี ได้แก่
  1. การสนับสนุนให้ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (rational drug use) เช่น การไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในอาการหวัดที่ติดเฉพาะเชื้อไวรัส เป็นต้น แนวทางดังกล่าวสามารถช่วยลดอัตราการใช้ยา ซึ่งทำให้ปริมาณยาที่ต้องถูกกำจัดออกจากร่างกายได้สู่ธรรมชาติลดลงได้
  2. การทำลายยาหมดอายุหรือยาที่ใช้หมดให้ถูกวิธี แนวทางดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งหนทางที่สามารถลดโอกาสการปลดปล่อยยาออกสู่ธรรมชาติโดยตรง (อ่านบทความเพิ่มเติม “การทิ้งและทำลายยาที่ถูกต้อง”)
  3. การพัฒนาระบบการบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพและการเฝ้าระวัง ระบบบำบัดน้ำเสียเป็นเสมือนปราการด่านสุดท้ายของน้ำทิ้งก่อนการระบายออกสู่ธรรมชาติ ระบบบำบัดที่มีประสิทธิภาพย่อมสามารถขจัดยาตกค้างออกจากน้ำได้หมด อย่างไรก็ตามระบบการกำจัดน้ำเสียที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถขจัดยาตกค้างออกจากน้ำทิ้งได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการพัฒนาระบบบำบัดของเสียให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจึงยังเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง การพัฒนาระบบที่ดีควรทำควบคู่ไปพร้อมๆ กับการตรวจเฝ้าระวังปริมาณยาตกค้างในน้ำทิ้ง ดังนั้นความจำเป็นในการพัฒนาวิธีวิเคราะห์สำหรับการตรวจปริมาณยาตกค้างจึงยังคงมีความสำคัญอยู่สำหรับการพัฒนาระบบน้ำทิ้งอย่างต่อเนื่อง
จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เราเผชิญหน้ากับปัญหายาตกค้างตามแหล่งธรรมชาติ แม้ว่าปริมาณยาตกค้างที่พบเจอจะไม่มีผลต่อมนุษย์เรา แต่ยาตกค้างก็ยังคงเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วความไม่สมดุลของระบบนิเวศนี้เองจะส่งผลกระทบกลับมาเป็นลูกโซ่สู่มนุษย์ การปรับพฤติกรรมการใช้ยาและการทำลายทิ้งยา เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นทำได้ง่ายๆ เพื่อพัฒนาสังคมให้น่าอยู่และปลอดภัยจากปัญหายาตกค้าง

เอกสารอ้างอิง
  1. Kümmerer K. Pharmaceuticals in the Environment – A Brief Summary. In: K?mmerer K, editor. Pharmaceuticals in the Environment: Sources, Fate, Effects and Risks. 3rd ed. Berlin: Springer-Verlag; 2008. p. 3-21.
  2. ศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมี กองแผนงานและวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. แนวปฏิบัติการจัดการของเสียทางการแพทย์ที่เป็นสารเคมี. มีนาคม 2559. [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 7 มีนาคม 2560]. เข้าถึงได้จาก http://ipcs.fda.moph.go.th/csnetNEW/file/news/23082016-145421-news.pdf
  3. Buchberger W. Current approaches to trace analysis of pharmaceuticals and personal care products in the environment. J Chromatogr A. 2011; 1218: 603-18.
  4. Prutthiwanasan B, Phechkrajarng C, Suntornsuk L. Fluorescent labelling of ciprofloxacin and norfloxacin and its application for residues analysis in surface water. Talanta 2016; 159: 74-9.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.