Knowledge Article


ผลไม้เพื่อสุขภาพจากโครงการหลวง


ธิดารัตน์ จันทร์ดอน
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://www.angkhangstation.com/index.php?group=Home
21,226 View,
Since 2017-03-24
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/25dp4epe
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ปัจจุบันนี้ความนิยมในการบริโภคผักผลไม้และผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา และดำเนินงานเพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชชนิดต่างๆ ทั้งไม้ยืนต้น พืชไร่ ผัก สมุนไพร ไม้ดอก รวมทั้งไม้ผลที่สามารถเพาะปลูกบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย ส่งผลให้ผลผลิตจากโครงการหลวงเป็นที่แพร่หลาย นอกจากเป็นแหล่งอาหารและทำรายได้ให้กับชาวเขาชุมชนต่างๆ ทางภาคเหนือแล้ว ผลไม้โครงการหลวงยังได้รับความนิยมมากขึ้นไปทั่วประเทศตลอดจนปัจจุบัน บทความนี้จึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับผลไม้ในโครงการหลวงหลากหลายชนิด รวมทั้งคุณค่าทางอาหารและงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพที่น่าสนใจดังต่อไปนี้



ภาพจาก : สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

พีช (Peach: Prunus persica (L.) Batsch) หรือ ท้อ ไม้ผลเขตหนาวที่มีถิ่นกำเนิดในจีน และสามารถพบพันธุ์พื้นเมืองเจริญได้ดีบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย ให้ผลผลิตออกมาจำหน่ายทำรายได้ให้แก่ชาวเขาแถบนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์พืชเขตหนาวเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น โดยมีการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์พีชจากต่างประเทศ รวมทั้งเนคทารีน (Nectarine: P. persica (L.) Batsch var. nucipersica) ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนพีชทุกประการ เพียงแต่เนคทารีนจะไม่มีขนที่ผิวผล 1, 2 ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รสชาติดี สามารถรับประทานสดหรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยทั้งพีชและเนคทารีนอุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols) ที่มีฤทธิ์เด่นในการต้านอนุมูลอิสระ3 และมีการศึกษาในเซลล์และสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดจากพีชยังมีฤทธิ์ยับยั้งแองจิโอเทนซิน (angiotensin II) ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease)4 และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซีทิลโคลีนเอสเทอเรส (acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบประสาท5 เป็นที่น่าสนใจศึกษาทางคลินิกต่อไปเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของพีชและเนคทารีน

พลัม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ พลัมยุโรป (European plum: P. domestica L.) ถ้านำไปทำให้แห้งจะเรียกว่าพรุน (Prune: dried plum) และพลัมญี่ปุ่น (Japanese plum: P. salicina Lindl.) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกในไทย2 บางท่านอาจเรียก ลูกไหน ผลสีแดงอมม่วง ประกอบไปด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanins) มีฤทธิ์ลดปริมาณสารพิษมาลอนไดอัลดีไฮด์ (malondialdehyde) และช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระต่างๆ6 น้ำคั้นผลพลัมเข้มข้นที่ประกอบด้วยสารแอนโทไซยานินในปริมาณสูงมีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด โดยยับยั้งกลไกการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด อาจมีผลในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่นเดียวกับที่มีการศึกษาวิจัยในพลัมยุโรป สำหรับพรุนและน้ำพรุนมีประโยชน์ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย และมีฤทธิ์ป้องกันภาวะกระดูกพรุนโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน7, 8

บ๊วย (Japanese apricot: P. mume Siebold & Zucc.) เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับพีชและพลัม ที่ชาวจีนเรียก เหมย (Mei) มีสรรพคุณแผนโบราณตามการแพทย์แผนจีน ใช้ผลบ๊วยในการรักษาอาการไอและลดไข้ และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดบ๊วย MK615 ซึ่งประกอบด้วยสารกลุ่มไตรเตอร์ปีนอยด์ (triterpenoids) เช่น กรดโอลีนโนลิก (oleanolic acid) และกรดเออร์โซลิก (ursolic acid) มีฤทธิ์ป้องกันการทำงานของตับโดยกลไกการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ มีผลในการลดระดับเอนไซม์การทำงานของตับ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีและผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease) 9, 10 มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง11 ยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร12, 13 และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในช่องปาก14 เป็นต้น

พลับ (Persimmon: Diospyros kaki L.f.) มี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ พลับหวาน (non-astringent) และพลับฝาด (astringent) ที่ต้องนำไปขจัดความฝาดก่อนรับประทาน รสชาติหวานหอม นิยมรับประทานผลสด และนำไปแปรรูปเป็นพลับหมาดหรือพลับแห้ง พลับทั้งผลไม่ปอกเปลือกมีใยอาหารสูง อุดมไปด้วยสารสำคัญต่างๆ มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตาและผิวพรรณ15 นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกพบว่าผลพลับอ่อนมีสารแทนนิน (tannin) สูง มีผลช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด16 มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟ่า-อะไมเลส (α-amylase) และชะลอการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตในหนูทดลอง มีผลในการช่วยลดระดับน้ำตาล17 ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไปเกี่ยวกับการรับประทานผลพลับเพื่อการป้องกันรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

สตรอว์เบอร์รี (Strawberry: Fragaria X ananassa Duch.) ผลไม้ยอดนิยมของหลายๆ ท่าน ปัจจุบันสามารถเพาะปลูกได้ดีและแพร่กระจายมากขึ้นในหลายพื้นที่ของไทย มีการคัดเลือกสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือบริโภคผลสด เช่น พันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์พระราชทาน 88 ที่กำลังได้รับความนิยมในการบริโภคสูงมาก สตรอว์เบอร์รีมีรูปร่างและสีสันดึงดูดใจ รสชาติเปรี้ยวจนถึงหวาน กลิ่นหอมถูกใจผู้บริโภค จัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง รวมทั้งอุดมไปด้วยกรดแกลลิก (gallic acid) และกรดเอลลาจิก (ellagic acid) ซึ่งพบได้มากในพืชตระกูลเบอร์รี มีประโยชน์ต่อร่างกายช่วยป้องกันและลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ 18-21

เคพกูสเบอร์รี (Cape gooseberry: Physalis peruviana L.) หรือ โทงเทงฝรั่ง เพราะมีลักษณะคล้ายกับโทงเทงไทย (P. angulata และ P. minima) ซึ่งมีรูปร่างค่อนข้างแปลก มีกลีบเลี้ยงหุ้มผลกลมๆ เล็กๆ อยู่ภายในคล้ายกับระฆัง จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ระฆังทอง (gold bell) ในต่างประเทศนิยมนำผลสุกสีเหลืองส้มที่ต้มแล้วใส่ในพาย พุดดิ้ง ไอศกรีม และแปรรูปเป็นแยมหรือเยลลี่1 มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว ปัจจุบันมีการพัฒนานำกลิ่นและน้ำมันจากผลสุกมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร22 สำหรับในประเทศไทยมีการแปรรูปเป็นนำคั้นบรรจุขวดออกมาจำหน่ายของมูลนิธิโครงการหลวง นอกจากจะรับประทานผลสดแล้ว อาจนำมาใส่สลัดบริโภคร่วมกับผักชนิดอื่นๆ ให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว ประกอบไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ และวิตามินอี รวมทั้งแคโรทีนอยด์ และสารต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ23

หม่อน หรือ มัลเบอร์รี (Mulberry: Morus alba L.) นิยมนำมารับประทานผลสด อบแห้ง และหมักเป็นไวน์ หรือแปรรูปเป็นแยม เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ อุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอลช่วยในการต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย24 และยังมีงานวิจัยพบว่าสารสกัดผลหม่อนมีฤทธิ์ช่วยในการยับยั้งเซลล์ไขมัน25 มีฤทธิ์ปกป้องระบบประสาทโดยกลไกการยับยั้งการสะสมของโปรตีนแอลฟา-ไซนิวคลีอิน (α-synuclein) ที่มีผลต่อการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาทและเป็นสาเหตุของอาการสมองเสื่อม26 และนอกจากผลหม่อนจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ใบหม่อนยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ โดยมีการศึกษาทางคลินิกระบุว่าในใบหม่อนพบสารสำคัญ 1-deoxynojirimyrin (DNJ) มีผลช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและลดอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้27

เสาวรส (Passion fruit) หรือ กะทกรกฝรั่ง ที่ปลูกกันทั่วไปมี 2 ชนิด คือ ชนิดผลสีเหลือง (Passiflora edulis Flavicarpa) และชนิดผลสีม่วง (Passiflora edulis Sims) มีรสชาติเปรี้ยวและกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อเสาวรสทั้งสองชนิดอุดมไปด้วยสารสำคัญรวมทั้งวิตามินต่างๆ นิยมนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ และมีการศึกษาในผู้สูงอายุทั้งเพศหญิงและชายที่สุขภาพดี ให้ดื่มน้ำเสาวรสทั้งชนิดเปลือกสีม่วงและสีเหลือง วันละ 1 แก้ว ปริมาณประมาณ 125 มล. ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาโดยรวมพบว่าเสาวรสทั้ง 2 ชนิด มีผลช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ยับยั้งไซโตไคน์ (cytokine) ที่กระตุ้นให้มีการอักเสบ อย่างไรก็ตามไม่ควรดื่มน้ำเสาวรสที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูงเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้28, 29

อะโวคาโด (Avocado: Persea americana Mill.) เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid) มีประโยชน์ต่อร่างกายในการลดปริมาณคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิด LDL ไตรกลีเซอร์ไรด์ รวมทั้งมีผลเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิด HDL ซึ่งเป็นผลดีต่อร่างกาย30 นอกจากนี้อะโวคาโดยังเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ น้ำตาลน้อย กลิ่นและรสชาติ รวมทั้งเนื้อสัมผัสที่นุ่มเหมาะสำหรับเป็นอาหารเสริมของเด็กทารก (infant) และเด็กวัยเตาะแตะ (toddler) ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอาหาร (transitional feeding)31 สำหรับผู้ใหญ่การรับประทานอะโวคาโดยังช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ เมื่อรับประทานควบคู่กับผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ เช่น มะเขือเทศ แครอท เป็นต้น32 อย่างไรก็ตามอะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินเคสูง จึงควรระมัดระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน (warfarin) เพราะอาจไปยับยั้งกลไกต้านการแข็งตัวของเลือดของยาได้33

กีวีฟรุต (Kiwi fruit, Chinese gooseberry) มีหลายชนิด ที่มีการเพาะปลูกในไทยและให้ผลผลิตได้ดีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Actinidia deliciosa เป็นสายพันธุ์จากประเทศนิวซีแลนด์ รวมทั้งมีการศึกษาทดลองปลูกชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น A. chinensis และ A. arguta เป็นต้น2 กีวีฟรุตมีวิตามินซีสูงมากช่วยในการต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย 34 และมีกากใยสูงช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยมีการศึกษาในผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนร่วมกับมีอาการท้องผูกให้รับประทานกีวีฟรุต 2 ผล/วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ามีผลช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบทางเดินอาหารและช่วยลดอาการท้องผูกได้35

ฟิก (Fig: Ficus carica L.) หรือ มะเดื่อฝรั่ง อาจจะเป็นผลไม้ที่ยังไม่ได้รับความนิยมสำหรับคนไทยในปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีการนำเข้าผลสดและฟิกอบแห้งจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการทดลองปลูกในไทย ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ผลโต รสชาติดี มีสรรพคุณแผนโบราณเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยในเรื่องการขับถ่าย อุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ รวมทั้งสารกลุ่มแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบเช่นเดียวกัน36-38

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผลไม้ในโครงการหลวงอีกหลายชนิดซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น มะม่วง มะละกอ สาลี่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น บลูเบอร์รี ราสพ์เบอร์รี เป็นต้น และจากข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของผลไม้ในโครงการหลวง ถึงแม้บางงานวิจัยอาจจะยังมีข้อมูลทางคลินิกเพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานผลไม้หลากหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเพียงพอ มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง และยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามปณิธานของมูลนิธิโครงการหลวงอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง
  1. พีรศักดิ์ วรสุทโรสถ, สุนทร ดุริยะประพันธ์, ทักษิณ อาชวาคม, สายันต์ ตันพานิช, ชลธิชา นิวาสประกฤติ, ปรียานันท์ ศรสูงเนิน. ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2 ไม้ผลและไม้ผลเคี้ยวมัน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์; 2544:573 หน้า.
  2. องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาที่สูงอย่างยั่งยืน [อินเทอร์เน็ต]. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). [เข้าถึงเมื่อ 5 ธันวาคม 2559]. เข้าถึงได้จาก: http://hkm.hrdi.or.th/knowledge
  3. Cantίn CM, Moreno MA, Gogorcena Y. Evaluation of the antioxidant capacity, phenolic compounds, and vitamin C content of different peach and nectarine [ Prunus persica (L.) Batsch] breeding progenies. J Agric Food Chem 2009;57(11):4586-92.
  4. Kono R, Okuno Y, Nakamura M, Inada K, Tokuda A, Yamashita M, et al. Peach (Prunus persica) extract inhibits angiotensin II-induced signal transduction in vascular smooth muscle cells. Food Chem 2013;139(1-4):371-6.
  5. Suh SJ, Koo BS, Jin UH, Hwang MJ, Lee IS, Kim CH. Pharmacological characterization of orally active cholinesterase inhibitory activity of Prunus persica L. Batsch in rats. J Mol Neurosci 2006;29(2):101-7.
  6. Fanning KJ, Topp B, Russell D, Stanley R, Netzel M. Japanese plums (Prunus salicina Lindl.) and phytochemicals-breeding, horticultural practice, postharvest storage, processing and bioactivity. J Sci Food Agric 2014;94(11):2137-47.
  7. Igwe EO, Charlton KE. A systematic review on the health effects of plums (Prunus domestica and Prunus salicina). Phytother Res 2016;30(5):701-31.
  8. Stacewicz-Sapuntzakis M. Dried plums and their products: composition and health effects an updated review. Crit Rev Food Sci Nutr 2013;53(12):1277-302.
  9. Hokari A, Ishikawa T, Tajiri H, Matsuda T, Ishii O, Matsumoto N, et al. Efficacy of MK615 for the treatment of patients with liver disorders. World J Gastroenterol 2012;18(31):4118-26.
  10. Beretta A, Accinni R, Dellanoce C, Tonini A, Cardot JM, Bussière A. Efficacy of a standardized extract of Prunus mume in liver protection and redox homeostasis: A randomized, double-Blind, placebo-controlled study. Phytother Res 2016;30(6):949-55.
  11. Hoshino T, Takagi H, Naganuma A, Koitabashi E, Uehara S, Sakamoto N, et al. Advanced hepatocellular carcinoma responds to MK615, a compound extract from the Japanese apricot "Prunus mume". World J Hepatol 2013;5(10):596-600.
  12. Enomoto S, Yanaoka K, Utsunomiya H, Niwa T, Inada K, Deguchi H, et al. Inhibitory effects of Japanese apricot (Prunus mume Siebold et Zucc.; Ume) on Helicobacter pylori related chronic gastritis. Eur J Clin Nutr 2010;64(7):714-9.
  13. Otsuka T, Tsukamoto T, Tanaka H, Inada K, Utsunomiya H, Mizoshita T, et al. Suppressive effects of fruit-juice concentrate of Prunus mume Sieb. et Zucc. (Japanese apricot, Ume) on Helicobacter pylori induced glandular stomach lesions in Mongolian gerbils. Asian Pac J Cancer Prev 2005;6(3):337-41.
  14. Seneviratne CJ, Wong RW, Hägg U, Chen Y, Herath TD, Samaranayake PL, et al. Prunus mume extract exhibits antimicrobial activity against pathogenic oral bacteria. Int J Paediatr Dent 2011;21(4):299-305.
  15. Gorinstein S, Zachwieja Z, Folta M, Barton H, Piotrowicz J, Zemser M, et al. Comparative contents of dietary fiber, total phenolics, and minerals in persimmons and apples. J Agric Food Chem 2001;49(2):952-7.
  16. Gato N, Kadowaki A, Hashimoto N, Yokoyama S, Matsumoto K. Persimmon fruit tannin-rich fiber reduces cholesterol levels in humans. Ann Nutr Metab 2013;62(1):1-6.
  17. Tsujita T. Persimmon-tannin, an ?-amylase inhibitor, retards carbohydrate absorption in rats. J Nutr Sci Vitaminol (Tokyo) 2016;62(3):192-7.
  18. Giampieri F, Tulipani S, Alvarez-Suarez JM, Quiles JL, Mezzetti B, Battino M. The strawberry: composition, nutritional quality, and impact on human health. Nutrition 2012;28(1):9-19.
  19. Basu A, Nguyen A, Betts NM, Lyons TJ. Strawberry as a functional food: an evidence-based review. Crit Rev Food Sci Nutr 2014;54(6):790-806.
  20. Giampieri F, Forbes-Hernandez TY, Gasparrini M, Alvarez-Suarez JM, Afrin S, Bompadre S, et al. Strawberry as a health promoter: an evidence based review. Food Funct 2015;6(5):1386-98.
  21. Giampieri F, Alvarez-Suarez JM, Battino M. Strawberry and human health: effects beyond antioxidant activity. J Agric Food Chem 2014;62(18):3867-76.
  22. Ramadan MF, Mörsel JT. Oil goldenberry (Physalis peruviana L.). J Agric Food Chem 2003;51(4):969-74.
  23. Puentea LA , Pinto-Mu?oza CA, Castroa ES, Cortésb M. Physalis peruviana Linnaeus, the multiple properties of a highly functional fruit: A review. Food Res Int 2011;44(7):1733-40.
  24. Wang Y, Xiang L, Wang C, Tang C, He X. Antidiabetic and antioxidant effects and phytochemicals of mulberry fruit (Morus alba L.) polyphenol enhanced extract. PLoS One 2013;8(7):e71144.
  25. Choi JW, Synytsya A, Capek P, Bleha R, Pohl R, Park YI. Structural analysis and antiobesity effect of a pectic polysaccharide isolated from Korean mulberry fruit Oddi (Morus alba L.). Carbohydr Polym 2016;146:187-96.
  26. Gu PS, Moon M, Choi JG, Oh MS. Mulberry fruit ameliorates Parkinson's disease related pathology by reducing α-synuclein and ubiquitin levels in a 1-methyl-4-phenyl-1,2,3,6-tetrahydropyridine/probenecid model. J Nutr Biochem 2017;39:15-21.
  27. Kimura T, Nakagawa K, Kubota H, Kojima Y, Goto Y, Yamagishi K, et al. Food-grade mulberry powder enriched with 1-deoxynojirimycin suppresses the elevation of postprandial blood glucose in humans. J Agric Food Chem 2007;55(14):5869-74.
  28. Tala Y, Anavia S, Reismana M, Samachb A, Tirosha O, Aron M, et al. The neuroprotective properties of a novel variety of passion fruit. Journal of Functional Foods 2016;23:359-69.
  29. ศุภวัชร สิงห์ทอง, เสนีย์ เครือเนตร, ศุภพงษ์ อาวรณ์. ผลของนํ้าเสาวรสต่อการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบในผู้สูงอายุและในหลอดทดลอง. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 2013;Project code RDG5420047.
  30. Dreher ML, Davenport AJ. Hass avocado composition and potential health effects. Crit Rev Food Sci Nutr 2013;53(7):738-50.
  31. Comerford KB, Ayoob KT, Murray RD, Atkinson SA. The role of avocados in complementary and transitional feeding. Nutrients 2016;8(5):E316
  32. Kopec RE, Cooperstone JL, Schweiggert RM, Young GS, Harrison EH, Francis DM, et al. Avocado consumption enhances human postprandial provitamin A absorption and conversion from a novel high β-carotene tomato sauce and from carrots. J Nutr 2014 ;144(8):1158-66.
  33. Wells PS, Holbrook AM, Crowther NR, Hirsh J. Interactions of warfarin with drugs and food. Ann Intern Med 1994;121(9):676-83.
  34. D'Evoli L, Moscatello S, Lucarini M, Aguzzi A, Gabrielli P, Proietti S, et al. Nutritional traits and antioxidant capacity of kiwifruit (Actinidia deliciosa Planch., cv. Hayward) grown in Italy. J Food Compos Anal 2015;(37):25–29.
  35. Chang CC, Lin YT, Lu YT, Liu YS, Liu JF. Kiwifruit improves bowel function in patients with irritable bowel syndrome with constipation. Asia Pac J Clin Nutr 2010;19(4):451-7.
  36. Barolo MI, Ruiz Mostacero N, López SN. Ficus carica L. (Moraceae): an ancient source of food and health. Food Chem 2014;164:119-27.
  37. Badgujar SB, Patel VV, Bandivdekar AH, Mahajan RT. Traditional uses, phytochemistry and pharmacology of Ficus carica: a review. Pharm Biol 2014;52(11):1487-503.
  38. Mawa S, Husain K, Jantan I. Ficus carica L. (Moraceae): phytochemistry, traditional uses and biological activities. Evid-Based Compl Alt 2013;2013:974256.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.