Knowledge Article


โรคมือเท้าปากในเด็ก


อาจารย์ ดร.ภญ. ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://healthosphere.com/wp-content/uploads/2012/02/
Hand-Foot-and-Mouth-Disease-images.jpg
21,487 View,
Since 2016-09-28
Last active: 2h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ในบทความที่แล้วเราได้กล่าวถึงโรคอาร์เอสวีซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดในเด็กเล็กและโรคไวรัสที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ ในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคที่มักเกิดในเด็กเล็กอีกโรคหนึ่งคือ โรคมือเท้าปาก ซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อได้ทุกช่วงของปี แต่มักจะมีการระบาดในช่วงหน้าฝนเช่นกัน



โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่ติดต่อระหว่างคนสู่คนเท่านั้น โดยในหลายครั้งเกิดความสับสนกับโรคปากเท้าเปื่อยซึ่งเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในสัตว์ โดยไวรัสที่ก่อโรคนั้นเป็นเชื้อคนละชนิดกัน โรคมือเท้าปากเป็นโรคไม่มีการติดต่อข้ามไปยังสัตว์เลี้ยงหรือติดต่อมาจากสัตว์เลี้ยง โรคมือเท้าปากสามารถเกิดได้กับคนทุกวัย แต่อย่างไรก็ตามมักพบได้บ่อยในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี

โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) โดยมีหลายสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคได้ เช่น คอกซากีไวรัส เอ 16 (Coxsackievirus A16) เป็นต้น แต่สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงที่สุดคือ เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) หรือเรียกกันสั้นๆว่า EV71 โดยไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นที่โชคดีที่สายพันธุ์ที่พบได้ประเทศไทยไม่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีรายงานการพบการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ EV71 ในประเทศไทยอยู่บ้างเช่นกัน

อาการแสดงของโรคจะเกิดภายหลังจากได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 3 – 6 วันจะเริ่มแสดงอาการ โดยอาการแสดงแรกที่พบคือมีไข้ หลังจากนั้นประมาณ 1 – 2 วันจะมีอาการเจ็บในช่องปากและลำคอ และอาจจะมีแผลเกิดขึ้นในช่องปาก เช่น ลิ้น เหงือก หรือกระพุ้งแก้มได้ ซึ่งจะทำให้ความอยากอาหารลดลง นอกจากนี้แล้วยังอาจมีอาการไม่สบายตัว ต่อมาอีก 1 – 2 วันอาจจะมีผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้าได้ โดยจะเป็นลักษณะผื่นแดง หรืออาจมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส แต่จะไม่มีอาการคัน

โดยทั่วไปแล้วโรคมือเท้าปากเป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรง มักจะเป็นมากอยู่ 2 – 3 วันและจะหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน โดยในเด็กต้องเฝ้าระวังภาวะขาดน้ำเนื่องมาจากอาการแสดงของโรคมักจะทำให้เกิดแผลในช่องปาก ซึ่งจะทำให้การกลืนอาหารเจ็บและลำบากได้ อาการแทรกซ้อนรุนแรงอาจเกิดได้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ EV71 แต่อย่างไรก็ตามมีโอกาสเกิดน้อยมากโดยอาการที่เกิดขึ้นได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Viral meningitis) หรือสมองอักเสบ (Encephalitis) โดยผู้ป่วยจะมีอาการซึม อ่อนแรง ชักกระตุก หอบ อาเจียน หรือในรายที่รุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้

โรคมือเท้าปากไม่มีวัคซีนหรือยาสำหรับรักษาโรคโดยตรง การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่นการให้ยาลดไข้ paracetamol หรือให้ยาบ้วนปากเพื่อช่วยลดอาการเจ็บของแผลในช่องปาก เป็นต้น แต่ในรายที่มีอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การดูแลผู้ป่วยในระหว่างที่มีอาการได้แก่ การแยกผู้ป่วยออกจากบุคคลอื่นเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ ให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ให้ดื่มน้ำโดยอาจให้ดื่มน้ำเย็น โดยไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดหรือน้ำอัดลม เพราะจะส่งผลต่อแผลในช่องปากได้ ควรให้ทานอาหารอ่อน ไม่ควรทานอาหารรสจัด และควรกลั้วปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ เพื่อลดอาการเจ็บในช่องปาก ในรายที่มีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า ไม่ควรพยายามเจาะออก ควรปล่อยให้แห้งไปเอง เนื่องจากน้ำในตุ่มน้ำใสมีเชื้อไวรัสอยู่ซึ่งจะสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้

โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มน้ำใส หรือสารคัดหลั่งจากจมูกและปากอันได้แก่ น้ำมูก เสมหะ หรือน้ำลาย นอกจากนี้แล้วไวรัสยังสามารถพบได้ในอุจจาระ โดยไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ตั้งแต่ในระยะแรกที่แสดงอาการ และอาจจะยังพบได้อีกหลายสัปดาห์ในอุจจาระของผู้ป่วยที่หายจากอาการของโรคแล้ว นอกจากนี้แล้วในผู้ใหญ่อาจจะสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้โดยไม่แสดงอาการใดๆ ซึ่งการได้รับไวรัสอาจเป็นการได้รับโดยตรงเช่นจากการไอหรือจาม หรืออาจจะได้รับไวรัสโดยอ้อมโดยการสัมผัสกับพื้นผิวหรือสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสอยู่ เช่นในสถานรับเลี้ยงเด็กซึ่งอาจมีของเล่นหรือของใช้เด็กที่ปนเปื้อนน้ำลายเนื่องจากเด็กเล็กมักชอบนำสิ่งของเข้าปาก เป็นต้น ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการมีสุขลักษณะที่ดี

เนื่องจากโรคมือเท้าปากมักพบในเด็กเล็ก ดังนั้นการระบาดมักพบในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือตามโรงเรียนอนุบาล วิธีการลดการแพร่กระจายที่ดีที่สุดคือการแยกเด็กที่ป่วยออกจากเด็กอื่น และควรให้เด็กที่ป่วยหยุดรักษาจนกว่าอาการจะหาย แต่อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัสยังสามารถพบในอุจจาระเด็กอีกหลายสัปดาห์ ดังนั้นการมีสุขลักษณะที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่นควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูป ไม่ควรใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนน้ำลายร่วมกันเช่นของเล่นเด็ก หรืออุปกรณ์ทานอาหาร และควรมีมาตรการในการทำความสะอาดอุปกรณ์หรือพื้นที่ที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งทุกวัน และในกรณีที่เกิดการระบาดและพบการติดเชื้อของเด็กหลายคน ควรมีการพิจารณาปิดชั้นเรียนเพื่อหยุดการระบาดของไวรัส

เอกสารอ้างอิง
  1. Centers for Disease Control and Prevention. Hand, Foot and Mouth Disease (HFMD). Available from: http://www.cdc.gov/hand-foot-mouth/ [Accessed on September, 2016].
  2. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Hand, Foot and Mouth Disease. Available from: http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hand-foot-and-mouth-disease/basics/definition/con-20032747 [Accessed on September, 2016].
  3. ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ. โรค มือ-เท้า-ปาก และโรคจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71. Available from: http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=492 [Accessed on September, 2016].

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.