Knowledge Article


ชาร้อน ชาเย็น ประโยชน์/โทษ ต่อสุขภาพ


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/236x/1b/cd/46/1bcd464265a3cb359dd0f34d86e1743b.jpg
252,801 View,
Since 2016-09-14
Last active: 2m ago
https://tinyurl.com/23kw43sa
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เครื่องดื่มประเภทน้ำชามีมาช้านานกว่า 4700 ปี นอกเหนือจากการเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย แก้ง่วง ยังพบว่าสามารถแก้สารพัดโรคได้อีกด้วย เช่น ต้านอนุมูลอิสสระที่เกิดขึ้นภายในเซลของร่างกาย ต้านอาการอักเสบ ต้านเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ ป้องกันตับจากสารพิษ และโรคอื่นๆอีกมากมายที่เกิดจากอนุมูลอิสสระ อย่างไรก็ตาม การที่เครื่องดื่มชาให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เนื่องจากมีองค์ประกอบของสารสำคัญในใบชาที่เรียกว่า แทนนิน หรือ ทีโพลีฟีนอล (Tea polyphenols) สารสำคัญกลุ่มนี้พบมากในพืชเกือบทุกชนิด แต่ละชนิดอาจจะมีโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกันไป สารแทนนินในใบชาสดหรือชาเขียวที่มีฤทธิ์ทางยาที่สำคัญได้แก่สารกลุ่มที่ชื่อว่า คาเทคชินส์ (catechins) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามีฤทธิ์ต้านโรคภัยได้มากมายหากดื่มเป็นประจำ แต่สารสำคัญจากใบชามักจะสลายตัวได้ง่ายและรวดเร็วเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศและความร้อน ดังนั้นเราลองมาพิจารณาดูว่าวิธีการชงชาหรือเครื่องดื่มชาแบบไหนที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด หรือแบบไหนจะได้ประโยชน์น้อยที่สุด หรือไม่ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเลย หรือในทางตรงกันข้ามมีผลเสียต่อร่างกายก็เป็นไปได้

  1. สำหรับผู้ที่นิยมดื่มน้ำชาร้อนๆ สารสำคัญที่เป็นประโยชน์คือ ‘คาเทคชินส์’ (Catechins) จะถูกความร้อนทำลายไปเกือบหมด คงเหลือแต่ความหอมและรสชาด ถ้าต้องการให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายแต่ยังนิยมชาร้อนๆ ควรดื่มน้ำชาที่เข้มข้น เช่นเดียวกับคนจีนแต้จิ๋ว ที่นิยมชงชาจีนรสเข้มข้นในถ้วยชาใบจิ๋วคล้ายกับการดื่มกาแฟเอ็กซ์เพรซโซ่ ความเข้มข้นของใบชาจะทำให้มีปริมาณสารคาเทคชินส์ที่เข้มข้น และแม้ว่าสารเหล่านี้จะสลายตัวไปบางส่วนเมื่อโดนความร้อนจากน้ำร้อน แต่จะยังคงมีบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ ที่พอจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง
  2. ชาเขียวหรือสารสกัดจากใบชาสด หากนำมาเตรียมเป็นเครื่องดื่มแช่เย็น ความเย็นจะช่วยรักษาคุณค่าของสารสำคัญในใบชาไว้ได้ดี อย่างไรก็ตามหากขบวนการผลิตเครื่องดื่มชาเขียวที่ต้องผ่านขบวนการต้มหรือทำให้ร้อนในขบวนการฆ่าเชื้อจุลลินทรีย์ก่อนบรรจุลงในขวด ปริมาณสารสำคัญในน้ำชาก็จะถูกทำลายหรือลดน้อยลงไปเช่นกัน
  3. การดื่มน้ำชาไม่ว่าจะชาร้อนหรือชาแช่เย็น ไม่ควรแต่งรสด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะน้ำนมสด นมข้นหรือนมผง เพราะโปรตีนในนมจะไปจับกับสารสำคัญในชา และทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิธีการดื่มชาเขียวให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงควรดื่มน้ำชาล้วนๆไม่ควรปรุงแต่ง สำหรับผู้ที่ชื่นชอบชาเย็นใส่นม จะไม่ได้ประโยชน์จากใบชาเลย
  4. ผู้ที่รับประทานวิตามินเสริม เช่น ธาตุเหล็ก เกลือแร่ หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาร่วมไปด้วย เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ในกรณีที่ดื่มน้ำชาร่วมกับการรับประทานอาหาร แร่ธาตุต่างๆจากผักใบเขียวหรือจากผลไม้ก็จะถูกสารสำคัญจากชาจับไว้หมดไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเช่นกัน
  5. โทษของการดื่มชาต่อร่างกายก็มีรายงานเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสำคัญคือแทนนิน ซึ่งจะไปตกตะกอนโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆจากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลดการดูดซึมของสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้นจึงมักจะมีคำแนะนำไม่ให้เด็กดื่มน้ำชา ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวแช่เย็นหรือชาร้อน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้
  6. ใบชายังมีองค์ประกอบที่ให้โทษต่อร่างกายที่ยังไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงคือ มีองค์ประกอบของฟรูออไรด์ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง และสูงกว่าปริมาณในน้ำประปา การที่ร่างกายได้รับเข้าไปทุกวันจากการดื่มน้ำชาเป็นประจำ จะเกิดการสะสม มีผลให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน (Osteofluorosis) โรคข้อ และโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับกระดูก แต่ผู้ที่ดื่มไม่มาก ก็คงไม่ต้องกังวล
  7. ใบชายังมีสารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีก คือ สารที่ชื่อว่า “ออกซาเรท oxalate” แม้ว่าสารชนิดนี้จะมีอยู่น้อย แต่หากผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชามากๆและดื่มบ่อยๆเป็นประจำ จะสะสมสารออกซาเรทในร่างกายได้ สารชนิดนี้มีรายงานว่ามีผลทำลายไต
  8. ใบชามีสารคาเฟอินน์ ในปริมาณสูง อาจสูงกว่าในเมล็ดกาแฟด้วยซ้ำไป เพียงแต่การดื่มน้ำชา สารแทนนินจากน้ำชาจะป้องกันหรือลดการดูดซึมของคาแฟอินน์เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นหัวใจและสมองน้อยกว่ากาแฟมาก
จากที่กล่าวไปข้างต้น พอสรุปได้ว่าเครื่องดื่มชามีทั้งคุณและโทษต่อร่างกาย ขึ้นอยู่กับการบริโภค ถ้ามากเกินไปจะเป็นโทษได้ ผู้ที่นิยมนำสารสกัดจากชาเขียวไปทำสปา โดยการหมักบนใบหน้าและผิวหนัง ควรผสมกับน้ำเย็น ไม่ควรผสมน้ำนมเด็ดขาด เพราะจะไปทำลายคุณค่าของสารสกัดชาเขียวตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การนำสารสกัดชาเขียวไปผสมกับอาหารอื่นๆ หากต้องนำไปทำให้ร้อน เช่น ขนมเค้ก คุณค่าชาเขียวจะหมดไป คงเหลือแต่รสชาติเท่านั้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการนำผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสกัดชาเขียวไปผ่านขบวนการความร้อน เพื่อคงคุณค่าของชาเขียวต่อสุขภาพร่างกาย

บทความฉบับนี้อาจทำให้ผู้บริโภคหลายคนงง เพราะเคยทราบแต่สารพัดประโยชน์ของชาเขียว แต่อ่านแล้วคงไม่ทำให้กลัวการการดื่มชา องค์ความรู้จากนักวิจัยจะช่วยให้เราระวังไม่บริโภคมากเกินไป เพราะเช่นเดียวกับทุกอย่าง ถ้ามากไปมักจะมีให้ผลเสียต่อร่างกายได้

เอกสารอ้างอิง
  1. http://www.thekitchn.com/does-putting-milk-in-your-tea-negate-its-health-benefits-food-news-177896
  2. https://www.healthstatus.com/health_blog/diabetes-3/milk-in-your-tea-not-a-good-idea/
  3. http://ajcn.nutrition.org/content/81/1/326S.full
  4. http://journal.frontiersin.org/article/10.3389/fphar.2016.00192/full
  5. http://www.m.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-960/green-tea
  6. http://www.teaanswers.com/side-effects-tea/

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.