Knowledge Article


ไวรัสร้ายของลูกน้อย…โรคอาร์เอสวี (RSV)


อาจารย์ ดร.ภญ. ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://png.clipart.me/graphics/thumbs/131/vector-illustration-of-
a-cute-sick-sitting-baby-in-diaper-with-ice-bag
-and-thermometer_131737166.jpg
131,094 View,
Since 2016-08-07
Last active: 2h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


หลายโรคที่มากับหน้าฝนและต้องเฝ้าระวังในช่วงนี้ มีหนึ่งในกลุ่มอาการที่มักพบบ่อย คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น หลายโรคพบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ในบางโรคนั้นการติดเชื้อในเด็กมักพบได้บ่อยและทำให้มีอาการรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งหนึ่งในโรคเหล่านั้นคือ การติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV, Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งพบการติดเชื้อได้ตลอดทั้งปี ซึ่งโรคนี้จัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างในเด็กเล็กที่พบได้มากที่สุดโรคหนึ่ง โดยคาดการณ์ว่าในเด็กอายุสองขวบทุกคนจะต้องเคยติดเชื้อชนิดนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง ในประเทศไทยช่วงที่พบบ่อยที่สุดคือช่วงฤดูฝน ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน



ภาพจาก : http://previews.123rf.com/images/1507kot/1507kot1109/

1507kot110900012/10688937-sick-boy-lying-in-bed-

with-fever-illustration--Stock-Vector-sick-cartoon-child.jpg


อาร์เอสวี (RSV) คืออะไร

โรคอาร์เอสวีเกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสอาร์เอสวีซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ไวรัสชนิดนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 4–6 วันหลังจากได้รับเชื้อ โดยส่วนมากมักไม่ค่อยแสดงอาการรุนแรงในผู้ใหญ่ อาการที่พบในผู้ใหญ่โดยทั่วไปมักคล้ายคลึงกับอาการของโรคหวัด คือ ปวดหัว มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ไอแบบไม่มีเสมหะ มีอาการคัดจมูก โดยอาการเหล่านี้มักหายได้เองใน 1–2 สัปดาห์

แต่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะมีอาการที่รุนแรงคือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำมักก่อให้เกิดอาการรุนแรง นอกจากนี้ผู้ป่วยอีกกลุ่มที่พบการติดเชื้อโรคนี้ได้บ่อยและมีอาการรุนแรงคือ เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ โดยเฉพาะในเด็กทารกจะมีอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้โรคมีความรุนแรงสูง

ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจะมีอาการเริ่มต้นเช่นเดียวกับอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนคือ มีอาการคล้ายหวัดธรรมดา แต่หลังจากนั้น 1–2 วันอาจจะมีอาการแสดงของการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างได้แก่ มีไข้ ไอรุนแรง หายใจลำบากโดยอาจมีอาการหายใจเร็ว หรือมีเสียงวี๊ดขณะหายใจ

ในเด็กเล็กซึ่งยังสื่อสารไม่ได้จะต้องอาจจะต้องอาศัยการสังเกตอาการ โดยในช่วงแรกจะมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล ซึมลง และทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้น 1–3 วัน จะมีอาการไอ มีไข้ หายใจลำบาก หายใจตื้น สั้นๆ เร็วๆ และอาจจะมีเสียงตอนหายใจด้วย ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจมีอาการตัวเขียวหรือภาวะ cyanosis เกิดเนื่องมาจากการขาดออกซิเจนทำให้สีผิวออกม่วงๆ โดยมักจะเริ่มเห็นจากริมฝีปากหรือที่เล็บ นอกจากนี้แล้วการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีอาจจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆที่พบมากคือ หูชั้นกลางอักเสบ (otitis media) หรือในภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างอื่นๆ เช่น หลอดลมอักเสบหรือปวดบวมได้ ซึ่งภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนหรืออาการของโรคในกรณีที่รุนแรงมากควรจะได้รับการดูแลจากแพทย์ในโรงพยาบาล

อาร์เอสวี (RSV) ติดต่อทางไหน

ไวรัสอาร์เอสวีสามารถแพร่กระจายผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจเช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เป็นต้น และไวรัสชนิดนี้สามารถทนอยู่นอกร่างกายได้หลายชั่วโมง ดังนั้นนอกจากการได้รับเชื้อผ่านการไอจามใส่กันแล้ว ยังสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วนำเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปากและเยื่อบุดวงตาได้ ภายหลังการได้รับเชื้อผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่หลังติดเชื้อ 2–3 วันไปจนถึง 2–3 สัปดาห์ ดังนั้นในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการแสดงควรลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นโดยการใส่ผ้าปิดปาก

การตรวจและวินิจฉัย โดยส่วนมากการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์จะทำโดยการซักประวัติและตรวจดูอาการ หากต้องการการตรวจยืนยันจึงจะทำการส่งตรวจเพิ่มเติมเป็นรายๆ ไป ซึ่งในบางโรงพยาบาลอาจจะมีการตรวจยืนยันหาเชื้อด้วยวิธี RSV Rapid Ag-detection test ซึ่งได้ผลการทดสอบภายในไม่กี่ชั่วโมง

อาร์เอสวี (RSV) รักษาอย่างไร

เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสจึงทำให้ไม่มียารักษาอาการโดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น ส่วนในรายที่เริ่มมีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อย หอบ มีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำลง อาจมีการให้ยาพ่นขยายหลอดลม ร่วมกับการให้ออกซิเจน ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจจะต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้อาจจะต้องมีการให้สารน้ำทดแทนเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำโดยเฉพาะในเด็ก ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้ออื่นๆ มักจะได้รับยาฆ่าเชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสมตามอาการ

การป้องกันและการเฝ้าระวัง เนื่องจากโรคนี้ติดต่อทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ดังนั้นควรปฏิบัติตนตามหลักการรักษาสุขลักษณะที่ดี หมั่นล้างมือบ่อยๆ หากมีการติดเชื้อหรือมีอาการควรสวมใส่ผ้าปิดปากเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น โดยเฉพาะตามโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก หากมีเด็กที่มีอาการป่วยควรแยกออกจากเด็กปกติ และควรให้เด็กหยุดการเรียนจนกว่าจะหายจากการติดเชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค

อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรคนี้จะติดต่อได้ง่ายและมักมีความรุนแรงในเด็กเล็ก ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นหากต้องฝากเด็กเล็กไว้ตามสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือในครอบครัวมีเด็กที่โตกว่าและไปโรงเรียน หรือการนำเด็กเล็กไปสถานที่ชุมชน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเพิ่มความเสี่ยงต่างๆ หรือหากจำเป็นเช่น มีพี่น้องที่ไปโรงเรียนแล้ว จะต้องระมัดระวัง และควรล้างมือก่อนสัมผัสกับเด็กเล็ก การรักษาสุขลักษณะและการล้างมือบ่อยๆ จะช่วยลดการติดต่อของเชื้อ และควรเพิ่มความระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนเพื่อให้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเจ็บป่วย

เอกสารอ้างอิง
  1. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Respiratory syncytial virus (RSV). [Accessed on July 2016] from: http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/respiratory-syncytial-virus/basics/definition/con-20022497.
  2. Krilov L.R. Respiratory Syncytial Virus Infection. [Accessed on July 2016] from: http://emedicine.medscape.com/article/971488-overview#showall.
  3. Centers for disease control and prevention. Respiratory Syncytial Virus Infection (RSV). [Accessed on July 2016] from: http://www.cdc.gov/rsv/clinical/index.html.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.