Knowledge Article


คอนแทคเลนส์ ภัยใกล้ตา


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จากนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 3 เพื่อประกอบการเรียนวิชาเภสัชจุลชีววิทยา
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://www.geteyesmart.org/eyesmart/images/highlights/Soft-contact-lens.jpg
32,225 View,
Since 2015-10-18
Last active: 1 days ago
https://tinyurl.com/25puyxep
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


คอนแทคเลนส์คืออะไร ?

ในปัจจุบันหากพูดถึงคอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัสคงจะเป็นคำที่คุ้นเคยสำหรับใครหลายคน เนื่องจากผู้คนหันมานิยมใช้คอนแทคเลนส์แทนแว่นสายตากันมากขึ้น ซึ่งคอนแทคเลนส์มีความคมชัดในการมองภาพและสะดวกสบายในการใส่มากกว่า รวมถึงหาซื้อได้ง่าย คอนแทคเลนส์เป็นเครื่องมือแพทย์อย่างหนึ่ง ผลิตจากโพลิเมอร์หรือวัสดุอื่นๆ ลักษณะเป็นแผ่นโค้ง ใช้ครอบบริเวณกระจกตาเพื่อแก้ไขปัญหาสายตา รักษาโรคตาบางอย่าง หรือเพื่อความสวยงาม

คอนแทคเลนส์หากแบ่งตามชนิดวัสดุอาจแบ่งได้ 2 แบบคือ คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ทำจากพลาสติกพิเศษทำให้มีการซึมผ่านของออกซิเจนได้ คงทนต่อการขีดข่วน และมีราคาถูก แต่ในระยะแรกจะรู้สึกไม่สบาย และคอนแทคเลนส์แบบนิ่ม ทำจากวัสดุที่มีลักษณะนิ่ม บิดงอได้ ทำให้ออกซิเจนสามารถผ่านเข้าสู่กระจกตาได้ ใช้ง่ายและสะดวกกว่าชนิดแข็ง สำหรับคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ 5 แบบ คือ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน สามแบบนี้เป็นที่นิยมใช้มากในปัจจุบัน ส่วนรายปี นิยมใช้น้อยกว่าเนื่องจากต้องใช้การดูแลที่เข้มงวดมากกว่า และชนิดใส่ต่อเนื่อง ซึ่งปกติจะไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากต้องใส่ติดต่อกัน 2-4 สัปดาห์แล้วจึงเปลี่ยน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้มากกว่าแบบที่ใส่แล้วถอดทุกวัน ปัจจัยสำคัญในการใช้คอนแทคเลนส์คือความจำเป็นในการใช้ เข้าใจการปฏิบัติตนในการใส่ ถอด และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์

ใครบ้างที่ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ ?

ผู้ป่วยโรคตา ได้แก่ ผู้ที่มีสภาวะของดวงตาผิดปกติ เช่น ต้อเนื้อ ต้อลม ตาแดง กระจกตาไวต่อความรู้สึกลดลง ตาแห้ง กระพริบตาไม่เต็มที่ ผู้ที่มีการติดเชื้อที่ดวงตาบ่อย ผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้ที่ดวงตา ผู้ที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นควัน หรือละอองสิ่งสกปรกในปริมาณมาก ห้ามใส่คอนแทคเลนส์

ใช้คอนแทคเลนส์อย่างไรให้ถูกต้อง ?

การใช้คอนแทคเลนส์ควรใช้อย่างถูกวิธี ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนใส่คอนแทคเลนส์ ใส่คอนแทคเลนส์ครอบกระจกตาทั้งหมด หากใส่แล้วมีอาการแสบให้หลับตาลงสักครู่ หากไม่หายให้ถอดคอนแทคเลนส์ออกทันที ทุกครั้งที่ถอดคอนแทคเลนส์ให้ล้างด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ ถูเบาๆเพื่อเป็นการกำจัดคราบโปรตีนและไบโอฟิล์ม ใส่ลงในตลับสำหรับคอนแทคเลนส์แล้วแช่ด้วยน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ น้ำยาล้างและแช่คอนแทคเลนส์อาจใช้ได้ทั้งแบบล้าง แช่และกำจัดคราบโปรตีนในขวดเดียว หรือล้าง แช่และกำจัดคราบโปรตีนแยกขวดกัน ซึ่งแบบหลังนิยมและมีกระสิทธิภาพดีกว่า น้ำเกลือสามารถใช้ล้างคอนแทคเลนส์ได้แต่ไม่นิยมใช้แช่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากไม่ฆ่าเชื้อและยังทำให้เชื้อเจริญได้ดีอีกด้วย สำหรับน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) มี 2 ขวด คือใช้ล้างเลนส์และใช้แช่เลนส์ในขวดพิเศษ แต่ไม่นิยมเพราะมีหลายขั้นตอนและต้องแช่ให้ครบเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการเจ็บตาได้ ผู้ใช้ควรใช้ คอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธี เพราะหากใช้ผิดวิธีอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การติดเชื้อที่กระจกตาจากการใส่คอนแทคเลนส์ ติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ได้อย่างไร ?

ปกติกระจกตาดำจะต้องการออกซิเจนจากอากาศที่ละลายผ่านน้ำตาเข้ามา การใส่คอนแทคเลนส์ลดการส่งผ่านออกซิเจนระหว่างอากาศกับกระจกตาดำ ส่งผลให้กระจกตาดำขาดออกซิเจน เซลล์เยื่อบุผิวกระจกตาดำลดจำนวนลง และภูมิคุ้มกันของกระจกตาดำแย่ลง จึงเกิดการติดเชื้อและโรคกระจกตาอักเสบ (Keratitis) ได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่ติดเชื้อรุนแรงทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ปัจจัยหลักที่เป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อคือการใส่คอนแทคเลนส์เวลานอนหลับ ปัจจัยอื่นๆ เช่น การปนเปื้อนในน้ำยาล้างหรือตลับใส่คอนแทคเลนส์

ติดเชื้ออะไรได้บ้าง ?

การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรียแกรมลบ แผลติดเชื้อมักอยู่ตรงกลางกระจกตา มีหนองและขี้ตา เช่น ซูโดโมแนส (Pseudomonas spp.) นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้ออื่นๆได้ ได้แก่ โปรโตซัว พบได้ในน้ำบาดาล น้ำทิ้ง น้ำในสระว่ายน้ำที่ทำความสะอาดไม่ดี ดินและฝุ่นละออง ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ที่ทำความสะอาดโดยใช้น้ำเกลือผสมเอง มีโอกาสติดเชื้อ เช่น อะแคนทามีบา (Acanthamoeba spp.) อีกชนิดหนึ่งคือเชื้อรา แผลติดเชื้อมีขอบเขตไม่ชัดเจน ลึก พบในคอนแทคเลนส์และน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่ปนเปื้อน เช่น ฟิวซาเรียม (Fusarium spp.)

รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ ?

เริ่มต้นมีอาการคัน ระคายเคือง หรือมีน้ำตาไหล ต่อมามีอาการตาแดง ปวดตา ตามัว น้ำตาไหล มองสู้แสงไม่ได้ มีขี้ตา เปลือกตาบวม อาจเห็นจุดสีขาวอยู่บนกระจกตาได้ ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์และมีอาการต่างๆเหล่านี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าจะติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ หากไม่รักษาตั้งแต่เริ่มต้น จุดขาวที่เกิดขึ้นจะลุกลามเป็นหนองสีขาวในช่องหน้าลูกตา ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆที่ดวงตา เช่น กระจกตาทะลุ ต้อหิน ต้อกระจก ไปจนถึงสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

ทำอย่างไรเมื่อติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์แล้ว ?

ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง เจ็บตา มีขี้ตา เห็นภาพไม่ชัด ควรหยุดใส่คอนแทคเลนส์ และรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที

น้ำตาเทียมจำเป็นหรือไม่สำหรับผู้ใช้คอนแทคเลนส์ ?

ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคลเมื่อใช้คอนแทคเลนส์ หากมีอาการตาแห้งอาจใช้น้ำตาเทียมช่วยได้

ป้องกันการติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ได้อย่างไร ?

การป้องกันการติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์สามารถทำได้โดยใช้คอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธี และรักษาความสะอาดของคอนแทคเลนส์ โดยใส่คอนแทคเลนส์เมื่อจำเป็นและอยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์และดวงตา ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ขณะนอนหลับและขณะว่ายน้ำ ไม่ใช้น้ำประปา น้ำบาดาล น้ำเกลือที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อในการทำความสะอาด ไม่ใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่นและไม่ใช้ต่อเนื่องนานเกิน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ตามระยะเวลาที่กำหนด

สำหรับตลับใส่คอนแทคเลนส์ ควรเปลี่ยนตลับทุกๆ 3-6 เดือน หมั่นทำความสะอาดตลับใส่คอนแทคเลนส์ ไม่ควรใช้น้ำประปาในการล้างตลับใส่คอนแทคเลนส์ การทำความสะอาดตลับใส่คอนแทคเลนส์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ล้างด้วยน้ำร้อนหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง และคว่ำตลับคอนแทคเลนส์ลงทุกครั้งหลังใช้งาน

ในการป้องกันการติดเชื้อจากน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ทำได้โดยเลือกใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่ได้มาตรฐาน และเปลี่ยนนำยาล้างคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง เมื่อใช้แล้วควรทิ้งทันที ไม่ใช้ซ้ำ

เห็นได้ว่าการใช้คอนแทคเลนส์แม้จะมีประโยชน์ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆตามมาจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นไปได้ ดังนั้นการใช้และดูแลรักษาคอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธีจึงมีความสำคัญ องค์การอาหารและยา (อย.) ได้มอบคาถาสามข้อเพื่อการใช้คอนแทคเลนส์อย่างปลอดภัย สรุปสั้นๆได้เป็น 3C คือ ใช้คอนแทคเลนส์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. (Certificate) ใช้อย่างถูกวิธี (Correct) และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ (Clean) เท่านี้ผู้ใช้ก็ปลอดภัยจากอันตรายของคอนแทคเลนส์

เอกสารอ้างอิง
  1. กระจกตาติดเชื้อ[อินเทอร์เน็ต]. 2556[อัพเดต 17 กันยายน 2556; สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558]. แหล่งที่มา : http://www.chakshustan.com/กระจกตาติดเชื้อ/
  2. สุนันทา สุขสุมิตร. ความเข้าใจผิดของวิธีทำความสะอาดคอนแทคเลนส์[อินเทอร์เน็ต]. 2554[อัพเดต 23 ธันวาคม 2554; สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558]. แหล่งที่มา: http://www.thaihealth.or.th/Content/1351-ความเข้าใจผิดของวิธีทำความสะอาดคอนแทคเลนส์.html
  3. สุนันทา สุขสุมิตร. คอนแทคเลนส์ใช้งานให้ถูกวิธี[อินเทอร์เน็ต]. 2553[อัพเดต 17 กันยายน 2553; สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558].แหล่งที่มา: http://www.thaihealth.or.th/Content/10211-คอนแทคเลนส์ใช้งานให้ถูกวิธี.html
  4. อรทัย ชาญสันติ. ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้คอนแทคเลนส์[อินเทอร์เน็ต]. 2552[สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558]. แหล่งที่มา: http://www.isoptik.com/isoptik/datas/eyecare1/8-7_13.php
  5. Kimbom. เคล็ดลับ เลือกน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์[อินเทอร์เน็ต]. 2553[อัพเดพ 18 มกราคม 2553; สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558]. แหล่งที่มา: http://www.thaihealth.or.th/node/13628 Yvonne Tzu-Ying Wu, Mark Willcox, Hua Zhu, Fiona Stapleton. Contact lens hygiene compliance and lens case contamination. ARTICLE IN PRESS[internet]. 2558[สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558]; 1-10.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.