Knowledge Article


อันตรายจากการสัก


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://i.telegraph.co.uk/multimedia/archive/02941/wcup-tattoo-1_2941070k.jpg
55,181 View,
Since 2015-09-20
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/2asoz5rk
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ปัจจุบันมีผู้คนทั้งชายหญิงให้ความสนใจกับการทำแทททูหรือการสักผิวหนัง หรือการใช้เครื่องสำอางชนิดถาวร ตั้งแต่การเขียนคิ้ว ขอบตา ขอบปาก การเพิ่มสีสันด้วยภาพกราฟฟิคลงบนผิวหนังตามส่วนต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา แผ่นหลัง หน้าอก เต้านม รวมทั้งหัวนม เป็นต้น

การสัก หรือ แทททู (Tattoos) เป็นเทคนิคการใส่เม็ดสีหรือน้ำหมึกคือโลหะหนัก เช่น ไอออนออกไซด์ (Iron oxide) เข้าไปฝังใต้ผิวหนัง อุปกรณ์ที่ใช้อาจจะเป็นเข็มขนาดเล็ก หรือ อาจเป็นอุปกรณ์อีเลคโทรนิคคล้ายปืนยิงมีเข็มอยู่ที่ปลาย เม็ดสีจะถูกปลายเข็มเจาะฝังเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนัง ขั้นตอนและเทคนิคการทำต้องถูกสุขลักษณะ ตั้งแต่เข็ม อุปกรณ์ สถานที่ และความชำนาญของผู้ที่จะลงมือสักให้ลูกค้า การฝังเข็มลงไปแต่ละครั้งก็ต้องทำให้เกิดการเจ็บปวด มีเลือดออก
    ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการสัก
  • อักเสบติดเชื้อบริเวณที่ทำ จากเข็มหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
  • อาการแพ้ เป็นผื่นแดง คัน บวม หรือผิวหนังไหม้ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทันที หรืออาจเกิดภายหลังการทำอีกนานหลายปีก็เป็นได้
  • อาจเกิดคีลอยด์ (Keloids) หรือแผลเป็นมีลักษณะเป็นเนื้อนูนที่ผิวหนัง
ในต่างประเทศพบประวัติการเกิดมะเร็งเต้านมของผู้ที่ทำสักบริเวณเต้านม และหัวนม ทั้งที่วัตถุประสงค์ของการทำเป็นเพียงการเพิ่มสีสนให้น่าดึงดูดจากเพศตรงข้ามเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่าอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากเม็ดสีหรือน้ำหมึกที่ถูกฝังเข้าไปใต้ผิวหนังเป็นสารแปลกปลอมของร่างกาย

เม็ดสีที่ใช้ทำการสักมีมากมายหลากหลายเฉดสี และดูเหมือนจะมีให้เลือกมากขึ้นทุกวัน แม้ว่าเม็ดสีที่ใช้จะเป็นชนิดสีที่เป็นเกรดคุณภาพสำหรับเครื่องสำอาง แต่ก็ยังไม่มีสีชนิดใดที่ผ่านการรับรองหรืออนุญาตจากองค์การอาหารและยา หรือ อย.ให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือผ่านเข้าร่างกายได้ อย.ของสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศเตือนผู้บริโภคว่าเม็ดสีหลายชนิดที่ใช้ทำการสักกันอยู่นั้นยังไม่ผ่านการรับรองให้สัมผัสกับผิวหนังด้วยซ้ำไป บางชนิดเป็นเกรดสีโรงงานสำหรับทำผ้าหมึกในงานพิมพ์หรือสีทารถยนต์

ในผู้บริโภคบางรายจำเป็นต้องสักเนื่องจากเป็นโรคผมร่วง ทำให้ไม่มีขนคิ้ว ในขณะที่หลายคนทำการสักเพราะเป็นแฟชั่นจากต่างประเทศ ผู้หญิงหลายคนทำเพราะไม่ต้องการเสียเวลาเขียนคิ้ว เขียนขอบตาหรือขอบปากทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน บางรายสักเพื่อเสริมกับศัลยกรรมตกแต่งส่วนอื่นของร่างกาย เช่น เติมเม็ดสีให้ผิวหน้าหรือหัวนม เป็นสีชมพู เป็นต้น ไม่ว่าจะต้องการสักด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผู้บริโภคควรตระหนักถึงอาการข้างเคียงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจทำ

ปัญหาที่พบทั่วไปภายหลังการสัก: ความไม่พอใจกับผลที่ได้รับ

ผู้ที่ทำการสักไปแล้วมากมายที่ไม่พอใจกับผลที่ได้รับ เช่น ไม่สวยตามที่คาดหวัง หรือบางรายก็เบื่อแล้ว ดังนั้นปัญหาตามมาคือ แผลและรอยสักที่ผิวหนังจะกำจัดออกยากมากหรือแทบจะเป็นไปได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นคิ้ว ขอบตา รวมทั้งรอยสักอื่นๆตามส่วนต่างๆของร่างกาย

สาเหตุความไม่พึงพอใจในรอยสักหรือเครื่องสำอางถาวรที่ทำเพราะสรีระร่างกายคนเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและแฟชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผิวหนัง มีการขยายออกหรือหดตัวเมื่อร่างกายอ้วนหรือผอม ทำให้เม็ดสีที่ทำไว้นานแล้วแตกไม่สวยงาม และอาจเป็นสิ่งสร้างปมด้อยให้เจ้าของต้องอับอายอีกด้วยเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป และเมื่อถึงเวลานั้นการต้องการกำจัดเม็ดสีเหล่านั้นออกไปเป็นเรื่องยาก การให้แพทย์ใช้รังสีเลเซอร์ยิงเพื่อกำจัดเม็ดสีใต้ผิวหนังออกเป็นวิธีที่ทำกันมากที่สุด แต่ต้องทำหลายๆครั้ง ค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ไม่สามารถกำจัดได้ทั้งหมด

อะไรคือสักชนิดชั่วคราว ปลอดภัยกว่าหรือไม่

การทำสักชนิดชั่วคราว (Temporary Tattoos) หลักการโดยใช้สำลีชื้นชุบสีหรือเม็ดสีวางและกดลงบนผิวหนัง ให้เม็ดสีซึมซับลงบนตำแหน่งที่ต้องการ วิธีนี้เม็ดสีจะไม่อยู่ถาวร แต่จะค่อยๆจางลงภายหลังจากการทำเพียงไม่กี่วัน วิธีนี้จะปลอดภัยกว่าการทำการสักชนิดถาวร เม็ดสีที่ใช้ต้องเป็นชนิดที่ใช้กับเครื่องสำอางได้ (Cosmetics grade) สถานบริการบางแห่งใช้สีเฮนน่า (Henna) ซึ่ง อย.อนุญาตให้ใช้กับเส้นผมเท่านั้น ไม่ใช่กับผิวหนัง อีกประการหนึ่ง สีที่แท้จริงของเฮนน่าจากธรรมชาติแท้ต้องเป็นสีแดงน้ำตาล แต่สีที่วางจำหน่ายจะมีฉลากแสดงสีหลากหลายเฉด เช่น สีเฮนน่าดำ สีเฮนน่าน้ำเงิน เป็นต้น แสดงว่าจะต้องมีการผสมสีอื่นๆที่อาจไม่ใช่สีที่รับรองความปลอดภัยจาก อย.ได้ อาการแพ้หรืออาการข้างเคียงต่างๆก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการทำการสักถาวร

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.