Knowledge Article


กลิ่นตัว วิธีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://www.womenshealthmag.com/sites/womenshealthmag.com/files/images/sweaty-workout_0.jpg
34,860 View,
Since 2015-09-18
Last active: 2m ago
https://tinyurl.com/238ygdsv
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


หน้าร้อนมาถึงเร็วมากในปีนี้ ร้อนมากกว่าทุกปีด้วย เหงื่อก็ต้องออกมากเพราะอากาศร้อนและชื้นมาก การหมักหมมของเหงื่อในที่อับชื้นในส่วนต่างๆของร่างกาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีและรวดเร็ว ก่อให้เกิดกลิ่นตัวที่เหม็นบูดหรือกลิ่นเปรี้ยวและฉุน เป็นที่รังเกียจของสังคม แต่มักจะไม่มีคนรอบตัวกล้าเอ่ยปากบอกกล่าว

กลิ่นตัวเกิดได้จากอีกหลายๆ สาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากกลิ่นของเหงื่อไคลที่สะสมและรวมตัวกับเชื้อแบคทีเรียใต้วงแขนที่อุ่นและชื้น ทำให้กลายเป็นกลิ่นเหม็นเปรี้ยว สิ่งแรกที่ควรจัดการเมื่อรู้ตัวว่ามีปัญหาคือ อาบน้ำฟอกตัวด้วยสบู่ให้มากๆ ในอากาศร้อนชื้นเช่นนี้ การอาบน้ำเพียงไม่กี่ขัน อาจไม่เพียงพอที่จะชำระร่างกายให้สะอาดอย่างจริงจัง และควรผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวัน และผลัดเปลี่ยนผ้าปูที่นอนอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อกำจัดกลิ่นเหงื่อไคลที่ติดค้างอยู่บนเครื่องที่นอน

วิธีกำจัดกลิ่นตัว อาจช่วยตัวเองได้ง่ายๆโดยการใช้ผลิตภัณฑ์ดีโอโดแล้น (Deodorant) หรือ ยาระงับเหงื่อ (Antiperspirant) นักวิชาการบางท่านแนะนะให้กำจัดขนใต้วงแขนด้วย เนื่องจากเส้นขนเหล่านี้จะเป็นที่สะสมของแบคทีเรีย หรืออาจจะใช้สำลีชุบอัลกอฮอลเช็ดทำความสะอาดเส้นขนใต้วงแขนเพื่อกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ก่อนที่จะทายาระงับกลิ่นหรือระงับเหงื่อ วิธีนี้จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ทำงานได้ผลดีขึ้น

ความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นหรือดีโอโดแล้น และผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ

ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ มีองค์ประกอบในสูตรตำรับคือน้ำหอมและสารเคมีที่ทำหน้าที่อุดรูของต่อมเหงื่อเพื่อระงับไม่ให้ต่อมเหงื่อออกมาจากรูขุมขน หลักการก็คือเมื่อไม่มีเหงื่อ ใต้วงแขนจะแห้ง กลิ่นก็ไม่เกิด ตัวอย่างสารเคมีที่นิยมใช้เช่น เกลือของโลหะหนักอลูมิเนียมชนิดต่างๆ โลหะหนักชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการจับกับเกลือแร่ของน้ำเหงื่อกลายเป็นสารประกอบเชิงซ้อนคล้ายเจล กึ่งแข็งกึ่งเหลว และไปอุดตันรูขุมขนของต่อมเหงื่อ การอุดตันของรูขุมขน เมื่อสะสมมากๆเข้า จะถูกร่างกายกำจัดออกทางผิวหนังโดยขบวนการผลัดเซลผิวหนัง อย่างไรก็ตามการไปบล็อกไม่ให้ต่อมเหงื่อทำงานปกติ นักวิชาการเองไม่ค่อยแนะนำ เพราะค่อนข้างผิดธรรมชาติ นอกจากนั้นยังเคยมีรายงานการวิจัยว่าการสะสมของสารโลหะหนักอลูมิเนียม อาจแทรกซึมเข้าระบบไหลเวียนของเลือด เนื่องจากต่อมเหงื่อและต่อมไขมันใต้วงแขนอยู่ใกล้กับเต้านม ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคต่างๆตามมา ดังนั้นวิธีการกำจัดกลิ่นตัวด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ น่าจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ได้ดีกว่า

ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นหรือดีโอโดแล้น จะทำหน้าที่หลักคือช่วยลดกลิ่นของร่างกายที่เกิดจากแบคทีเรีย องค์ประกอบหลักในสูตรตำรับของผลิตภัณฑ์คือ น้ำหอม และยากำจัดเชื้อแบคทีเรียโดยมีอัลกอฮอลเป็นตัวทำละลาย สินค้าที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักดีคือ ‘มัม’ แอลกอฮอลจะทำหน้าที่เสริมฤทธิ์ในการทำลายเชื้อแบคทีเรียด้วย กรณีการใช้ผลิตภัณฑ์ดีโอโดแล้น เหงื่อจะยังคงออกได้ตามธรรมชาติซึ่งแตกต่างจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาระงับเหงื่อ

สินค้าในตลาด บางชนิดได้นำหลักการของทั้งผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อและผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นมารวมเข้าด้วยกันเป็นผลิตภัณฑ์เดียวกัน ตัวอย่างเช่น โรลออนทั้งหลายที่ขายกันอยู่ในห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้เราอาจเคยได้ยินสินค้าเก่าแก่ที่คนในยุคปู่ย่าตายายนิยมใช้กัน คือสารส้ม ที่ใช้สำหรับตกตะกอนน้ำให้ใส สารส้มมีชื่อทางเคมีคือ อลูมิเนียมอลัม (Aluminium alum) ในตลาดเมืองไทยจะหาได้ยาก แต่เป็นที่นิยมใช้กันมากในต่างประเทศเพราะราคาถูกและมีความระคายเคืองน้อย สารส้มหรืออลูมิเนียมอลัม มีลักษณะเป็นผลึกคริสตัลใส ละลายน้ำได้ดีมาก ในอุตสาหกรรม จะนำผลึกสารส้มมาเจียระไนด้วยมือเป็นก้อนในรูปแบบต่างๆให้สวยงาม ห่อด้วยกระดาษและบรรจุกล่อง ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มากที่สุด ขายดีเกือบจะเป็นอันดับหนึ่งของผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นตัวและระงับเหงื่อในต่างประเทศ แต่กลับหายากมากในประเทศไทย

ข้อควรรู้สำหรับอันตรายอันอาจเกิดจากสารอลูมิเนียมในผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ

มีรายงานการวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าโลหะอลูมิเนียม ที่สะสมเข้าร่างกายจากยาระงับเหงื่อ มีผลต่อเนื้อเยื่อสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบสารเหล่านี้ในสมองคนไข้อัลไซเมอร์ (Alzheimer) และยังกระจายไปในกระแสเลือดและทางเดินของสายรกอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาการสะสมของโลหะอลูมิเนียมจากการใช้ยาระงับเหงื่อ อาจมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง
  1. A novel treatment for open burn management protocols. J dermatology Treat. 2009; 20(4): 2019-22.
  2. PubMed: Helix and Drugs; snails for western health care from antiquity to the present 2005.
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Deodorant

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.