Knowledge Article


มะเขือเทศ กับ ไลโคพีน


เภสัชกรหญิงกฤติยา ไชยนอก
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://www.recycledevon.org
53,516 View,
Since 2015-09-14
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ม้าอะไรเอ่ยสีแด๊งแดง? / ม้าทาสี

ม่ายช่าย... / ม้าโดนรถชน

ม่ายถูก... / ฮ่วย!! แล้วม้าอะไรสีแดง

ก็ม้าเขือเทศไงล่า../ เงอะ..มุขห้าบาทสิบบาทก็ยังจะเล่นเนอะ


กับคำถามไร้สาระที่โดนถามทีไรก็ต้องปวดหัวทุกที เฮ้อ...จะม้าอะไรก็เอาเถอะ แต่เจ้าม้า เอ้ย!! มะเขือเทศเนี่ย มันไม่ไร้สาระนะจ๊ะ เพราะมะเขือเทศที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันน่ะ เขาไม่ได้มีประโยชน์แค่ใช้เป็นอาหารหรอกนะ เพราะจากงานวิจัยต่างๆ ทำให้ทราบว่ามะเขือเทศมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเพียบเลยละขอบอก มามะ...มาทำความรู้จักกับมะเขือเทศให้มากขึ้นกันเถอะ

มะเขือเทศมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycopersicon esculentum Mill. อยู่ในวงศ์ SOLANACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือ เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว สูงได้ถึง 2 ม. ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ขอบใบเว้าลึกดูคล้ายเป็นใบประกอบแบบขนนก ดอกช่อออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ผลสดรูปทรงกลมหรือรูปทรงกระบอก ผิวเรียบหรือเป็นร่องตามยาว เมื่อยังอ่อนอยู่มีสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีแดง ชมพูส้มหรือเหลืองเมื่อสุก เมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลอ่อนแบน มีได้ถึงผลละ 250 เมล็ด สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ใบ ใช้รักษาหน้าเกรียมเนื่องจากถูกแดดเผา ผล ใช้เป็นยาระบาย ช่วยให้เจริญอาหาร แก้กระหายน้ำ แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยย่อยอาหาร และใช้ฟอกเลือด น้ำมะเขือเทศที่คั้นใหม่ๆ สามารถใช้ทำความสะอาดผิว ทำให้ผิวนุ่มเนียน จึงนิยมนำมะเขือเทศมาพอกหน้า และปัจจุบันก็มีการใช้น้ำมะเขือเทศเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางด้วย ในมะเขือเทศมีกรดอินทรีย์ น้ำตาล วิตามิน A, B, C และสารสำคัญในกลุ่มแคโรทีนอยด์อย่างไลโคพีน (lycopene) ที่ทำให้มะเขือเทศมีความโดดเด่นเหนือพืชผักอื่นๆ

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาระบุว่า มะเขือเทศและสารสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะสารไลโคพีน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ต้านการอักเสบ ช่วยลดไขมันและน้ำตาลในเลือด และมีฤทธิ์ต้านมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งต่อมลูกหมาก การศึกษาทางคลินิกจำนวนมากพบว่า การบริโภคมะเขือเทศสด ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ สารสกัดมะเขือเทศ และสารไลโคพีน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ อีกทั้งยังช่วยลดขนาดและยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งดังกล่าวด้วย นอกจากนี้มะเขือเทศยังมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และในขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษของการบริโภคมะเขือเทศในรูปแบบของอาหารเลย หลายๆ คนอาจคิดว่าการรับประทานผักสดเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ได้สารสำคัญในพืชผักเยอะๆ แต่ในกรณีของสารไลโคพีน ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะการศึกษาเปรียบเทียบปริมาณสารไลโคพีนในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะเขือเทศ (ที่น้ำหนักเท่ากัน) เช่น ซอสมะเขือเทศ (Tomato ketchup) น้ำมะเขือเทศ ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น (Tomato paste) ซุปมะเขือเทศเข้มข้น มะเขือเทศปรุงสุก มะเขือเทศผง และมะเขือเทศสด ทำให้สามารถเรียงลำดับปริมาณของไลโคพีนจากน้อยไปมากได้ดังนี้ มะเขือเทศสด < มะเขือเทศปรุงสุก < ซุปมะเขือเทศเข้มข้น < น้ำมะเขือเทศ < ซอสมะเขือเทศ < มะเขือเทศผง < ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น จะเห็นได้ว่ามะเขือเทศที่ผ่านกระบวนการและความร้อน จะมีปริมาณของสารไลโคพีนมากกว่ามะเขือเทศสด แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคมะเขือเทศสดก็จะทำให้ได้วิตามินและสารอื่นๆ ที่สลายไปในระหว่างกระบวนการผลิตแทน ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกรับประทานมะเขือเทศในรูปแบบใด ก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น เมื่อทราบแบบนี้แล้ว จะรับเป็นสปาเก็ตตี้โบโลเนส ซุปมะเขือเทศ หรือพิซซ่าหน้าซอสมะเขือเทศชุ่มๆ ดีคะ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 17 ฉบับที่ 3

ุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 21 ฉบับที่ 4
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.