Knowledge Article


พยาธิใบไม้และปัจจัยเสี่ยงมะเร็งตับ


รองศาสตราจารย์ แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
30,676 View,
Since 2014-07-20
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/y3e322ea
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
พยาธิใบไม้เป็นพยาธิตัวแบนชนิดหนึ่งซึ่งอาจเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งตับในคนได้ มีผู้ป่วยจำนวนมากในประเทศไทยที่เป็นมะเร็งตับจากพยาธิใบไม้ ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านสุขภาพ แรงงาน เศรษฐกิจ

เราสามารถแบ่งกลุ่มพยาธิโดยอาศัยรูปร่างลักษณะได้เป็น 2 แบบใหญ่ ได้แก่ พยาธิตัวกลม (nematodes) และพยาธิตัวแบน ที่แบนเป็นเส้นยาว (cestodes) และแบนคล้ายใบไม้ (trematodes) ที่เรามักเรียกว่าพยาธิใบไม้ อัตราการก่อโรคจากพยาธิทั้งสามชนิดที่พบในเมืองไทยจะต่างกันไปตามภูมิภาค

องค์การอนามัยโลกได้รายงานเกี่ยวกับโรค foodborne trematodiases ซึ่งเป็นโรคพยาธิใบไม้ที่ได้รับมาจากอาหาร โดยกล่าวว่ามีประชากร 56 ล้านคนทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และอัฟริกาใต้ ที่ทนทุกข์ทรมานจากอาการของโรคนี้เนื่องจากตับอักเสบอันมีสาเหตุจากพยาธิใบไม้ ในอาหารที่รับประทาน

พยาธิใบไม้ที่พบมากในไทยชนิดหนึ่งคือพยาธิใบไม้ตับ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Opisthorchis viverrini (รูปที่ 1) โรคพยาธิใบไม้ตับ พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย แม้ว่าจะมียาแผนปัจจุบันในการรักษา แต่การป้องกันตัวเองจากการรับพยาธิเข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะพยาธิจากอาหารนั้นอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพราะการที่จะได้รับพยาธิใบไม้ที่สามารถก่อโรคได้นั้น สัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่เป็นพาหะต้องอยู่ในระยะที่เรียกว่า “ระยะติดต่อ” (infective stage) ในที่นี้ ตัวพยาธิจะอยู่ในระยะที่เรียกว่า metacercaria ที่พบในเนื้อปลาหลายชนิดในตระกูลปลาตะเพียน



การได้รับพยาธิ เมื่อคน/สัตว์ กินปลาดิบที่ไม่ได้ทำให้สุกด้วยความร้อน (การปรุงโดยใช้น้ำส้มหรือบีบมะนาวทำให้เนื้อปลาอยู่ในสภาพคล้ายสุก แต่ไม่สามารถทำลายระยะติดต่อได้ทั้งหมด) ระยะติดต่อจะเข้าสู่กระเพาะ ไปที่ถุงน้ำดี-ท่อน้ำดีได้ใน 5 ชั่วโมง ต่อมาจะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยที่ท่อน้ำดี หลังจากพยาธิสร้างไข่และขับออกมาพร้อมอุจจาระ เมื่อไข่พยาธิลงสู่แหล่งน้ำ ตัวอ่อนในไข่ (miracidium) จะเข้าสู่หอยน้ำจืด เจริญเป็นระยะ sporocyst --> radiae --> cercaria --> เข้าสู่ปลาจนได้ระยะติดต่อ metacercaria อีกครั้ง (รูปที่ 2)



อาการ ผู้ที่มีพยาธิใบไม้จำนวนน้อยอาจไม่พบอาการผิดปรกติใดๆ หรืออาจมีอาการท้องอืดเฟ้อบ้าง แต่เมื่อได้รับพยาธิเพิ่มและนานวันเข้าจะพบอาการร้อนท้อง เบื่ออาหาร ท้องมาน ตับโต กดเจ็บบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา เมื่อรุนแรงขึ้นจะมีอาการดีซ่าน มีไข้ต่ำ ตัวเหลืองตาเหลือง บางครั้งพยาธิไปขวางทางเดินท่อน้ำดีทำให้ท่ออุดตัน มีการอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อนมีไข้สูงได้

การตรวจวินิจฉัย จากการตรวจหาไข่ที่มีลักษณะจำเพาะจากอุจจาระผู้ป่วย หรือวิธีทางวิทยาภูมิคุ้มกัน

การรักษา การใช้ยา Praziquantel ที่ผลการรักษาหายสูงถึงร้อยละ 95 แต่ต้องไม่รับระยะติดต่อพยาธิอีก

พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในปี 2506 พบหลักฐานจากงานวิจัยถึงความสัมพันธ์ของพยาธิใบไม้ ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในผู้ป่วยไทย ทำให้เกิดการศึกษาอย่างกว้างขวางด้านปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น จำนวนพยาธิในตับ ความถี่ในการดื่มแอลกอฮอล์ ประวัติการกินยาขับพยาธิ จนถึงความแปรปรวนของลำดับเบสของเอนไซม์บางชนิดของผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้หน่วยงาน International Agency for Research on Cancer (IARC) ในหัวข้อ Monograph on the evaluation of carcinogenic risk to humans จัดให้การก่อมะเร็งของพยาธิใบไม้ตับ Opisthorchis viverrini และ Clonorchis sinensis (ที่พบมากในภูมิภาคอื่น) อยู่ในกลุ่ม 1 คือ ก่อมะเร็งได้ในคน (carcinogenic to humans) (Agents classified by the IARC Monographs, Vol.61,100B 2012) ในขณะที่การที่มีพยาธิ Opisthorchis felineus จัดอยู่ในกลุ่ม 3 (IARC Monographs, Vol.61, 1994) ปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดมะเร็งจากการมีพยาธิใบไม้ในร่างกาย โดยเฉพาะการมีพยาธิอยู่เป็นระยะเวลานานนั้น ได้แก่
  • การอักเสบเรื้อรังตามกระบวนการธรรมชาติ มีการหลั่งสารที่เรียกว่าไซโตไคน์ เป็นภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยที่ต้านต่อการก่อโรค
  • การสร้างอนุมูลอิสระปริมาณมาก ขณะเดียวกันก็มีผลในการทำลายดีเอ็นเอของเซลล์ผู้ป่วย จนเกินความสามารถในการซ่อมแซม ทำให้สารพันธุกรรมเกิดการผ่าเหล่ามีความผิดปรกติเกิดขึ้น
  • การดำรงชีพของพยาธิในตำแหน่งที่ไปเติบโตอยู่ มีการสร้างสารคัดหลั่ง การขยับเคลื่อนตัว ทำให้เกิดการระคายเคือง เซลล์เยื่อยุผิวท่อน้ำดีหลุดลอกช่วยกระตุ้นให้แบ่งตัว เยื่อบุจึงหนาขึ้น เกิดการคั่งของน้ำดีที่อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา


จากผลในสัตว์ทดลอง การได้พยาธิซ้ำๆ เกิดการสะสมการทำลายเซลล์ เมื่อการแบ่งเซลล์ใหม่เพิ่มมากขึ้น โอกาสเซลล์ผ่าเหล่าจึงมีมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่กินอาหารที่มีระยะติดต่อของพยาธินี้เป็นประจำ ทำให้สะสมความผิดปรกติระดับเซลล์อย่างต่อเนื่อง จึงเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้ ประมาณการณ์ว่าคนไทย 6 ล้านคนมีพยาธิใบไม้ตับ ทำให้คนไทยถูกระบุว่ามีอัตราของโรคมะเร็งท่อน้ำดีสูงสุดในโลก

เอกสารอ้างอิง

  1. Agents classified by the IARC Monographs, Vol61,100B 2012
  2. ธนพร หล่อปิยานนท์ โรคพยาธิใบไม้ตับ สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค 2551. ISSN 0857-6521, http://epid.moph.go.th
  3. นพ.โกศล รุ่งเรืองชัย บทความ จาก http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9520000139744
  4. พวงรัตน์ ยงวณิชย์ และสมชาย ปิ่นละออ กลไกการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีโดยอนุมูลอิสระจากการติดพยาธิใบไม้ตับ ศรีนครินทร์เวชสาร 20(3):150-154, 2548.
  5. รายงานเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ ปีที่ 35ฉบับที่ 2: 16 มกราคม2547
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.