Knowledge Article


ยารักษาโรคเบาหวาน ใช้อย่างไร


รองศาสตราจารย์ ดร. ภ.ญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
153,804 View,
Since 2010-11-08
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง  เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินสุลินได้ในปริมาณที่สูงพอที่จะจัดการเก็บน้ำตาลจากเลือดเข้าเซลล์เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับสู่ค่าปกติ ผู้ป่วยจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และใช้ยา เพียงเท่านี้ผู้ป่วยก็จะมีชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขเหมือนคนทั่วไป ในเรื่องการใช้ยา มียาอยู่ 2 ประเภทได้แก่ ยารับประทาน และยาฉีดอินสุลิน 

ยารับประทานรักษาโรคเบาหวานยังแบ่งออกได้อีก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาที่กระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้สร้างอินสุลิน กลุ่มยาที่ส่งเสริมการทำงานของอินสุลิน โดยลดการสร้างน้ำตาลจากตับและทำให้น้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้นและกลุ่มยาที่ขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ยาทั้ง3กลุ่มมีวิธีรับประทานต่างกันไป บางชนิดต้องรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง บางชนิดต้องรับประทานพร้อมอาหารและ บางชนิดต้องรับประทานหลังอาหาร อย่างไรก็ตาม ข้อที่สำคัญคือ การรับประทานยาจะต้องตรงเวลา และไม่ขาดยา  

 

กลุ่มยารักษาโรคเบาหวาน

วิธีใช้

กลุ่มยาที่กระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้สร้างอินสุลิน

 

  • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย  เช่น  กลิปีไซด์  กลิคาไซด์ ไกลเบนคลาไมด์เป็นต้น

รับประทานก่อนอาหาร 30 นาทีวันละ 1-2 ครั้ง

  • ยากลุ่มรีพาไกลไนด์ 

รับประทานก่อนอาหาร 30 นาที วันละ 2-4 ครั้ง

กลุ่มยาที่ส่งเสริมการทำงานของอินสุลิน

 

  • เม็ทฟอร์มิน

รับประทานหลังอาหาร 15-30นาที วันละ 2-3 ครั้ง

  • ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน เช่น โรสิกลิตาโซน   ไพโอกลิตาโซน

รับประทานหลังอาหาร 15-30นาที วันละ 1-2 ครั้ง

กลุ่มยาที่ขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด

 

  • เอคาร์โบส และ โวกลิโบส ยากลุ่มนี้จะลดระดับน้ำตาลได้เล็กน้อย  จึงใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่น

รับประทานพร้อมกับอาหารคำแรก วันละ 3 ครั้ง
 

นอกจากยารับประทานลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยาฉีดอินสุลินก็เป็นยาที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด ใช้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นขา หรือหน้าท้อง วันละ 1-4 ครั้งก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ควรหมุนเวียนเปลี่ยนที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังแทนการฉีดซ้ำที่เดิมแต่ยังคงอยู่ในบริเวณผิวหนังเดียวกัน เช่นฉีดบริเวณต้นขา ก็เปลี่ยนตำแหน่งแทงเข็มโดยให้ยังคงอยู่ที่บริเวณต้นขา

อินสุลินมีทั้งชนิดที่เป็นน้ำใสและน้ำขุ่น หากต้องใช้ทั้ง 2 ชนิด ผู้ป่วยต้องใช้กระบอกฉีดยาดูดอินสุลินชนิดน้ำใสก่อน แล้วจึงดูดยาอินสุลินชนิดน้ำขุ่น เข้ามาผสมในกระบอกฉีดยาเดียวกัน จากนั้นจึงนำไปฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ข้อสำคัญคือ อินสุลินที่ยังไม่เปิดใช้ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง เมื่อจะใช้จึงนำออกมาจากตู้เย็น และนำไปคลึงระหว่างฝ่ามือทั้งสองข้างเพื่อให้อินสุลินมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิกาย ก่อนนำไปฉีด ดังนั้นถ้าไปโรงพยาบาลและรับยาฉีดอินสุลิน จึงต้องแช่ในกระติกน้ำแข็งระหว่างเดินทางจากโรงพยาบาลกลับมาบ้าน เพราะยาฉีดอินสุลินหากโดนความร้อนจัดจะเสื่อมสภาพและใช้ไม่ได้อีกต่อไป สำหรับอินสุลินที่เปิดใช้แล้วสามารถวางไว้นอกตู้เย็นได้หากอุณหภูมิไม่สูงมาก แต่ต้องใช้ขวดนั้นให้หมดภายใน 30 วัน  

ด้วยเหตุที่ผู้ป่วยต้องฉีดอินสุลินทุกวัน จึงมีการพัฒนารูปแบบยาฉีดอินสุลินให้อยู่ในกระบอกฉีดยาสำเร็จรูปที่มีหน้าตาคล้ายปากกา หลอดยาบรรจุอินสุลินมีปริมาตร 3 ซีซี จะติดอยู่ในปากกา ผู้ป่วยเพียงเปลี่ยนเข็มฉีดยาใหม่ทุกครั้งก่อนฉีด และไม่จำเป็นต้องเก็บปากกาอินสุลินไว้ในตู้เย็นเนื่องจากปริมาณอินสุลินในปากกาไม่มาก สามารถใช้ได้หมดภายในเวลาประมาณ 7-10 วันหรือไม่เกิน 1 เดือน นอกจากนี้ยังสะดวกในการพกพาติดตัวอีกด้วย อย่างไรก็ตามต้องไม่ทิ้งปากกาอินสุลินไว้ในรถที่จอดกลางแดด เพราะจะทำให้อินสุลินเสื่อมสภาพได้

Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.