Knowledge Article


เมอร์ส (MERS-CoV) : ไวรัสมรณะ


อาจารย์ ดร. ภญ. ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
93,075 View,
Since 2015-06-16
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/24ng3zco
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


MERS-CoV หรือ Middle East Respiratory Syndrome-Corona Virus เป็นเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจในกลุ่มเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งเชื้อ MERS-CoV เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่เนื่องจากมีความแตกต่างจากเชื้อโคโรนาไวรัสที่เคยติดเชื้อในคน ผู้ป่วยรายแรกที่พบการติดเชื้อ MERS-CoV พบในปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ดังนั้นในบางครั้งอาจพบการเรียกชื่อเชื้อชนิดนี้ว่า “เชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ปี 2012” ภายหลังจากการระบาดในช่วงปี พ.ศ. 2557 ซึ่งส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยในประเทศแถบคาบสมุทรอาหรับหรือเดินทางจากประเทศในแถบนั้น และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมในปี พ.ศ. 2558 ได้พบมีการระบาดในประเทศเกาหลีใต้ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบผู้ป่วยในพื้นที่ระบาด ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2558 ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ที่ยืนยันแล้ว 166 ราย ประเทศจีน 1 รายและเสียชีวิตแล้ว 24 ราย การระบาดยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ที่ใกล้ชิด และยังไม่พบว่ามีการระบาดในชุมชน อย่างไรก็ตามวงการสาธารณสุขทั่วโลกยังคงเฝ้าระวังการติดต่อของเชื้อ MERS-CoV อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันในประเทศไทย (วันที่ 18 มิถุนายน 2558) พบผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อ MERS-CoV แล้ว 1 ราย เป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางมาในไทยเพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 และมีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถาบันบำราศนราดูร โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรักษาตัวในห้องแยกความดันลบเพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย ถึงแม้จะมีการพบเชื้อไวรัส MERS-CoV ในประเทศไทย แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อติดตามและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส MERS-CoV เช่น การติดตามและเฝ้าระวังอาการของญาติและผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย เป็นต้น

แหล่งที่มาของเชื้อ

ผู้ป่วยรายแรกที่พบการติดเชื้อ MERS-CoV พบในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 โดยยังไม่ทราบแหล่งที่มาของเชื้อไวรัสชนิดนี้แต่คาดการณ์ว่าติดต่อมาจากสัตว์เนื่องจากพบเชื้อ MERS-CoV ในอูฐในประเทศกาตาร์ โอมาน อียิปต์ และซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้แล้วยังตรวจพบว่าอูฐในประเทศอื่นอีกหลายประเทศมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ MERS-CoV ซึ่งหมายความว่าอูฐเหล่านั้นอาจเคยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้หรือสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงมาก่อน นอกจากนี้แล้วในประเทศซาอุดิอาระเบียยังตรวจพบเชื้อ MERS-CoV ในค้างคาวอีกด้วย



อาการแสดง

เชื้อ MERS-CoV ก่อให้เกิดอาการของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงเรียกว่า MERS ซึ่งประกอบด้วยอาการไอ มีไข้และหายใจลำบาก ในผู้ป่วยบางรายการติดเชื้ออาจไม่มีอาการแสดงใดๆ หรือบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยเหมือนป่วยเป็นโรคหวัดและจะหายได้เป็นปกติ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาการป่วยอาจมีอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมด้วยเช่น ท้องเสีย มวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของโรครุนแรงอาจเกิดภาวะปอดบวมหรือไตวายได้ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะมีอัตราเสี่ยงในการติดเชื้อ MERS-CoV ได้สูงกว่าคนทั่วไป และจะมีแนวโน้มที่จะมีอาการของโรครุนแรง สิ่งที่น่าเป็นกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ MERS-CoV คือผู้ป่วยประมาณร้อยละ 30 จะเสียชีวิต โดยผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีสภาวะอื่นร่วมอยู่ด้วย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรือมีโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ปอด หรือไต เป็นต้น

การติดต่อและระบาดวิทยา

เนื่องจากเชื้อ MERS-CoV เป็นเชื้อกลุ่มโคโรน่าไวรัสจึงเชื่อว่าการติดต่อเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยจากการไอ จาม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการแพร่กระจายของเชื้อยังไม่เป็นที่แน่ชัด4 การติดต่อของเชื้อ MERS-CoV นั้นพบในบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บุคคลในครอบครัว เป็นต้น แต่การติดต่อระหว่างบุคคลทั่วๆ ไปไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก ในปี พ.ศ. 2557 ผู้ป่วยทุกรายที่มีการติดเชื้อ MERS-CoV นั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ได้แก่ ผู้ป่วยจะมีประวัติอาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้หรือเดินทางกลับมาจากประเทศเหล่านี้ ในผู้ป่วยบางรายพบว่าไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเทศเหล่านี้โดยตรง แต่มีบุคคลใกล้ชิดเดินทางกลับมาจากประเทศในคาบสมุทรอาหรับ โดยประเทศในคาบสมุทรอาหรับที่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ MERS-CoV ประกอบด้วยประเทศซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน จอร์แดน คูเวต เยเมน อิหร่าน และเลบานอน ส่วนประเทศที่มีรายงานการพบผู้ป่วยนอกคาบสมุทรอาหรับ (มิถุนายน 2557) ได้แก่ประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ตูนีเซีย อิตาลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กรีซ อียิปต์ อัลจีเรีย และเนเธอแลนด์ ส่วนการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ในช่วงปี พ.ศ. 2558 นั้น จากการตรวจสอบลักษณะเบื้องต้นของสายพันธุ์จะมีความใกล้เคียงกับกลุ่มสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศซาอุดิอาระเบียมากที่สุด แต่ข้อมูลดังกล่าวยังต้องมีการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอีก5 ซึ่งการระบาดในประเทศเกาหลีใต้นั้น ประเทศเกาหลีใต้ได้นำเอาวิธีการควบคุมและเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส และยังไม่พบหลักฐานว่ามีการแพร่กระจายการระบาดในชุมชน ถึงแม้ในประเทศไทยจะมีการพบผู้ป่วย แต่ได้แยกตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในห้องที่ความดันเป็นลบ และได้ใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค การเฝ้าระวัง

จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่าเชื้อ MERS-CoV มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2 – 14 วัน ดังนั้นหากผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ไอ หอบ หายใจเร็ว และภายใน 14 วันก่อนหน้ามีประวัติเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรค มีการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงแต่ไม่สามารถหาเชื้อที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคได้ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อ MERS-CoV ทันที

การป้องกันและการรักษา

เนื่องจากเชื้อ MERS-CoV เป็นเชื้ออุบัติใหม่ ในปัจจุบันจึงยังไม่มียาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์เฉพาะกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ การรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการแสดงของผู้ป่วย แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอยู่ในระหว่างรอผลตรวจหาเชื้อ อาจแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัส Oseltamivir ในขนาดที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่เนื่องจากยังไม่ทราบผลการตรวจเชื้อ การใช้ยาต้านไวรัส Ribavirin นั้นยังมีผลการศึกษาค่อนข้างน้อยและอาจมีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง นอกจากนี้แล้วเชื้อ MERS-CoV ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติตนตามแนวทางการดูแลสุขอนามัยที่ดี เช่น การทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ การล้างมือบ่อยๆ การใช้ช้อนกลาง การใช้หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วย เป็นต้น หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค ควรดูแลสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจเช่น ไอ จาม เป็นต้น หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่เลี้ยงสัตว์ต่างๆ เช่น ฟาร์ม ตลาด เป็นต้น และหลังกลับจากเดินทางภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ ไอ หรือเจ็บคอ ควรเข้าพบแพทย์ทันที แต่อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังได้แก่ โรคเบาหวาน ภาวะไตวาย ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคในทางเดินหายใจเรื้อรังอื่นๆ รวมถึงผู้สูงอายุ จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรงไม่แนะนำให้เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค

เอกสารอ้างอิง
  1. World Health Organization. Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV). http://www.who.int/csr/disease/coronavirus_infections/en/ [accessed on 14 June 2015]
  2. Centers for Disease Control and Prevention. Middle East Respiratory Syndrome (MERS). http://www.cdc.gov/CORONAVIRUS/MERS/INDEX.HTML [accessed on 15 June 2015]
  3. คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ. แนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาและการป้องกันควบคุมการติดเชื้อผู้ป่วยMERS-CoV ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 วันที่ 19 พฤษภาคม 2557. http://www.dms.moph.go.th/dmsweb/cpgcorner/cpg_01_2662557_update.pdf
  4. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Transmission in Middle East Respiratory Syndrome. http://www.cdc.gov/coronavirus/mers/about/transmission.html [accessed on 18 June 2014]
  5. World Health Organization. Background on Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus (MERS?CoV) sequence. http://www.who.int/csr/disease/coronavirus_infections/background/en/ [accessed on 14 June 2014]
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.