Knowledge Article


ข้าวมันไก่กับอหิวาต์เทียม


อาจารย์ ดร. กฤษณ์ ถิรพันธ์ุเมธี
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
15,638 View,
Since 2015-01-16
Last active: 1 days ago
https://tinyurl.com/2awk969e
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ในช่วงนี้ข่าวที่เป็นข่าวใหญ่เรื่องหนึ่งนอกจากเรื่องของช้างป่าที่ออกมาเดินเล่นแล้ว คงจะเป็นข่าวเรื่องนักเรียนในโรงเรียนแถบภาคเหนือและอีสานป่วยด้วยอาการอาหารเป็นพิษจากการรับประทานข้าวมันไก่ จากการตรวจสอบพบเชื้ออหิวาต์เทียมในอุจจาระ เนื่องจากการบริโภคข้าวมันไก่ใส่เลือดไก่ที่มีการปนเปื้อนแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Vibrio parahaemolyticus เชื้อนี้เป็นแบคทีเรียรูปแท่ง แกรมลบ ไม่สร้างสปอร์จัดอยู่ในตระกูล Vibrionaceae ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับเชื้อ Vibrio cholerae ที่ก่อโรคอหิวาตกโรค จึงเรียกว่า โรคอหิวาต์เทียม เชื้อนี้พบได้ทั่วไปในน้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมถึงสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ เช่น หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินอาหารของมนุษย์ การติดเชื้อส่วนมากเกิดจากการรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่ได้ปรุงสุก มีส่วนน้อยที่ได้รับเชื้อนี้เข้าทางบาดแผลเมื่อลงเล่นน้ำทะเลซึ่งกรณีนี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง เมื่อคนรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อนี้เข้าไปจะทำให้เกิดท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้หนาวสั่น มักพบอาการปวดบริเวณลำตัวร่วมด้วย โดยทั่วไปจะแสดงอาการภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อ โดยปกติอาการต่างๆ จะหายได้เองภายใน 3 วัน อาการป่วยรุนแรงไม่ค่อยพบในคนปกติแต่สามารถพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน มีรายงานผู้ที่เกิดโรคจากเชื้อนี้ปีละประมาณ 4,500 รายในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เชื่อว่าตัวเลขนี้ต่ำกว่าอุบัติการจริงเนื่องจากความซับซ้อนในการตรวจวินิจฉัยและอาการของโรคคล้ายคลึงกับโรคทางทางเดินอาหารอื่นๆ

อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าผู้ที่ติดเชื้อชนิดนี้อาการจะหายได้เองภายใน 3 วัน การรักษาด้วยยาต้านจุลชีพอาจไม่จำเป็น เนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันว่ายาต้านจุลชีพลดความรุนแรงของโรคหรือระยะเวลาของโรคที่เกิดได้ ผู้ป่วยควรได้รับสารน้ำทดแทนที่สูญเสียไปเนื่องจากท้องเสียหรืออาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงสามารถใช้ยาต้านจุลชีพ เช่น tetracycline หรือ ciprofloxacin ได้ อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ส่วนการติดเชื้อทางบาดแผลก็สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงลงเล่นน้ำทะเลจนกว่าแผลจะหาย

จะเห็นได้ว่าปกติเชื้อ V. parahaemolyticus จะพบในอาหารทะเลเท่านั้น ในกรณีของการตรวจพบเชื้อชนิดนี้ในเลือดไก่ที่นำมาใส่ในข้าวมันไก่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ในเลือดไก่ไม่ใช่อาหารทะเล ซึ่งยังไม่ทราบว่าเชื้อนี้มาปนเปื้อนในเลือดไก่ได้อย่างไร อย่างไรก็ตามผู้บริโภคสามารถรับประทานข้าวมันไก่ได้ตามปกติ และควรเลือกร้านที่นำเลือดไก่ไปต้มสุกก่อนที่มาปรุงเพื่อจำหน่าย โดยสังเกตลักษณะเลือด หากยังคงมีสีแดงและหยุ่นนุ่มตรงกลางควรหลีกเลี่ยงการบริโภค หรือผู้บริโภคที่ซื้อเลือดไก่มาจากตลาดควรนำมาต้มให้สุกอีกรอบก่อนรับประทาน เนื่องจากเชื้อนี้เป็นเชื้อที่ไม่ทนความร้อน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ต้มที่อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 75 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 นาที ก็สามารถทำลายเชื้อ V. parahaemolyticus ได้แล้ว



เอกสารอ้างอิง

  1. Baffone W, Casaroli A, Campana R, Citterio B, Vittoria E, Pierfelici L, Donelli G (2005). "In vivo studies on the pathophysiological mechanism of Vibrio parahaemolyticus TDH(+)-induced secretion". Microb Pathog 38 (2–3): 133–7.
  2. http://www.cdc.gov/vibrio/vibriop.html. January 15, 2015.
  3. http://www.riskcomthai.org/th/news/mass-media-detail.php?id=29520. January 15, 2015

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.