Knowledge Article


น้ำมันหอมระเหย...ชีวิตนี้ขาดเธอไม่ได้


รองศาสตราจารย์ ดร. อ้อมบุญ วัลลิสุต
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
38,288 View,
Since 2014-06-01
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/2a7a3tqf
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ตื่นเช้าขึ้นมาลุกขึ้นไปแปรงฟันได้ความสดชื่นเย็นซ่าจากยาสีฟัน ทำให้ไปทำงานได้อย่างตาสว่าง ความรู้สึกนี้มาจากอะไรนะ ลองดูที่หลอดจะเห็นส่วนประกอบเหล่านี้ เมนทอล น้ำมันเปปเปอร์มินท์ น้ำมันเสปียรมินท์ น้ำมันกานพลู น้ำมันคาโมไมล์ น้ำมันส้ม อื่นๆอีกมากมาย เสร็จแล้วก็ไปอาบน้ำ จะเลือกใช้สบู่ก้อนหรือสบู่เหลวดี ตอนที่ซื้ออย่างแรกคือดมกลิ่นก่อน ชอบหรือไม่ แล้วจึงดูราคาถ้าเว่อไปก็คงเลือกกลิ่นอื่นที่ชอบรองลงมา แต่ก็ไม่แน่เพราะบางคนมีความสุขที่ได้สูดดมกลิ่นนี้ เท่าไรก็จ่าย กลิ่นที่ใช้กันอาจเป็นกลิ่นสังเคราะห์ หรือจากน้ำมันหอมระเหยแท้ๆจากธรรมชาติ ซึ่งแบบหลังนี้จะมีราคาแพงกว่าและให้กลิ่นหอมอ่อนๆของดอกไม้หรือส่วนอื่นๆของต้นไม้ บางคนต้องสระผมตอนเช้าด้วย แน่นอนเราเลือกแชมพูที่กลิ่นเช่นกัน เพราะมันจะอยู่บนผมของเราตลอดวัน คงไม่มีใครอยากเข้าใกล้ถ้าผมเรามีกลิ่นควันบุหรี่จากการไปดริ๊งเมื่อคืนที่ผ่านมา หรือถ้าแต่งกลิ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก็คงไม่น่าชื่นชมนักสำหรับผู้ร่วมงานผู้ประกอบการจึงสรรหากลิ่นนานาชนิดซึ่งมักจะไม่ใช่กลิ่นเดี่ยวมาผสมเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ของตน จนบางชนิดเป็นกลิ่นเอกลักษณ์ เช่น สบู่ก้อนรีๆสีเขียวที่ผู้เขียนเคยใช้ตั้งแต่อนุบาลก็จำได้ติดจมูก คือได้กลิ่นก็รู้ รวมทั้งภาพในวัยนั้นสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นและความทรงจำ เมื่ออาบน้ำเสร็จที่จะขาดไม่ได้คือโรลออนที่มีกลิ่นเหมาะกับบุคคลิกและวัตถุประสงค์ ในอดีตใช้สารส้มกัน แต่ปัจจุบันมีวิวัฒนาการไปมากเป็นโรลออนสำหรับผู้หญิง ผู้ชาย นักกีฬา และหลากหลายอารมณ์ บางกลิ่นเตะจมูก เป็นที่ชื่นชอบมากถึงกับมีผู้หญิงวิ่งตามดังในโฆษณา เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกลิ่นที่มีต่อมนุษย์ นอกจากจะมีผลต่อความรู้สึกแล้ว กลิ่นธรรมชาติที่ได้จากพืชที่เรียกว่าน้ำมันหอมระเหย หรือ Essential Oil ยังมีสรรพคุณอื่นๆเมื่อใช้สูดดม หรือ ร่วมกับการนวด ที่รู้จักกันดีในนามสุคนธบำบัด หรือ อะโรมาเธอราพี : Aromatherapy ในทางวิทยาศาสตร์เมื่อเราสูดดมกลิ่นหอม โมเลกุลของกลิ่นหอมจะผ่านเข้าไปทางจมูกและกระตุ้นเซลล์ประสาทรับความรู้สึกด้านกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูก ทำให้เกิดกระแสประสาทวิ่งไปยังศูนย์รับรู้กลิ่นในสมองแล้วผ่านไปยังส่วนของสมองที่เรียกว่า limbic system ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมการเรียนรู้ ความจำ อารมณ์ ความหิว และอารมณ์ทางเพศ กลิ่นที่เข้ามากระตุ้น limbic system จะทำให้สมองปล่อยสารเอ็นดอร์ฟิน : endorphins, encephaline และ serotonin ออกมา endorphins ช่วยลดความเจ็บปวด encephaline ช่วยส่งเสริมให้มีอารมณ์ดีและ serotonin ช่วยทำให้สงบ เยือกเย็นและผ่อนคลาย กลิ่นยังส่งผลต่อสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งควบคุมสารเคมีและฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับต่อมเพศ สมองส่วน Frontal Lobe ควบคุมความตั้งใจ สมาธิ และความจำ รวมทั้ง reticular system ซึ่งช่วยผสมผสานการทำงานของร่างกายและจิตใจ

มีการศึกษาพบว่า กลิ่นโรสแมรีช่วยลดคลื่นสมองชนิดอัลฟาซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายเหมือนกับอาการที่เกิดจากการได้รับสิ่งกระตุ้น ขณะที่ลาเวนเดอร์ทำให้คลื่นอัลฟาในสมองเพิ่มขึ้นมีผลทำให้ร่างกายมีการผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น กลิ่นที่ให้ผลทำนองเดียวกันกับลาเวนเดอร์คือ มาจอแรม และกลิ่นดอกส้ม (Neroli) ทั้งสามกลิ่นนี้จึงใช้บำบัดอาการเครียด นอนไม่หลับ กังวล โกรธ รำคาญ และความดันโลหิตสูง กลิ่นหอมเหล่านี้ทำให้ร่างกายผลิตเซโรโทนินจึงช่วยให้สงบเยือกเย็นและผ่อนคลาย เด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรงหรือต่อต้านสังคมจะมีการผลิตสารเซโรโทนินน้อย

กลิ่นที่ทำให้สุขใจ เช่น กลิ่นกุหลาบและ คลารี เสช เป็นต้น จะไปกระตุ้นทาลามัสและการผลิต encephalin จึงช่วยผ่อนคลายอารมณ์ที่ตึงเครียด สำหรับกลิ่นเปปเปอร์มินท์ และโรสแมรี จะกระตุ้นการผลิตอดรินาลินซึ่งทำให้มีพลังงานมากขึ้น และลดการเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ

มีการทดลองให้ผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาได้รับกลิ่นเปปเปอร์มินท์ และ ลิลลี ออฟ เดอะ วัลเลย์ พบว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีข้อผิดพลาดลดลง 25% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับกลิ่นทั้งสองชนิดนี้ กลิ่นมะนาวก็ทำให้ประสิทธิภาพของผู้ที่ทำงานภายในสำนักงานเพิ่มมากขึ้นด้วย

กลิ่นเจอราเนียม ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ช่วยให้จิตใจเป็นปกติ จึงใช้ในสตรีวัยทองที่มีอารมณ์ปรวนแปรและหดหู่

อย่างไรก็ดีการตอบสนองต่อกลิ่นของแต่ละบุคคลยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับ เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์มีผลทำให้คนส่วนมากมีอารมณ์เยือกเย็น ผ่อนคลาย แต่สำหรับบางคนที่มีความทรงจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับกลิ่นลาเวนเดอร์ ก็อาจจะไม่ได้รับผลเช่นคนอื่นๆ มนุษย์แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีความพึงพอใจต่อกลิ่นต่างกัน มีความเฉพาะตัว

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.