Knowledge Article


ยาล้างไต กับความเข้าใจผิดๆ


เภสัชกร สุรศักดิ์ วิชัยโย
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
200,747 View,
Since 2014-04-26
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/ygfusyjf
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
บ่อยครั้งที่มีผู้ป่วยมาขอซื้อยาล้างไตที่ร้านยาด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น บางรายมีอาการปวดบริเวณเอวด้านหลังและกลัวว่าจะเป็นโรคไต จึงอยากได้ยาล้างไตเพื่อล้างทำความสะอาดและขับสารพิษออกจากไต หรือบางรายมีอาการปัสสาวะแสบขัดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน จึงอยากได้ยาล้างไตโดยเข้าใจว่าจะสามารถล้างภายในอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะให้สะอาดได้ อย่างไรก็ตาม “ยาล้างไต” ที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากนั้น จริงๆแล้วเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับ “ขับปัสสาวะและบรรเทาอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ” เนื่องจากในตำรับยาประกอบด้วยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และขับปัสสาวะ ดังแสดงในตาราง นอกจากนี้ ยังมีการเติมสีเข้าไป เช่น เมทิลีนบลู (methylene blue หรือ methylthioninium chloride) ซึ่งเป็นสารสีน้ำเงิน เมื่อรับประทานยา ปัสสาวะจะมีสีน้ำเงินหรือเขียว ขึ้นกับสีพื้นเดิมของปัสสาวะว่าใสหรือเหลือง จึงอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเข้าใจว่ายาไปขับสารพิษหรือสิ่งสกปรกภายในไตและทางเดินปัสสาวะออกมา



จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ายาสูตรผสมนี้ไม่มีสรรพคุณช่วยล้างไตแต่อย่างใด จึงไม่ควรเรียกว่า “ยาล้างไต” นอกจากนี้ หากใช้ยานี้อย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้
  1. ไม่ได้ผลในการรักษาโรค เช่น หากอาการปวดเอว หรืออาการปัสสาวะขัดนั้นมีสาเหตุจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ยานี้คงไม่สามารถรักษาให้หายได้
  2. ได้รับผลเสียจากยา เช่น สารเมทิลีนบลู ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ไตบกพร่องรุนแรง และไม่ควรใช้ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency) เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่าย อีกทั้ง สารดังกล่าวอาจตีกับยาบางชนิด เช่น หากใช้ร่วมกับยาต้านอาการซึมเศร้า อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยาต้านอาการซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสแพ้ส่วนประกอบอื่นๆในตำรับยาอีกด้วย


ดังนั้น เมื่อเจ็บป่วยและมีความประสงค์ที่จะใช้บริการร้านยา ผู้ป่วยควรแจ้งอาการเจ็บป่วยที่เป็น ให้เภสัชกรทราบ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการรักษาและการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม หรือควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการหรือโรคนั้นๆ



"ปัจจุบันยาที่มีส่วนผสมดังกล่าว ได้ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาแล้ว (ไม่มีขายในประเทศไทย) โดยมีรายละเอียดตามลิ้งค์ด้านล่าง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/054/44.PDF

เอกสารอ้างอิง

  1. ฐานข้อมูลทะเบียนตำรับยา สำนักยา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. Available from: http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug/DSerch.asp
  2. Head KA. Natural approaches to prevention and treatment of infections of the lower urinary tract. Altern Med Rev. 2008;13(3):227-244.
  3. Srinivasan K. Biological activities of pepper alkaloids. In: Natural products. Ramawat KG and Me´rillon JM, eds. New York: Springer-Verlag Berlin Heidelberg; 2013:1397-1437.
  4. Gemmill CL. The pharmacology of squill. Bull N Y Acad Med. 1974;50(6):747-750.
  5. Butler AR, Feelisch M. Therapeutic uses of inorganic nitrite and nitrate: from the past to the future. Circulation. 2008;117(16):2151-2159.
  6. Ginimuge PR, Jyothi SD. Methylene blue: revisited. J Anaesthesiol Clin Pharmacol. 2010;26(4):517-520.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.