Knowledge Article


เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากรา Exserohilum rostratum : ปรากฏการณ์ในปี 2555


รองศาสตราจารย์ แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
17,553 View,
Since 2013-10-30
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/2anr8oog
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
Exserohilum rostratum (E. rostratum) เป็นราชนิดเส้นใย (filamentous fungi) ในกลุ่มที่เรียกว่า dematiaceous fungi เนื่องจากสร้างเม็ดสีได้ ทำให้เห็นรากลุ่มนี้มีสีเข้ม เช่น น้ำตาล ดำ เขียวออกดำ เป็นต้น พบได้ในธรรมชาติทั่วโลก เช่นจากดิน หญ้า พืชต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งที่มีการเพาะปลูกและมีการก่อโรคเกิดขึ้น เช่น การเกิดโคนเน่าของข้าวสาลีและพืชตระกูลหญ้า โรคขอบใบแห้ง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงสามารถตรวจพบรา exserohilum และพวกพ้องที่มีสีเข้มดังกล่าวปนเปื้อนในเศษซากพืช วัสดุสิ่งของ และบรรยากาศทั่วไป เมื่อนำมาเพาะเลี้ยง โคโลนีจะเจริญบนจานอาหารเลี้ยงเชื้อ เห็นเป็นปุย มีสีเทาเข้ม หรือออกน้ำตาล-ดำ ข้างใต้โคโลนีมีสีเขียว-ดำ เมื่อนำมาดูโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ พบเส้นใยที่มีช่องกั้น สร้างสปอร์ที่เรียกโคนิเดีย (conidia) ลักษณะยาวเป็นแท่ง แบ่งเป็นช่อง 1- 12 ช่อง โครงสร้างดังกล่าวนี้ สามารถขยายพันธุ์ได้ต่อไปในธรรมชาติ เมื่อปลิวตกอยู่ในที่ที่มีอาหารและสภาวะที่เหมาะสม

แม้ว่า E. rostratum เป็นเชื้อราที่ก่อโรคในพืชบางชนิด แต่วิทยาการการตรวจเชื้อก้าวหน้าไปมาก ทำให้พบว่า E. rostratum สามารถก่อโรคได้ในคนโดยเฉพาะกับคนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคเรื้อรังอื่นอยู่ก่อน เช่น โลหิตจาง หรือมีสาเหตุเหนี่ยวนำ เช่น มีบาดแผล รอยขีดข่วน หรือการใช้ยาต้านจุลชีพเป็นระยะเวลานาน โดย E. rostratum ทำให้เกิดไซนัสอักเสบที่อาจลามไปถึงระบบประสาทส่วนกลาง กระจกตาอักเสบ การติดเชื้อที่กระดูก โรคราที่ผิวหนัง/ใต้ผิวหนังและที่ลึกลงไปอีก คือ chromoblastmy cosis, mycetoma และ phaeohyphomycosis

ในปี 2555 พบการปนเปื้อนของเชื้อนี้ในผลิตภัณฑ์สเตียรอยด์ที่ฉีดให้ผู้ป่วย โดย Centers for Disease Control ที่เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ร่วมกับองค์การอาหารและยา FDA (Food and Drug Administration) ของสหรัฐอเมริกา ตรวจสอบการระบาดของปรากฏการณ์เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากราที่ปนเปื้อนในยาฉีดสเตียรอยด์ พบผู้ป่วยทั้งหมด 47 คน ที่ได้รับยา มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และขณะนั้นผู้ได้รับการฉีดบางรายเสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้จะต้องเข้าใจว่า การระบาดหรือปรากฏการณ์ที่เพิ่มจำนวนผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรวดเร็วครั้งนี้ มีสาเหตุจากการได้รับการฉีด methylprednisolone ที่ข้อต่อ เช่น หัวเข่า ไหล่ ข้อเท้า เป็นต้น โดยสเตียรอยด์นั้นมีราปนเปื้อนอยู่ ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไม่ใช่เป็นการระบาดจากการติดต่อ เมื่อนำน้ำหล่อสมองไขสันหลังจากผู้ป่วยมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทำให้พิสูจน์ได้ว่า สาเหตุเยื่อหุ้มสมองอักเสบของผู้ป่วย 45 จาก 47 ราย เกิดจากรา E. rostratum อีกสองรายมีราชนิดอื่น

เหตุการณ์การระบาดของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากรา (Multistate fungal meningitis outbreak) ที่เริ่มตั้งแต่พฤษภาคม 2555 ใน 20 รัฐของสหรัฐอเมริกา เมื่อตุลาคม 2555 ผู้ผลิตได้เรียกคืน methylprednisolone acetate (PF) จำนวน 3 รุ่นการผลิต ผลการตรวจโดย CDC และ FDA ในผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้เปิดใช้ พบว่าผลิตภัณฑ์สองในสามล็อต ของ New England Compounding Center ตรวจพบรา E. rostratum ที่เชื่อมโยงได้กับอาการป่วยจากการติดเชื้อราดังกล่าว ส่วนยาฉีดอีก 2 ล็อต ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ จากเหตุการณ์ทั้งหมด CDC และหน่วยงานทางสาธารณสุขคาดว่า จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีด methylprednisolone ประมาณ 14,000 ราย จะพัฒนาการเจ็บป่วยอย่างช้าๆ หลังฉีด 1-4 อาทิตย์ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยควรรีบแจ้งแพทย์โดยเร็ว ผู้ที่ได้รับการฉีดใกล้สันหลัง เมื่อมีอาการน่าสงสัยเช่น ไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน อาการไวต่อแสง และการเปลี่ยนแปลงด้านจิตภาวะ สำหรับการติดเชื้อที่มีอาการร่วมอื่น เช่น มีไข้ ปวดบวม แดง ร้อนที่ตำแหน่งการฉีด การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ที่ตา-เจ็บ บวม แดง มีขี้ตา หรือกรณีที่ติดเชื้อที่ทรวงอก ทำให้เจ็บหน้าอก มีของไหลจากตำแหน่งผ่าตัด เหล่านี้ ผู้ป่วยตัองปรึกษาแพทย์โดยด่วน

ข้อแนะนำด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่ภูมิต้านทานอ่อนแอ หรือมีโรคปอด เมื่ออยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อก่อโรคต่างๆ มีดังนี้
  • ใช้ผ้าปิดจมูก-ปาก (mask) เมื่อภาวะแวดล้อมเต็มไปด้วยฝุ่นละออง แถบที่มีการก่อสร้าง
  • เลี่ยงกิจกรรมที่ต้องสัมผัสดินหรือฝุ่นละออง เช่น การทำสวน พรวนดิน
  • พยายามปรับปรุงสภาวะอากาศที่แวดล้อม เช่น ใช้เครื่องกรองอากาศในห้อง
  • ในรายที่มีแพทย์ประจำตัว อาจมีการแนะนำยาที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อจากรา
  • เมื่อมีบาดแผล รอยขีดข่วน ให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมที่ต้องสัมผัสดินโดยตรง หรืออยู่ในสภาวะที่มีคนทำสวน กวาดพื้น พรวนดิน เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Adler et al. Exserohilum: an emerging human pathogen. Eur J Clin Microbiol Infect Dis 2006; 25:247-253.
  2. Ahmadpour A. et al. Exserohilum rostratum causing sugarcane leaf in Iran. Australian Plant Dis Notes. 2013. DOI 10.1007/s13314-013-0105-y
  3. CDC official website: Multistate fungal meningitis outbreak (สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2556)
  4. Kauffman CA; et al. Fungal infections associated with contaminated methylprednisolone injections. N Eng J Med 2013;368:2495-500.
  5. Lin SH; et al. Characterization of Exserohilum rostratum, a new causal agent of banana leaf spot disease in China. Australian Plant Patho; 2011; 40:246-259.
  6. Revankar SG, Sutton Da. Melanized Fungi in Human Diseases. Clin Microbiol Rev 2010; 23(4):884-928.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.