Knowledge Article


ทรามาดอล (Tramadol) เหยื่อของการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
654,444 View,
Since 2013-08-29
Last active: 21m ago
https://tinyurl.com/24y4pxdl
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ที่รายงานข่าวเด็กนักเรียนนำยาแก้ปวด ทรามาดอล (tramadol) ไปผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนหมดสตินั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดของผลเสียและการใช้ในทางที่ผิด ขอกล่าวถึงประโยชน์ของการใช้ทรามาดอล ในทางการแพทย์ก่อน

ทรามาดอลเป็นยาแก้ปวดที่ใช้บำบัดอาการปวดขั้นปานกลางถึงรุนแรง มีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากโรคต่างๆ ซึ่งใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ แล้วไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้เพียงพอ หรือใช้ร่วมกันเพื่อให้แก้ปวดได้ดียิ่งขึ้น โดยยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ 2 อย่างที่สำคัญคือ

  1. กระตุ้น µ (mu) receptors (มิวรีเซปเตอร์) ซึ่งเมื่อกระตุ้นแล้วจะมีฤทธิ์ลดความปวด รวมทั้งมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทและมีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข (euphoria) ได้ด้วย การออกฤทธิ์นี้เหมือนกับการออกฤทธิ์ของยามอร์ฟีน (morphine) แต่ทรามาดอล จะมีความแรงน้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า ทำให้ยานี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษเหมือนกับมอร์ฟีน (ตามกฎหมายนั้นยาทรามาดอลจัดเป็นยาอันตรายและสามารถจำหน่ายได้ในร้านยา) อย่างไรก็ตามแม้จะออกฤทธิ์แรงน้อยกว่ามอร์ฟีนถึง 10 เท่า แต่ทรามาดอล จะมีฤทธิ์แก้ปวดที่ดีเนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์ในข้อ 2 มาช่วยเสริมฤทธิ์แก้ปวดด้วย
  2. เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทที่ชื่อ serotonin และ norepinephrine ซึ่งสารสองตัวนี้เมื่อมีปริมาณเพิ่มขึ้นที่ไขสันหลังจะลดอาการปวดได้ การเพิ่มขึ้นของ serotonin จากการใช้ยาทรามาดอล เกินขนาด (เช่นครั้งละ 3-4 เม็ด) อาจส่งผลให้เกิดอาการที่เรียกว่า “serotonin syndrome” (มีอาการที่เกิดจาก serotonin มากเกิน) รวมทั้งอาจเกิดอาการในกลุ่มที่เรียกว่า extrapyramidal เช่น กลืนลำบาก มือสั่น มีไข้ กล้ามเนื้อเกร็งตัวอย่างมาก หรืออาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น สับสน ประสาทหลอนและหวาดระแวง ส่วนการเพิ่มขึ้นของ norepinephrine อาจทำให้ใจสั่น ปวดศีรษะ กระตุ้นระบบประสาทและทำให้ชักได้ อาการที่กล่าวมาข้างต้นจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรมของยีนส์ที่ใช้ในการทำลายยา tramadol การทำงานของไต ขนาดยาที่ใช้ และการใช้ร่วมกับยาหรือสารอื่นที่อาจเพิ่มหรือลดการออกฤทธิ์ของยา


ดังนั้นในกรณีที่นักเรียนนำทรามาดอลไปใช้ในทางที่ผิด นั่นคือใช้ยาโดยไม่ได้มีความจำเป็น รวมทั้งอาจใช้ครั้งละหลายๆ เม็ดต่อเนื่องกันหรืออาจเอาไปใช้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาท เช่น ทำให้รู้สึกสบายและเคลิ้มสุขได้เร็วและแรง แต่ถ้ามากไปก็จะกดระบบประสาทอย่างมากจนไม่รู้สึกตัวได้

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า หากใช้ยานี้ในขนาดที่ถูกต้องเพื่อลดอาการปวด ยาทรามาดอล ก็ยังเป็นยาที่มีประโยชน์มากในทางการแพทย์ แต่ถ้ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยไม่เข้าใจถึงอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก็สามารถทำให้ผู้ใช้ยาในทางที่ผิดเกิดอันตรายได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาในทางที่ผิดนั้นจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ในส่วนของเภสัชกรต้องเฝ้าระวังและไม่จำหน่ายยานี้ให้กับผู้ที่น่าสงสัยว่าจะนำไปใช้ในทางผิด เพื่อช่วยกันลดปัญหานี้ซึ่งส่งผลเสียที่รุนแรงต่อเยาวชนของชาติซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.