Knowledge Article


กลูตาไธโอน ตอนที่ 2 : ยาฉีด ยากิน และยาทา


รองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
286,656 View,
Since 2013-04-21
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ด้วยคุณประโยชน์มหัศจรรย์ของสารกลูตาไธโอน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำการสังเคราะห์สารกลูตาไธโอนเลียนแบบธรรมชาติที่ผลิตจากเซลล์ในร่างกายขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ดังนี้

ข้อบ่งใช้ในทางการแพทย์

สารนี้ ในบางประเทศได้รับการรับรองให้ขึ้นเป็นทะเบียนยา และบางประเทศใช้เป็นอาหารเสริม แต่ในประเทศไทย สารชนิดนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.

มีรายงานการนำสารกลูตาไธโอน มาใช้เป็นยารักษาโรคหลายกรณี เช่น เกี่ยวกับระบบเส้นประสาทบกพร่อง โรคพากินสัน โรคอัลไซเมอร์ หรือ โรคสมองเสื่อม โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมลูกหมาก ใช้รักษาภาวะการเป็นพิษจากโลหะหนัก พิษจากยาพาราเซ็ทตามอล

ข้อมูลการใช้สารกลูตาไธโอน ในการรักษาฝ้า และทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่งเหมือนมีแสงออร่า นั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยันทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้สารนี้ที่ใช้รักษาโรคอื่นแล้วผิวขาวขึ้นชั่วคราวเท่านั้น เมื่ออาการข้างเคียงหายไป เม็ดสีที่ผิวหนังก็จะกลับเข้มขึ้นดังธรรมชาติเดิม

ประโยชน์การชะลอวัย เป็นยาอายุวัฒนะ

การที่กลูตาไธโอนในร่างกายลดปริมาณลงในวัยสูงอายุ ซึ่งสามารถเป็นเหตุผลที่ทำให้คนสูงอายุมีความต้านทานต่อโรคต่างๆน้อยลง ในทางตรงกันข้าม คนสูงอายุที่มีอายุยืนยาวและยังแข็งแรง มีสถิติพบว่าคนเหล่านั้นจะมีปริมาณกลูตาไธโอนในร่างกายสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณ กลูตาไธโอนในร่างกายกับสุขภาพนั่นเอง หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่ากลูตาไธโอนมีส่วนสำคัญในขบวนการชะลอวัยของร่างกาย นักกีฬาและคนที่สุขภาพดีออกกำลังกายเป็นประจำ จะพบว่ามีปริมาณ กลูตาไธโอนค่อนข้างสูงอย่างสม่ำเสมอ มีสถิติทางการแพทย์ที่พบว่าอาการป่วยด้วยโรคต่างๆเชื่อมโยงกับการที่ร่างกายขาดกลูตาไธโอน หรือ มีภาวะที่ร่างกายสังเคราะห์ กลูตาไธโอนได้ต่ำกว่าปกติที่ร่างกายควรได้รับ เช่น ภาวะโรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคปอด และในผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ที่มีกรรมพันธุ์เกี่ยวกับความบกพร่องของกลูตาไธโอนมักจะมีปัญหาโรคแทรกซ้อนทางระบบประสาท กลไกสำคัญของกลูตาไธโอนในการต้านหรือชะลอวัยน่าจะมาจากคุณสมบัตของการมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสสระชนิดเข้มข้นที่สังเคราะห์ได้จากทุกเซลล์ในร่างกายโดยธรรมชาตินั่นเอง การรักษาระดับกลูตาไธโอนในร่างกายจึงสำคัญต่อการขบวนการชะลอวัย

ยาฉีด และ อันตรายที่เกิดจาการฉีดกลูตาไธโอน

เนื่องจากตัวยากลูตาไธโอน มีความไม่คงตัวในกระแสเลือด สลายตัวได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้นผู้ที่หวังผลในการรักษา จะต้องให้แพทย์ฉีดบ่อยๆหรือถี่ๆ เช่น ในกรณีของการฉีดเข้าเส้นเลือดดำเพื่อหวังผลให้ผิวขาว โดยมากแพทย์มักจะฉีดร่วมกับวิตามินซี หากฉีดในความเข้มข้นสูง และฉีดอาทิตย์ละ 2 ครั้ง นอกจากจะเสียเงินมากแล้ว ที่สำคัญ การฉีดในความเข้มข้นสูง อาจทำให้ช็อค ความดันต่ำ เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง กล้ามเนื้อสั่น ประสาทหลอน หายใจติดขัด หลอดลมตีบ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และผู้ที่ได้รับยาฉีดนี้นานๆเป็นประจำ อาจทำให้เม็ดสีที่จอตาลดลง ทำให้รับแสงได้น้อยลง เสี่ยงต่อการมองเห็นได้ในอนาคต ทางวารสารการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา จึงจัดสารกลูตาไธโอนเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางสายตา

ยาเม็ดสำหรับกิน

เนื่องจากโมเลกุลของกลูตาไธโอนมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและทางเดินอาหาร นอกจากนี้โมเลกุลของกลูตาไธโอนยังถูกสลายตัวได้ง่ายในทางเดินอาหารอีกด้วย เราจึงไม่สามารถรับประทานกลูตาไธโอนโดยตรงเป็นอาหารเสริมได้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล หรือยาน้ำเชื่อม ดังนั้น หากผลิตภัณฑ์โฆษณาว่า เป็นยาเม็ดกลูตาไธโอน ของแท้ ผู้บริโภคไม่ควรเสียเงินซื้อมากิน เพราะไม่ได้ผลทำให้ผิวขาว หรือไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อร่างกาย

ปัจจุบันที่พบทั่วไปในท้องตลาดเป็นยาเม็ดที่ อย.อนุญาตให้ขายเป็นอาหารเสริมนั้น ที่จริงเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กลูตาไธโอน (Glutathione Precursors) คือ อมิโนแอซิด เอ็นอะซิทิลซิสเตอีน (N-acetyl-cysteine) ซึ่งโมเลกุลชนิดนี้ จะสามารถถูกดูดซึมเข้าทางเดินอาหารได้ง่ายและรวดเร็ว และจะไปรวมตัวกับโปรตีนอีก 2 ชนิด คือ อมิโนแอซิด ไกลซิน (Glycine) และ กลูตาเมท (Glutamate) ที่มีอยู่มากมายในกระแสเลือดจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การรวมตัวของอมิโนแอซิดทั้ง 3 ชนิด ก่อให้เกิดเป็นโมเลกุลกลูตาไธโอนในกระแสเลือด

อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ประสงค์จะกินอาหารเสริมชนิดนี้เป็นประจำ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนในกระแสเลือด เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอวัย และเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย หากรับประทานมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น มึนงง ปวดหัว ตาพล่ามัว และอาจมีสารตกค้าง ทำให้เป็นนิ่วที่ไต และกระเพาะปัสสวะอีกด้วย

ยาทาผิวหนัง

สารกลูตาไธโอน เมื่อนำมาผสมในผลิตภัณฑ์ประเภทครีม หรือเจล สำหรับทาผิวหนัง เพื่อหวังให้ผิวขาวนั้น จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เพราะโมเลกุลสารนี้ค่อนข้างใหญ่ ไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้

ข้อควรระวังในการใช้กลูตาไธโอนในหญิงตั้งครรภ์

แม้ว่ากลูตาไธโอนจะถูกสังเคราะห์และพบมากในเกือบทุกเซลล์ในร่างกายคนเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าสารกลูตาไธโอนจะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร สารจากธรรมชาติมากมายที่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงในหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเหล่านี้เป็นอาหารเสริมในระหว่างตั้งครรภ์จะปลอดภัยที่สุดนอกเสียจากว่าได้รับการแนะนำให้ใช้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์เป็นพิเศษ

ข้อควรระวังในการใช้กลูตาไธโอนในเด็กเล็กและทารก

การใช้กลูตาไธโอนและสารตั้งต้น เอ็นอะซิทิลซิสเตอีน (N-acetyl-cysteine) จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้รับรายงานการแนะนำให้ใช้ในเด็กเล็กและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Lomaestro B, Malone M. Glutathione in health and disease. Pharmacotherapeutic Issues. Ann Pharmacother 29: 1263-73, 1995.
  2. The importance of glutathione in human disease. Biomed Pharmacother. 2003 May-Jun; 57(3-4):145-55
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.