Knowledge Article


การละลายและการแตกตัวของยาเม็ด เหมือนหรือต่างกัน


อาจารย์ ดร.ภญ. วารี ลิมป์วิกรานต์
ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
64,225 View,
Since 2013-04-14
Last active: 1 days ago
https://tinyurl.com/26w9roq8
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
“การละลาย กับ การแตกตัวของยาเม็ดเหมือนกันหรือไม่ครับอาจารย์”

“ไม่เหมือนกันคะ การละลายก็คือละลาย กับ การแตกตัวก็คือการแตกตัว คนละเรื่องกันคะ” ดูจะตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อยในตอนแรก แต่เมื่ออธิบายต่อไปนักศึกษาก็เข้าใจในที่สุด

คำว่า “ละลาย” คือการที่ของแข็งละลายในตัวทำละลายเช่น น้ำ จนได้สารละลายใส

คำว่า “แตกตัว” นั่นหมายถึงการที่เม็ดยาแตกออก ไม่คงเป็นเม็ด

เมื่อรับประทานยาเข้าไป ยาเม็ดจะเกิดการแตกตัว ซึ่งการแตกตัวของยาเม็ดจะเร็วหรือช้าขึ้นกับคุณสมบัติและปริมาณตัวยาต่างๆ เช่น สารช่วยแตกตัว สารช่วยยึดเกาะที่ใช้ในตำรับ เมื่อยาเม็ดแตกตัวแล้วตัวยาสำคัญจะละลายและถูกดูดซึมได้ การดูดซึมเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของตัวยา จะเห็นได้ว่าทั้งการแตกตัวและการละลายนั้นมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ในเภสัชตำรับจึงได้กำหนดมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพของยาเม็ดไว้ทั้งเรื่องการแตกตัวและการละลาย ภายใต้หัวข้อการทดสอบเรื่องการแตกตัว (Disintegration) และ การละลาย (Dissolution) ซึ่งสรุปสั้นๆ ได้ดังต่อไปนี้

การทดสอบการแตกตัวจะใช้เครื่องมือดังรูปที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยอ่างน้ำควบคุมอุณหภูมิ, ภาชนะใส่ของเหลว, ชุดตะกร้าซึ่งเป็นหลอดแก้วใส 6 หลอดรูปทรงกระบอกปลายด้านบนเปิดและด้านล่างมีตะแกรงติดอยู่ และมอเตอร์เพื่อดึงชุดตะกร้าให้เคลื่อนที่ขึ้นลง ในการทดสอบจะใส่ของเหลว (โดยทั่วไปคือน้ำ) ลงในภาชนะใส่ของเหลว ควบคุมอุณหภูมิให้ได้ 37+2 องศาเซลเซียสโดยอ่างน้ำควบคุมอุณหภูมิ จากนั้นประกอบชุดตะกร้า เมื่อได้อุณหภูมิตามที่กำหนด ใส่ยาเม็ดลงในแต่ละหลอดๆ ละ 1 เม็ด เปิดมอเตอร์ จับเวลาตามที่เภสัชตำรับกำหนดและดูว่าเมื่อครบเวลา ยาเม็ดทั้ง 6 เม็ดแตกตัวหมดหรือไม่ ถ้าไม่มีเหลือบนตะแกรงเลย ถือว่ายานั้นผ่านการทดสอบตามมาตรฐานเภสัชตำรับ

ส่วนการทดสอบการละลายนั้น เครื่องมือมีหลายแบบขึ้นกับแต่ละตำรับยากำหนด โดยทั่วไปการทดสอบการละลายมักใช้เครื่องมือแบบที่ 2 (Apparatus 2 = Paddle apparatus) ดังรูปที่ 2 วิธีการทดสอบจะใช้ยาเม็ด 6 เม็ด (1 เม็ด/ภาชนะ) หย่อนลงในภาชนะที่บรรจุตัวกลางการละลายที่เตรียมไว้ อุณหภูมิ 37+0.5 องศาเซลเซียส ส่วนปริมาตร ชนิดของตัวกลางการละลาย และความเร็วรอบของใบพัดที่หมุนนั้นขึ้นกับข้อกำหนดของแต่ละตำรับ ทำการสุ่มตัวอย่างตามเวลาที่กำหนด แล้วคำนวณหาปริมาณตัวยาที่ละลายออกมาได้ ยาเม็ดจะผ่านการทดสอบการละลายได้เมื่อยาเม็ดนั้นๆ สามารถละลายยาออกมาได้ในปริมาณและเวลาที่กำหนด

จากการทดสอบทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ยาเม็ดที่จำหน่ายในท้องตลาดมีคุณภาพมาตรฐานตามเภสัชตำรับเรื่องการแตกตัวและการละลายแล้ว



เอกสารอ้างอิง

  1. The United States Pharmacopeial Convention. The United States Pharmacopeia 36th Revision – The National Formulary 31th Revision. Volume 1. Maryland: United Book Press, Inc., 2012.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.