Knowledge Article


ยารักษาสิว isotretinoin อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม


บทความโดย คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
788,798 View,
Since 2010-03-26
Last active: 19m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +

สิว(acne) จัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นทั้งชายและหญิง การเป็นสิวมีผลต่อคุณภาพชีวิตทั้ง  ด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม ทำให้สูญเสียความมั่นใจในตนเอง ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล ไม่สามารถเข้าสังคมได้ อีก ทั้งความเข้าใจของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับสิวมักจะเป็นเรื่องของความสวยงาม ทำให้หลายคนพยายามซื้อยามารักษาด้วยตนเอง ซึ่งแท้จริงแล้วการรักษาสิวจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผิวหนังอย่างเหมาะสม การใช้ยาโดยไม่จำเป็นหรือไม่  เหมาะสมกับอาการ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับอันตรายจากยาได้

ยาที่ใช้ในการรักษาสิวมีหลายชนิด หลายรูปแบบ แต่ที่พบว่ามีความนิยมใช้กันเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะใช้  อย่างผิดวิธี  คือ ยาในกลุ่มกรดวิตามินเอ ชนิดรับประทาน ที่มีชื่อสามัญทางยาว่า ไอโสเตรติโนอิน (isotretinoin) หรือ เรติโน อิก แอซิด (retinoic acid) และมีชื่อทางการค้า ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ Roaccutane® (โรแอคคิวเทน), Acnotin® (แอคโนทิน),    Sotret® (โสเตรส), Isotane® (ไอโสเทน) เป็นต้น ยาชนิดนี้แม้ว่จะมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวที่ดี แต่ผลข้างเคียงของยานั้น  นับว่ามีมากและรุนแรงโดยเฉพาะการใช้ยาอย่างผิดวิธี ทำให้ต้องมีการควบคุมการใช้ ดังนั้น isotretinoin ชนิดรับประทานจึงถูก   จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ก่อนจึงจะสามารถซื้อยาจากร้านขายยาได้

 

   Isotretinoin คืออะไร?

      Isotretinoin เป็นอนุพันธุ์ของกรดวิตามินเอ ที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาสิวที่มีอาการรุนแรง ที่ไม่สามารถควบคุมอาการ  ได้จากการรักษาอื่นๆ หรือสิวชนิดที่มีแผลเป็น กลไกการออกฤทธิ์ของ isotretinoin โดยรวม คือ ยาจะทำหน้าที่ยับยั้งสาเหตุของ การเกิดสิว เช่น กดการทำงานของต่อมไขมันทำให้ผลิตสารที่เป็นไขมัน (sebum) ลดลง ลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes (P. acnes)ลดการอักเสบของสิว และยับยั้งการสร้างคอมีโดน (comedone)

 

   การใช้ยา Isotretinoin อย่างถูกต้องเป็นอย่างไร?

      โดยทั่วไปการใช้ยา isotretinoin ในช่วง 1 เดือนแรกอาการของสิวมักจะแย่ลง และจะค่อยๆ ดีขึ้นภายหลัง ในระหว่างที่  ใช้ยา isotretinoin อยู่นั้น อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาสิวชนิดอื่น โดยเฉพาะชนิดทาภายนอก เนื่องจากการ  รับประทาน isotretinoin จะมีผลทำให้ผิวหนังแห้ง หลุดลอก และบางลง จนไม่สามารถทนต่อยารักษาสิวอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ควร   หลีกเลี่ยงการใช้ยา isotretinoin ร่วมกับยา tetracycline เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดความดันในสมองสูงขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ (idiopathic intracranial hypertension) ได้

      ขนาดยา isotretinoin เริ่มต้น คือ 0.5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน เป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นอาจเพิ่ม   ขนาดยาเป็น 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน ได้ โดยระยะเวลาของการรับประทานยาอาจอยู่ในช่วง 5-6 เดือน    (ขนาดยารวมทั้งหมดไม่ควรเกิน 120 – 150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกร้ม) และสามารถหยุดการหยุดรับประทานยาได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องค่อยๆ ปรับขนาดยาลง (tapering)

 

   ข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้ยา Isotretinoin

      - ยา isotretinoin มีผลทำให้เด็กทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้ และแม้ว่าเด็กทารกที่คลอดออกมาจะมีความปกติแต่ก็  มีความเสี่ยงสูงที่จะพบความบกพร่องทางสมองและเชาว์ปัญญาได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่ได้รับยา isotretinoin จะต้องคุมกำเนิดก่อน   รับประทานยาอย่างน้อย 3 เดือน และคุมกำเนิดตลอดระยะเวลาที่ใช้ยาตัวนี้ในการรักษา และต้อง

   หยุดยาล่วงหน้าอย่างน้อย3 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนจึงจะตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย

      - หญิงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานยา isotretinoin

      - ผู้รับประทานยา isotretinoin ต้องไม่บริจาคเลือดในระหว่างที่รับประทานยาและจนกระทั่งหลังจากหยุดรับประทานยา ไปแล้ว 1 เดือน

      -  การรับประทานยา isotretinoin อาจทำให้ผิวหนังแห้ง ลอก และไวต่อแสง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด    นอกจากนี้อาจมีอาการตาแห้ง ปาก-คอแห้ง ได้เช่นกัน

      - การรับประทานยา isotretinoin อาจทำให้เกิดความบกพร่องในการได้ยิน หรือเกิดเสียงหวีดในหู (tinnitus) ได้ ดังนั้น  หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน

      - หลีกเลี่ยงการรับประทานยา isotretinoin ร่วมกับวิตามิน A, สมุนไพรชื่อ St. John’s Wort และยา tetracycline

      - isotretinoin มีความเป็นพิษต่อตับ (hepatotoxicity) ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจค่าการทำงานของตับ (liver function test) อยู่เสมอ หากมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองควรหยุดยาและรีบมาพบแพทย์

      - การรับประทานยา isotretinoin  อาจทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง (hyperlipidemia) โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์    (triglyceride) ดังนั้นควรมีการตรวจระดับไขมันในเลือดอยู่เสมอในระหว่างที่รับประทานยา และหากไม่สามารถควบคุมระดับ   ไขมันที่สูงขึ้นได้ควรหยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์

      - การรับประทานยา isotretinoin อาจทำให้เกิด inflammatory bowel disease (IBD), ปวดกล้ามเนื้อ(arthralgia),    กล้ามเนื้อถูกทำลายอย่างรุนแรง (rhabdomyolysis) ได้เช่นกัน

      - การรับประทานยา isotretinoin ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 6 เดือน) อาจทำให้ความหนาแน่นกระดูก    (bone mineral density) ลดลง และอาจทำให้เกิดภาวะกระดูกนุ่ม รวมถึงภาวะกระดูกพรุนด้วย อีกทั้งจำเป็นจะต้องระมัดระวัง  เป็นอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้ยาในเด็ก

      - พบการรายงานเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิต เช่น ซึมเศร้า จิตเภท มีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว มีความคิดหรือมี   ความพยายามในการฆ่าตัวตาย(พบได้แต่น้อยมาก) จากการรับประทานยา isotretinoin ดังนั้นผู้รับประทานยาควรได้รับการ   ประเมินความผิดปกติทางด้านจิตใจก่อนการรับประทานยา และผู้รับประทานยาควรแจ้งแพทย์ทันทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทาง   อารมณ์หรือพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม

 

ข้อห้ามใช้และข้อควรระวังของยา isotretinoin มีเป็นจำนวนมาก และบางอย่างจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอ เช่น การทำงานของตับ หรือระดับไขมันในเลือด ดังนั้นการซื้อยาจากร้านขายยามาใช้เองโดยมิได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ รวมถึงการได้รับยาจากคลินิกเสริมความงามที่ไม่ได้มีการตรวจร่างกาย ซักประวัติ และสั่งจ่ายยาอย่างเหมาะสมโดยแพทย์ อาจทำให้ผู้ที่รับประทานยาได้รับอันตรายจากยาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

บรรณานุกรม

  1. Isotretinoin. In: DRUGDEX EVALUATION. [Online]. 2010 Feb 5. Available from: MICROMEDEX Healthcare Series. 2010. [cited 2010 Mar 24].
  2. Ofori AO. Oral isotretinoin therapy for acne vulgaris. In: UpToDate Online. [Online]. 2009 Jun 11. Available from: UpToDate, Inc. 2010. [cited 2010 Mar 24].
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.