Knowledge Article


คำแนะนำการเลือกใช้ครีมกันแดด


รศ. ดร. พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
34,185 View,
Since 2012-09-02
Last active: 2h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
บทนำ

หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าปีก่อนๆ อย่างชัดเจน อุณหภูมิขึ้นไปสูงสุดถึงกว่า 41° ซ แสงแดดจัดและจ้ามากตั้งแต่เช้าตรู่ อบอ้าวจนอึดอัด ผู้คนที่ต้องเดินทางบนท้องถนนต้องได้รับทั้งรังสีความร้อนและรังสีอุลตร้าไวโอเลตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก สภาวะโลกร้อนแผ่กระจายไปทั่วทุกมุกโลก ชั้นบรรยากาศของโลกถูกทำลายมากขึ้น ทำให้รังสีดวงอาทิตย์สามารถทะลุทะลวงพื้นโลกมากขึ้น อันตรายที่เกิดจากรังสีดวงอาทิตย์ก็ยิ่งน่ากลัว ความจำเป็นในการเลือกใช้ครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวหน้าและผิวกายนอกร่มผ้าจึงสำคัญต่อสุขภาพกายอย่างยิ่ง

ข้อมูลจากต่างประเทศพบว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการป้องกันอันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์มาก มีสถิติค่อนข้างสูงในการใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัยสูงถึงร้อยละ 50 ในสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 35 ในยุโรป ส่วนผู้ที่ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องกันมะเร็งผิวหนังสูงถึงร้อยละ 80สำหรับประชากรในสหรัฐอเมริกา และเฉลี่ยประมาณร้อยละ 50 สำหรับในยุโรป

ในปี 2555 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไปนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ออกข้อกำหนดสำหรับฉลากของครีมกันแดดที่จำหน่ายในท้องตลาด หากต้องการโฆษณาว่าสามารถป้องกันความเสี่ยงจากมะเร็งผิวหนังหรือป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัยต้องมีค่า SPF 15 หรือสูงกว่า และหากโฆษณาว่าสามารถกันน้ำได้ (water resistant) ต้องระบุให้ชัดเจนบนฉลากว่ากันน้ำได้ 40 หรือ 80 นาที ซึ่งหมายถึงความถี่ที่ผู้บริโภคต้องทาครีมกันแดดซ้ำทุกทุก 40 หรือ 80 นาทีเมื่อลงว่ายน้ำหรือสำหรับผู้ที่เหงื่อออกง่ายหรือสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายและมีเหงื่อออกมากซึ่งจำเป็นต้องทาครีมกันแดดซ้ำเป็นระยะ ส่วนนิตยาสารดังคือ Reader’s Digest แนะนำให้ผู้บริโภคทาครีมกันแดดเป็นประจำหรือให้บ่อยที่สุดเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์และแนะนำให้ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือสูงกว่า แนะนำให้ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่ปราศจากน้ำหอมและปราศจากการเติมแต่งสี พร้อมทั้งแนะนำให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารกรองรังสียูวีชนิดฟิสิคอล คือ ไทเทเนี่ยม ไดออกไซด์ซึ่งจะปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองต่อผิวหนัง

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะพบว่าแม้ในประเทศทางตะวันตก จะมีความเข้มของรังสีดวงอาทิตย์น้อยกว่าประเทศไทยมากๆ แต่ประชากรมีความระมัดระวังต่ออันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะโลกร้อนที่ทำให้ปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกสูงขึ้นทุกวัน

แสงแดดแม้จะมีคุณอนันต์ต่อสิ่งมีชีวิต และมนุษย์บนโลก แต่ก็แฝงอยู่ด้วยอันตราย เมื่อร่างกายถูกแสงแดดปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เรามีอาการวิงเวียน หน้ามืด เป็นลม หรือในเวลาที่สะสมรังสีนานกว่านั้น จะทำให้ผิวคล้ำ แดดเผา และบางราย อาจถึงกับผิวหนังอักเสบปวดแสบปวดร้อน หรือ เป็นโรคมะเร็งที่บริเวณผิวหนังได้ มนุษย์เรารับความรู้สึกและสัมผัสได้กับรังสีจากดวงอาทิตย์ เพียง 2 ชนิด คือ รังสีของแสงสว่าง ที่สามารถรับได้ทางตา จากการมองเห็น และรังสีความร้อน จากความรู้สึกสัมผัส จากทางร่างกาย เรารู้สึกร้อนมาก

เมื่อเราเดินอยู่ท่ามกลางแสงแดด และรู้สึกหนาว ในเวลากลางคืน ที่ไม่มีแสงอาทิตย์ ดวงตามนุษย์ มองเห็นแสงอาทิตย์เป็นสีขาว แต่นักวิทยาศาสตร์ใช้ปริซึม สามารถแยกรังสีแสงออกได้ถึงเจ็ดสี คือ สีของรุ้งกินน้ำ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ

รังสีที่ตาคนเรามองไม่เห็นคือรังสียูวี คือ ตัวย่อของคำว่า รังสีอัลตราไวโอเลต นักวิทยาศาสตร์ สามารถแยกออก เป็นสามกลุ่มตามพลังงาน ได้แก่ UV-A, UV-B และ UV-C โดยที่ UV-C มีพลังงานสูงสุด รังสีชนิดนี้ จะถูกชั้นบรรยากาศของโลกกั้นไว้ ส่วนรังสี UV-A และ UV-B จะตกกระทบถึงพื้นโลก รังสียูวีมีอันตรายต่อคนเรามาก ในทางการแพทย์พบว่า เมื่อร่างกายได้รับรังสียูวีในปริมาณมาก จะเป็นผลทำลายดีเอนเอของเซลผิวหนัง ทำลายเลนส์และม่านตาทำให้เกิดต้อกระจกในตา และอาจเป็นบ่อเกิดมะเร็งผิวหนัง รังสี UV-A สามารถทะลุทะลวงลงสู่ผิวหนังชั้นล่างได้ ทำลายเนื้อเยื่อและดีเอนเอของเซลผิวอันเป็นสาเหตุให้ผิวหนังเหี่ยวย่น ส่วน UV-B นั้นสามารถทะลุถึงชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ดังนั้นอาการผิวไหม้จากแดดเผาจึงเกิดจากผลของรังสียูวีบี

ข้อมูลที่รวบรวมมาให้นี้คงเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคไทยที่ต้องเล็งเห็นอันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจ้าโดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างเวลา 10 โมงเช้าถึง บ่าย 4 โมงเย็นซึ่งมีรังสียูวีมาก (สูงสุดช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมง) การหลบแดดใต้ต้นไม้ใหญ่ การถือร่มบังแดด การใส่เสื้อผ้าแขนยาวกางเกงขายาว การใส่แว่นกันแดดชนิดกรองรังสียูวี รวมถึงการเลือกใช้ครีมกันแดดเป็นประจำอย่างน้อยมีค่า SPF 15 หรือสูงกว่าและควรเลือกครีมกันแดดที่สามารถกรองรังสีทั้งชนิดยูวีเอและยูวีบีได้ด้วยจึงจะปลอดภัย
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.