หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คนที่เป็นโรคหัวใจหรือใจสั่น หากต้องเลือกยาแก้ปวดเกร็งช่องท้องแนะนำตัวไหนปลอดภัย เนื่องจากหลายๆตัว มีฤทธิ์ ต่อ QT prolong

ถามโดย ืnono เผยแพร่ตั้งแต่ 22/06/2023-10:04:40 -- 32,089 views
 

คำตอบ

ยาแก้ปวดเกร็งท้อง (antispasmodic agents) ที่มีฤทธิ์ anticholinergic เช่น atropine, dicyclomine, hyoscine อาจส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น [1] และ hyoscine เป็นยาที่ส่งผลต่อ QTc interval ได้ ในขณะที่ยา mebeverine ที่ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้โดยตรงอาจทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง [2] โดยเฉพาะกรณีใช้ยาทั้งหมดในขนาดสูงหรือมากกว่าขนาดที่แนะนำ ดังนั้นการใช้ยาบรรเทาอาการปวดเกร็งท้องจึงต้องระมัดระวังในผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น heart failure, myocardial infarction หรือ arrhythmia ที่ควบคุมโรคไม่ได้หรือมีความรุนแรงของโรคมาก นอกจากนี้โอกาสในการเกิดปัญหา QTc prolongation ยังต้องพิจารณาค่าหรือปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น baseline QT interval >500 msec., ระดับ potassium ในเลือดที่สูงหรือต่ำกว่าค่าปกติ ผู้สูงอายุ โรคหัวใจที่เป็นร่วม เช่น heart failure, myocardial infarction ยาขับปัสสาวะและยาที่ส่งผลต่อ QT interval อื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ด้วยในขณะนั้น [3] หากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงจำนวนมากจะส่งผลทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิด QTc prolongation ได้มากขึ้น ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ายาชนิดใดจะมีความปลอดภัย หากยังไม่ได้พิจารณาผลของยาต่อการทำงานของหัวใจร่วมกับปัจจัยเสี่ยงและสภาวะพื้นฐานของผู้ป่วย ซึ่งในบริบทของร้านยา หากสัมภาษณ์ประวัติเบื้องต้นแล้วพบว่าการใช้ยาบรรเทาอาการปวดเกร็งท้องอาจมีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ หรือมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจเบื้องต้น ควรแนะนำให้ผู้ป่วยพบแพทย์เพื่อประเมินเพิ่มเติมหรือใช้ยาในสถานที่ที่ติดตามอาการได้ใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย แต่หากประเมินแล้วว่าอาการของโรคหัวใจควบคุมได้ดีและไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่จะทำให้การทำงานของหัวใจแย่ลงหรือเกิด drug interaction กับยาบรรเทาอาการปวดเกร็งท้อง อาจพิจารณาแนะนำการใช้ยารูปแบบรับประทานที่มีโครงสร้างเป็น quaternary amine เช่น hyoscine N-butylbromide ซึ่งออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อทางเดินอาหารเป็นหลัก โดยให้ใช้ยาเท่าที่จำเป็นและไม่เกินขนาดที่แนะนำในเอกสารกำกับยา รวมถึงต้องให้คำแนะนำในการสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่นหวิว และข้อปฏิบัติหากเกิดอาการผิดปกติด้วยเสมอ

Reference:
1. Mayo Clinic. Anticholinergics And Antispasmodics (Oral Route, Parenteral Route, Rectal Route, Transdermal Route) [internet]. 2023 [cited 18 July 2023]. Available from: https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/anticholinergics-and-antispasmodics-oral-route-parenteral-route-rectal-route-transdermal-route/before-using/drg-20070312
2. Medsafe.govt.nz. COLOFAC® [internet]. 2022 [cited 18 July 2023]. Available from: https://www.medsafe.govt.nz/profs/datasheet/c/colofactab.pdf
3. Tisdale JE. Drug-induced QT interval prolongation and torsades de pointes: Role of the pharmacist in risk assessment, prevention and management. Can Pharm J (Ott). 2016;149(3):139-152.

Keywords:
ยาแก้ปวดเกร็งท้อง, โรคหัวใจ





ทางเดินอาหาร

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้