หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สวัสดีค่ะดิฉันรบกวนสอบถามเรื่องอายุของยาหลังเปิดใช้แล้ว ว่าสามารถใช้ได้ถึงเมื่อไร รายละเอียดตามนี้ค่ะ ลำดับ รายชื่อ 1 ไทลินอล 2 แก้ปวดประจำเดิอน 3 บ๊อกซิลิน 500 4 นอร์จีสิค 5 เซอโกทุสซิน 6 คลอเฟนิรามีนมาลีเอท 7 ไคเซ็นโต 8 ยาน้ำแก้ไอตราเสือดาว 9 เบลสิด ซัสเพนชั่น 10 กระต่ายบิน 11 ยาธาตุน้ำแดง 12 เคาร์เตอร์เพน 13 อ๊อฟตัล 14 เบต้าโทน - เอ็ม 15 ซิลเวอร์เดอร์ม ครีม 16 พลาสเตอร์ยา 17 น้ำเกลือ 18 คาลาไมน์ 19 ทิงเจอร์ไอโอดีน 20 ผ้าก๊อสแผ่น 21 ทรานสบอร์ 3 M 22 ยาหม่อง 23 แอนตาซิล 24 อิสต้า อ๊อฟ 25 แอมโมเนียหอม 26 เคนโน่ 27 สำลี

ถามโดย หวานจัย เผยแพร่ตั้งแต่ 13/08/2013-13:14:54 -- 25,002 views
 

คำตอบ

จากคำถามสามารถแบ่งประเภทของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามลักษณะการเก็บรักษา ได้ดังนี้ 1. เภสัชภัณฑ์ชนิดแข็ง ได้แก่ ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาเม็ดและแคปซูลส่วนที่ยังบรรจุอยู่ในแผงบรรจุยา สามารถใช้ได้จนถึงวันหมดอายุที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ หากระบุเพียงวันที่ผลิต โดยทั่วไปให้นับวันหมดอายุเป็น 5 ปีนับจากวันผลิต หากเป็นยาเม็ดและแคปซูลแบ่งบรรจุหรือไม่ได้บรรจุในบรรจุภัณฑ์เดิมโดยทั่วไปจะมีอายุ 1 ปี นับจากวันที่แบ่งบรรจุ หรือวันที่แกะออกจากบรรจุภัณฑ์เดิม หรือไม่เกิน 25% ของเวลาก่อนที่ยาจะถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ในฉลากบรรจุภัณฑ์ (ยึดวันที่ถึงก่อน) เช่น เปิดใช้ยาวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ฉลากระบุวันหมดอายุ 1 ธันวาคม 2556 จะสามารถใช้ยาได้ถึงวันที่ 1 กันยายน 2556 (25% ของ 4 เดือน) 2. เภสัชภัณฑ์ชนิดของเหลว ได้แก่ ยาน้ำ ยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนตะกอน ในกรณีของยาน้ำหลังจากเปิดใช้แล้วโดยทั่วไปนั้นไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน หรือ ไม่เกิน 25% ของเวลาก่อนที่ยาจะถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ (ยึดวันที่ถึงก่อน) 3. เภสัชภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอก ได้แก่ ครีม โลชั่น ทิงเจอร์ไอโอดีน แอมโมเนียหอม ยาหม่อง หลังจากเปิดใช้แล้วโดยทั่วไปสามารถใช้ได้ 6 เดือน หลังเปิดใช้หรือแบ่งบรรจุ 4. เภสัชภัณฑ์สำหรับใช้กับดวงตา ได้แก่ อ๊อฟตัล (Optal) หลังจากเปิดใช้แล้วสามารถใช้ได้ 1 เดือน 5. อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น พลาสเตอร์ยา ผ้าก๊อซแผ่น สำลี และ เทปกาว หากเก็บรักษาอย่างเหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงแสงแดด ความร้อน ความชื้น ปิดถุงให้สนิททุกครั้งหลังใช้ จะสามารถใช้ได้จนถึงวันหมดอายุที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ ข้อควรปฏิบัติในการเก็บรักษายา 1. เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด ความร้อน ความชื้น และพ้นมือเด็ก 2. แยกเก็บยารับประทาน และยาใช้ภายนอก เพื่อป้องกันการหยิบยาผิด 3. ภาชนะที่บรรจุยา หลังจากเปิดใช้ ควรปิดให้สนิททุกครั้ง 4. ยาน้ำเชื่อม (Syrup) ไม่ควรเก็บในตู้เย็น เพราะอาจทำให้น้ำตาลตกผลึกได้ 5. ยาที่ระบุว่าเก็บในตู้เย็น ให้เก็บในช่องธรรมดา อย่าเก็บในช่องแช่แข็ง 6. ไม่ควรใช้ยาที่มีลักษณะของสี กลิ่น รส เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ยาเม็ดมีสีหรือกลิ่นเปลี่ยนไป มีรอยด่างบนเม็ดยา ยาน้ำมีสีหรือกลิ่นเปลี่ยนไป ยาน้ำแขวนตะกอน มีตะกอนจับกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัว ยาครีมแห้งแข็ง จับตัวกันเป็นก้อน หรือแยกชั้น เป็นต้น Key words: การเก็บรักษายา, อายุของยา

Reference:
การเก็บรักษายา [Online: http://blog.eduzones.com/ch0mp00/22606] cited on August 21, 2013.
สมชัยยา สุริฉันท์. การเก็บรักษายากับความคงตัวของยาและเภสัชภัณฑ์. กลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์.

Keywords:
-





อื่นๆ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้