คำตอบ
ตลอดชีวิตร่างกายมีความจำเป็นต้องได้รับแคลเซี่ยมในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ การได้รับแคลเซี่ยมในวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูก รวมทั้งทำให้กระดูกมีมวลกระดูกสูงสุดอย่างที่ควรจะเป็น และเมื่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนในผู้หญิงหรือวัยสูงอายุทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แคลเซียมจะมีบทบาทในการป้องกันการเสียมวลกระดูก และช่วยลดการเกิดกระดูกพรุนและกระดูกหัก (1)
โดยทั่วไปปริมาณแคลเซี่ยมที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันจะได้มาจากอาหารที่รับประทาน ปริมาณแคล เซี่ยมที่ควรได้รับในแต่ละช่วงอายุก็มีความแตกต่างกัน ในปัจจุบันพบว่ามีคนจำนวนมากที่ได้รับปริมาณแคลเซี่ยมไม่เพียงพอ ดังนั้นแล้วการจะเริ่มรับประทานแคลเซี่ยมเสริมเมื่อไหร่ จึงขึ้นกับปริมาณแคลเซี่ยมที่จำเป็นต้องได้รับในช่วงวัยนั้นๆ และปริมาณแคลเซี่ยมที่ได้รับจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวันว่ามีความเพียงพอหรือไม่ หากพบว่าปริมาณแคลเซี่ยมที่ควรได้รับไม่เพียงพอเมื่อได้รับจากการรับประทานอาหาร ก็อาจจำเป็นต้องรับประทานแคลเซี่ยมเสริม โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดปริมาณแคลเซี่ยมที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวัน คือ วัยรุ่น 9-18 ปี และผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีปริมาณแคลเซี่ยมที่ต้องการในแต่ละวันเป็น 1,000 มิลลิกรัม ส่วนเด็ก 4-8 ปี, ผู้ใหญ่ 19-50 ปี, หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ปริมาณแคลเซี่ยมที่ต้องการต่อวันเป็น 800 มิลลิกรัม (1,2) ซึ่งนอกจากนี้ หากต้องการศึกษาปริมาณแคลเซี่ยมในอาหารแต่ละชนิดสามารถศึกษาได้จาก กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตาม link นี้
http://iec.anamai.moph.go.th/ebook/B0004/index.html (3) และสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแคลเซียมเสริมได้จากคำถามในข้อ 3839 ตาม link นี้
https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=3839 (4)
Key words: calcium supplement, calcium, แคลเซียม, แคลเซียมเสริม
Reference:
1. ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล. ตำรากระดูกพรุน 2. กรุงเทพ: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง; 2552.
2. กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กองโภชนาการ. แคลเซียมและสุขภาพ. นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2545. หน้า 16-23.
3. http://iec.anamai.moph.go.th/ebook/B0004/index.html
4. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=3839
Keywords:
-