หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำรับยาที่เป็นEfervescentมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างจาก Tabletsธรรมดาอย่างไร และEfervescentมีองค์ประกอบหลักอะไรบ้างคะ

ถามโดย Bewtiiz เผยแพร่ตั้งแต่ 15/05/2013-10:00:32 -- 26,209 views
 

คำตอบ

ยาเม็ดฟองฟู่ (effervescent) เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้แตกตัวและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทันทีที่สัมผัสน้ำ กลายเป็นสารละลาย ข้อดีของยาเม็ดฟองฟู่คือเหมาะกับตัวยาที่มีปัญหาในการผลิตในรูปแบบยาเม็ด (tablets) ได้แก่ 1. ยาที่ดูดซึมยากหรือยาที่มีฤทธิ์กัดกร่อนทางเดินอาหาร เมื่อยาเม็ดฟองฟู่แตกตัวอยู่ในรูปสารละลาย จะง่ายต่อการดูดซึม ช่วยให้ยาถูกดูดซึมได้ทันที ไม่ตกค้างในทางเดินอาหาร ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น แคลเซียมคาร์บอนเนต 2. ยาที่ไวต่อกรด-ด่าง ยาบางชนิดเช่น กรดอะมิโน หรือยาปฏิชีวนะ ถูกทำลายในภาวะที่เป็นกรด จึงถูกทำลายได้ง่ายในกระเพาะอาหารและไม่ถูกดูดซึม สารละลายยาเม็ดฟองฟู่จะช่วยปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง(pH) ในกระเพาะอาหารชั่วคราว จึงช่วยให้ยาถูกดูดซึมได้มากขึ้น 3. ยาที่ใช้ในขนาดสูง โดยทั่วไปยาเม็ดฟองฟู่สามารถบรรจุตัวยาได้ถึง 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่เหมาะแก่การผลิตในรูปแบบยาเม็ดธรรมดา 4. ยาที่ไวต่อแสง อากาศ และความชื้น โดยทั่วไปยาเม็ดฟองฟู่มีความชื้นได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 ดังนั้น จึงเป็นรูปแบบที่เหมาะกับยาที่สลายตัวได้ง่าย เช่น ไวตามินต่างๆ อย่างไรก็ตาม การผลิตยาเม็ดฟองฟู่มักมีความซับซ้อนและต้องมีการควบคุมคุณภาพมากกว่าการผลิตยาเม็ดธรรมดา โดยเฉพาะการควบคุมความชื้นในตำรับที่ต้องควบคุมทุกขั้นตอนการผลิต รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถป้องกันแสงและความชื้นได้ จึงทำให้ยาเม็ดฟองฟู่มักมีราคาสูงกว่ายาเม็ดทั่วไป นอกจากนั้นยาเม็ดฟองฟู่จำเป็นต้องมีการแต่งกลิ่นรส เนื่องจากเมื่อแตกตัวเป็นสารละลาย ผู้ใช้ยาจะสัมผัสกลิ่นรสของตัวยาโดยตรง หากตัวยามีรสชาติที่ไม่ดีจะส่งผลต่อการให้ความร่วมมือในการใช้ยาได้ สำหรับส่วนประกอบในยาเม็ดฟองฟู่ นอกจากสารต่างๆ ที่เหมือนกับยาเม็ดทั่วไปแล้ว ยังต้องมีส่วนประกอบสำคัญที่เกิดปฏิกิริยากันในน้ำ ได้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอีกด้วย ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

Reference:
Lee R.E. “Effervescent tablets, Key facts about a unique,effective dosage form” [Online: http://www.amerilabtech.com/wp-content/uploads/2012/01/EffervescentTabletsKeyFacts.pdf] cited on May 16, 2013.

Keywords:
-





อื่นๆ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้