หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ญาติเป็นมะเร็งลำไส้ ถ่ายไม่ออกเลยค่ะ หมอบอกว่าให้เปลี่ยนยี่ห้อยาระบายบ่อยๆ อยากถามว่ายาระบายควรทานยี่ห้อใด กี่เม็ดหรอคะ ตอนนี้ทาน senokot 4เม็ดต่อวัน

ถามโดย Choco เผยแพร่ตั้งแต่ 16/04/2013-21:44:47 -- 19,109 views
 

คำตอบ

ยาระบายที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มีด้วยกันหลากหลายยี่ห้อและรูปแบบ ซึ่งมีกลไกในการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยหลักแล้วจะออกฤทธิ์ที่ลำไส้ใหญ่ ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย โดยยาระบายแต่ละรูปแบบนั้นจะมีประสิทธิภาพและเวลาในการออกฤทธิ์ช้าเร็วแตกต่างกันไปตามกลไกของยา อีกทั้งยังขึ้นกับการตอบสนองของตัวผู้ใช้ยาเองด้วย ดังนั้นการเลือกใช้ยาระบายจึงขึ้นอยู่กับอาการท้องผูกที่เป็นในแต่ละราย หากเกิดอาการท้องผูกในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ซึ่งเป็นผลทำให้ลำไส้ทำงานน้อยกว่าปกติ ควรเลือกใช้ยาระบายชนิดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาระบายชนิดเหน็บทวารหนักซึ่งมักออกฤทธิ์หลังจากเหน็บยาทันที ยาเม็ดbisacodyl ยาเม็ด senokot หรือยาน้ำแขวนตะกอน milk of magnesia (MOM) ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าตัวไหนดีที่สุด เนื่องจากขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละรายดังที่กล่าวไปแล้ว สำหรับ Senokot นั้น เหมาะแก่การใช้เป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการท้องผูกเฉียบพลันเท่านั้น ในผู้ใหญ่รับประทานวันละ 2-5 เม็ด โดยแบ่งรับประทาน หรือรับประทานพร้อมกันก่อนนอน ขนาดรับประทานขึ้นกับบุคคล บางครั้งอาจจำเป็นต้องรับประทานมากกว่านี้ในผู้ป่วยบางราย แต่โดยทั่วไปไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 5 วัน เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ลำไส้ขี้เกียจ” กล่าวคือลำไส้จะทำงานน้อยลงหากไม่ได้รับประทานยา (การเกิดภาวะนี้ขึ้นกับความจำเป็นและสภาวะของร่างกายอีกเช่นกัน) ข้อมูลที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้นดังนั้นเพื่อการตัดสินใจเลือกใช้ยาระบายชนิดที่เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้นจึงควรปรึกษาเภสัชกรที่ประจำร้านขายยา เพื่อทำการซักประวัติเพิ่มเติม

Reference:
“Senokot” [Online: http://www.mimsonline.com/Thailand/drug/info/Senokot/?q=senokot&type=brief] cited on April 18, 2013.
Evaluating Drugs Used to Treat:ConstipationComparing Effectiveness, Safety, and Price. Consumer Reports Best Buy Drugs :Drugs to Treat Constipation. December 2008.

Keywords:
-





มะเร็ง ทางเดินอาหาร

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้