หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กลูโคซามีนซัลเฟต (glucosamine sulphate) ถ้าใช้ต่อเนื่องไปตลอดหลายปี จะมีผลเสียต่อร่างกายอย่างไร ต้องเว้นระยะเวลาเท่าไร่

ถามโดย Tacha เผยแพร่ตั้งแต่ 20/05/2011-00:34:19 -- 24,654 views
 

คำตอบ

สำหรับข้อจำกัดของการใช้ยา Glucosamine sulfate ในระยะยาว อาจเกิดได้จาก 2 ประเด็น ประเด็นแรกเป็นเรื่องของปริมาณเกลือโซเดียวและเกลือโพแทสเซียมที่เป็นส่วนผสมในยา glucosamine ซึ่งหากรับประทานยาติดต่อกันในระยะยาวอาจมีผลต่อผู้ป่วยบางกลุ่มได้ เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายที่ต้องจำกัดปริมาณเกลือโซเดียม อาจทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมได้ ส่วนประเด็นที่สอง คือ เรื่องของระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจาก glucosamine เป็นสารกลุ่ม aminomonosaccharide ซึ่งก็เป็นสารประกอบโปรตีนและน้ำตาล เคยมีรายงานถึงผลเสียของยานี้ต่อการเปลี่ยนสภาพของน้ำตาลกลูโคสในร่างกาย ทำให้ผลิตภัณฑ์ glucosamine ส่วนใหญ่ได้ระบุข้อความเพิ่มเติมว่า “ผู้ที่ใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะๆ เพราะยานี้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้” อย่างไรก็ดี สำหรับการศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กลับไม่พบว่าการใช้ยา glucosamine ต่อเนื่องนาน 3 ปี มีผลเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดหรือความไวของอินสุลิน และไม่พบว่าการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่อระดับน้ำตาลในเลือดจากการใช้ยา glucosamine sulfate แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก เกี่ยวกับระยะเวลาในการใช้ยา ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนว่าจะต้องหยุดใช้ยาเมื่อใด แต่จากข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้ glucosamine sulfate ติดต่อกันได้นาน 3 ปี สำหรับประเด็นเรื่องความปลอดภัยนั้น ผู้ป่วยควรต้องได้รับการตรวจระดับเกลือแร่ และระดับน้ำตาลในเลือดจากแพทย์เป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะถ้ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน

Reference:
1. MIMS annual 21st edition. 2009
2. Simon RR, Marks V, Leeds AR, et al. A comprehensive of oral glucosamine use and effects on glucose metabolism in normal and diabetic individuals. Diabetes Medtab Res Rev 2011; 27: 14-27.
3. Wandel S, Juni P, Tendal B, et al. Effects of glucosamine, chondroitin, or placebo in patients with osteoarthritis of hip or knee: network meta-analysis. BMJ 2010;341(c4675): 1-9

Keywords:
-





กล้ามเนื้อและข้อต่อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้