หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อยากทราบว่าทำไมดื่มน้ำมะพร้าวแล้วจึงปวดประจำเดือนคะ แล้วทำไมดื่มน้ำเต้าหู้แล้วถึงไม่ปวดประจำเดือน

ถามโดย mai เผยแพร่ตั้งแต่ 13/05/2011-23:59:11 -- 33,727 views
 

คำตอบ

ทั้งในน้ำมะพร้าว และ น้ำเต้าหู้ต่างก็มีส่วนประกอบหรือสารสำคัญที่มีลักษณะโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ การดื่มน้ำมะพร้าวหรือน้ำเต้าหู้มิได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาการปวดประจำเดือนในสตรีเหมือนกันทุกคน บางคนดื่มน้ำมะพร้าวหรือน้ำเต้าหู้ในช่วงมีประจำเดือนอาจมีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้นหรือน้อยลง หรือบางคนอาจมีประจำเดือนขาดหายหรือมาน้อยกว่าปกติหรือมามากกว่าปกติได้ค่ะ ในสภาวะปกติฮอร์โมน estrogen เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทในการช่วยการเจริญเติบโตของเยื่อบุผนังมดลูก estrogen จะสูงสุดในช่วงก่อนการตกไข่เล็กน้อย หลังจากนั้นจะลดฮวบลง แล้วกลับค่อยๆสูงขึ้นและค่อยๆลดลง ปริมาณ estrogen ที่ลดลงในช่วงท้ายของรอบเดือนมีผลทำให้ผนังมดลูกฝ่อและหลุดลอกเป็นประจำเดือน ซึ่งอาการปวดก่อนช่วงมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome) นั้นก็มีความสัมพันธ์กับการที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย สำหรับในน้ำมะพร้าวอ่อน เชื่อว่ามีสาร phytoestrogen (สารสำคัญในพืชที่มีส่วนประกอบคล้าย estrogen) มีการศึกษาในระดับสัตว์ทดลองพบว่าการป้อนน้ำมะพร้าวอ่อนให้กับหนูเมาส์ วันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วันพบว่ามีผลทำให้น้ำหนักของมดลูกของหนูเพิ่มขึ้น แต่ผลนี้ไม่แตกต่างจากหนูกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเซลล์เยื่อบุผิวชั้น endometrium ของผนังมดลูกอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า น้ำมะพร้าวอ่อนน่าจะมีฤทธิ์ agonist กับ estrogen อยู่ด้วย และอีกหนึ่งการศึกษาที่ทำในหนูที่ตัดรังไข่การศึกษานี้สรุปผลการศึกษาว่า สารคล้ายฮอร์โมน estrogen ในน้ำมะพร้าวอ่อนมีฤทธิ์ antagonist effect โดยแย่งจับกับ estrogen receptor จากการศึกษาทั้งสองนี้อาจจะแสดงให้เห็นว่าสารสำคัญในน้ำมะพร้าวอ่อนอาจมีฤทธิ์ต่อการเปลี่ยนแปลงของผนังมดลูกได้บ้างค่ะ สำหรับในน้ำเต้าหู้ ซึ่งทำมาจากถั่วเหลืองและมีสารสำคัญในถั่วเหลืองชื่อ Genistein เป็นสาร phytoestrogen เช่นกัน จากผลการวิจัยที่มีอยู่มากมาย บางการศึกษาก็พบว่ามีฤทธิ์เป็น anti-estrogen โดยตัว Genistein สามารถจับ (Block) กับ estrogen receptor ได้ดี ในขณะที่บางการศึกษาก็พบว่าสามารถออกฤทธ์ agonist effect ได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประมาณและความเข้มข้นของ Genistein ที่รับเข้าไป รวมถึงสภาวะและความเข้มข้นของระดับ estrogen ที่มีอยู่ในร่างกายด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะมีผลในด้านกระตุ้นให้เพิ่มระดับหรือลดระดับการแสดงฤทธิ์ของเอสโตรเจนในร่างกาย ก็อาจมีผลกระทบผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการหนาตัวของมดลูกได้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการบีบตัวของมดลูกได้ด้วยเช่นกันค่ะ จากข้อมูลของทั้งน้ำมะพร้าวและน้ำเต้าหู้ สรุปว่าทั้งสองอย่างอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย แต่ไม่สามารถสรุปผลได้ว่าจะมีฤทธิ์ในทางเพิ่มหรือลดการบีบตัวหรืออาการปวดประจำเดือนได้อย่างชัดเจนค่ะ

Reference:
-

Keywords:
-





กล้ามเนื้อและข้อต่อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้